จดหมาย ประจำวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2169

 

จดหมาย

 

• บทบาท “ผู้หญิง”

ดีลอยท์ โกลบอล ได้ร่วมมือกับ The 30% Club ซึ่งมีพันธกิจหลักในการผลักดันให้มีสัดส่วนของผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในที่นั่งบอร์ดบริหาร และดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด

รายงานการศึกษาข้อมูลล่าสุดจาก 72 ประเทศ เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการของผู้หญิง

พบสัดส่วนผู้หญิงดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2564

ทั่วโลกมีประธานกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่ 6.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเพียง 1.4% จากปี 2561 เท่านั้น

ตัวเลขนี้จะยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อดูในส่วนของตำแหน่ง CEO กล่าวคือ 5% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% จากปี 2561 เท่านั้น

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากศึกษาในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ภาพรวมแต่ละประเทศมีความคืบหน้าที่ดี

โดยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทโดยเฉลี่ยที่ 17.1% เทียบกับ 14.3% ในปี 2561

นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 11.7% และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 19.7%

ในแง่ของอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลง จากรายงานพบว่า ภูมิภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2.7% จากปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นที่ 2.8% ทั่วโลก

มาเลเซีย (3.4%) ฟิลิปปินส์ (3.8%) สิงคโปร์ (3.9%) และไทย (3.6%) ในขณะที่อินโดนีเซียลดลง 1.0%

แม้ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารที่ 6.0% แต่สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลายมากกว่านั้น

ที่เด่นชัดที่สุดคือ อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบที่ 2.4%

ส่วนมาเลเซียและไทยรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกที่ 2.6% และ 1.2% ตามลำดับ

หากเปรียบเทียบแล้ว เมื่อพิจารณาถึงบทบาท CEO ในกลุ่มผู้หญิง สิงคโปร์ (13.1%) และประเทศไทย (11.6%) จัดอยู่ในอันดับที่หนึ่งและสามตามลำดับในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจ

ผลการวิจัยนี้ตอกย้ำว่า แม้สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารผ่านคณะกรรมการบริษัททั่วภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 แต่การให้ความสำคัญ และการยอมรับให้ผู้หญิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในคณะกรรมการก็ยังคงแตกต่างกันเป็นอย่างมากตามภูมิภาคต่างๆ

การดำรงตำแหน่งกรรมการของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือลดลงในบางแห่ง โดยตัวเลขระยะเวลาการดำรงตำแหน่งโดยเฉลี่ยในสิงคโปร์ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ จาก 5.0 ปี ไปเป็น 4.4 ปี

เนื้อหาสำคัญโดยสรุป

– โดยเฉลี่ยทั่วโลกมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัทคิดเป็น 19.7% เพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2561 เทียบได้กับการเพิ่มขึ้น 1.9% ในช่วงปี 2559 ถึง 2561

– ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้หญิงดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทคิดเป็นเกือบ 17.1% นับว่าเพิ่มขึ้น 2.7% ตั้งแต่ปี 2561

– รายงานเผยให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องระหว่างผู้หญิงที่มีบทบาทในคณะกรรมการกับทีมผู้บริหาร โดยมีสัดส่วนอยู่เพียง 6.7% ทั่วโลก และ 5.3% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

– บริษัทที่มี CEO เป็นผู้หญิง จะส่งเสริมความสมดุลทางเพศในองค์กรได้ดีกว่าบริษัทที่มีผู้นำเป็นผู้ชาย กล่าวคือ 33.5% เทียบกับ 19.4% ตามลำดับ

– สิงคโปร์มีสัดส่วน CEO ที่เป็นผู้หญิงสูงสุดในโลก

ดีลอยท์

ประเทศไทย

 

8 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันสตรีสากล

รายงานการศึกษา ที่สรุปความมาให้อ่านนี้

แม้ชี้ว่า สตรีโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย

มีแนวโน้มมากขึ้นในการเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท และซีอีโอ

แต่ก็ยังถือว่าน้อย

เป้าหมายที่จะผลักดันให้ถึง 30% อย่างที่ The 30% Club รณรงค์ จึงท้าทาย

ซึ่งก็หวังว่า “สตรี” จะแสดงศักยกภาพ

และได้รับบทบาทสำคัญในบริษัทต่างๆ ยิ่งขึ้น

 

• วัคซีนจีน

7 มีนาคม 2565

CoronaVac (โคโรนาแวค) ของซิโนแวค ไบโอเทค ได้รับการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีจากองค์การควบคุมยา (DCA) ของมาเลเซีย DCA ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติวัคซีน CoronaVac สำหรับวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 17 ปี

ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีน CoronaVac สำหรับเด็ก

นอกประเทศจีน ชิลี บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไทย ตุรกี และฮ่องกง ก็ได้อนุมัติการใช้วัคซีน CoronaVac ให้กับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป

จากข้อมูลเดือนมกราคม 2565 วัคซีน CoronaVacได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือการตลาดแบบมีเงื่อนไขโดยหน่วยงานกำกับดูแลยาในท้องถิ่นและ WHO ในกว่า 50 ประเทศและภูมิภาค และได้ส่งมอบมากกว่า 2.7 พันล้านโดสทั่วโลก ตามมาด้วยวัคซีน CoronaVac ที่ใช้ในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี อีกกว่า 250 ล้านในประเทศจีน

ซิโนแวค ไบโอเทค

 

วัคซีนจีน ดูจะเงียบไปในประเทศเรา

วัคซีนจากสหรัฐและยุโรป มีบทบาทมากกว่า

เลยเปิดพื้นที่ความเคลื่อนไหวให้วัคซีนจีนบ้าง

จะได้ถ่วงดุลการรับรู้

ให้เท่าเทียมกันบ้าง •