ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก / ล้านนาคำเมือง : ชมรมฮักตั๋วเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก”

 

ลวฯะจูงหมฯาพาแชกฯ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก”

 

ลวฯะจูงหมฯาพาแชกฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก”

“ลวะ” หรือที่นักวิชาการสมัยใหม่สะกดเป็น “ลัวะ” แต่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกตัวเองว่า “ละเวือะ”

ลวะเป็นชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่มาก่อนจะตั้งขึ้นมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก อาศัยอยู่บริเวณดอยสุเทพสืบเชื้อสายมาจากขุนหลวงวิรังคะและกลุ่มที่มีบรรพบุรุษเป็นปู่แสะย่าแสะและฤๅษีวาสุเทพ

ปัจจุบัน ลวะในเมืองเชียงใหม่ได้ผสมกลมกลืนกับคนไทยวน กลายเป็น “คนเมือง” ส่วนที่อพยพขึ้นไปอยู่บนเขาตั้งแต่อดีต เป็นลวะที่กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทุกวันนี้

พา หรือปา หมายถึงนำไป สะพายไป เป๊อะไป

แชกหรือแจ้ก หมายถึงภาชนะสานทรงสอบสำหรับใส่สิ่งของใช้ห้อยหลังแบกไป

หรือที่เรียกว่า ก๋วย หรือ เป๊อะ

 

ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีแคว้นหริภุญไชย ซึ่งเป็นที่อยู่ของมอญ หรือ เม็ง

ส่วนบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่อยู่ของลวะ ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเชียงใหม่นี้มาก่อน

ประเพณีที่แสดงว่าลวะอยู่มาก่อน เช่น

ประเพณีบูชาเสาอินทขีลในปัจจุบัน จากตำนานของคนเมืองเชื่อว่า พระอินทร์ประทานเสาอินทขีลให้แก่ลวะ

หรืออนุมานจากธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ให้ลวะเป็นผู้เบิกในการทำพิธีต่างๆ

เช่น ในคราวที่พระเจ้ากาวิละเสด็จเข้าครองเมืองเชียงใหม่ก็ให้ลวะจู๋งหมาปาแจ้กหาบไก่ นำขบวนเสด็จเข้าเมือง

หรือเมื่อพญาหลวงผู้ปกครองเวียงป่าเป้าทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ก็ให้ลวะมาทำพิธีขึ้นบ้านก่อน

หรือเมื่อมีการทำพิธีต่างๆ ก็มักให้ลวะทำเป็นปฐมฤกษ์ จากความเชื่อที่ว่า ลวะเป็นเจ้าของแผ่นดินเดิม

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี กล่าวว่า ถิ่นฐานของลวะอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิงและเชิงดอยสุเทพ มีเวียงเรียกว่า เวียงเชษฐาบุรี ต่อมาพระยาสามฝั่งแกนได้สร้างเวียงไว้ที่นี่ เรียกว่า เวียงเจ็ดลิน ซึ่งปัจจุบันคือ ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่

สถานที่ตั้งถิ่นฐานอีกแห่งของลวะ เรียกว่า เวียงนพบุรี เป็นบริเวณเดียวกับที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่

ตามตำนานกล่าวว่า หลังจากพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม ทรงออกล่าสัตว์บริเวณทิศเหนือของเวียงกุมกามเชิงดอยสุเทพ ได้พบชัยภูมิที่เหมาะแก่การสร้างเมือง บริเวณนั้นคือ เมืองนพบุรีของลวะ ที่กลายเป็นเมืองร้างแล้ว

เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ทรงให้คนออกเสาะถามถึงพิธีกรรม และประเพณีของบ้านเมืองที่ลวะเคยปฏิบัติมาก่อน และพญามังรายได้ถือปฏิบัติต่อมา

ลวฯะจูงหมฯาพาแชกฯ
ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก
แปลว่า ชนชาติลวะจูงหมาสะพายก๋วยหรือตะกร้าไม้ใผ่สานขนาดใหญ่

 

มีประเพณีหนึ่งที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพญามังราย คือการบูชาเสาอินทขีล ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี หลังจากเมืองเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าในระหว่างปี พ.ศ.2101-2317 ไม่ปรากฏหลักฐานมากนัก

ต่อมาสมัยของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน มีพระเจ้ากาวิละเป็นต้นวงศ์ พ.ศ.2317-2482 ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ระหว่างปี พ.ศ.2318-2338 เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากชาวบ้านหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่น

ปี พ.ศ.2338 พระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ให้ชาวบ้านกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งรวมทั้งผู้คนที่มาจากเมืองอื่นๆ ในล้านนา เช่น ลำปาง แพร่ น่าน เป็นต้น และมาจากดินแดนที่อยู่เหนือล้านนาขึ้นไป เช่น ไทเขิน ไทลื้อ จากพม่าและสิบสองปันนา ที่พระเจ้ากาวิละกวาดต้อนมาตามนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”

นอกจากนี้ยังมีชาวคงจากลุ่มน้ำสาละวิน ชาวแม่ปละบริเวณน้ำแม่ปละในรัฐฉานไทใหญ่ หรือเงี้ยวในพม่า เป็นต้น ผู้คนที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วยช่างฝีมือแขนงต่างๆ พระนิกายต่างๆ ตามชาติพันธุ์ที่นำเข้ามา ตลอดจนถึงศิลปะแขนงการแสดง

ก็ใช้ธรรมเนียม “ลวะจู๋งหมาปาแจ้ก” นำหน้าเข้าเมืองและในพิธีการขึ้นบ้านใหม่

 

ส่วนที่ต้องจูงหมา เนื่องจากหมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์ที่มีลูกดก การที่ให้ “ลัวะจูงหมาปาแจ้ก” นำหน้า ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองหรือที่อยู่อาศัย สะท้อนถึงความสำคัญของหมา กับกลุ่มชนดั้งเดิม

ซึ่งมีนิทานพื้นเมืองล้านนาที่เกี่ยวกับหมาว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งหลายเรื่อง

เช่น เรื่องหมาเก้าหาง ไทลื้อสิบสองปันนาก็มีเรื่องหมาขนคำ เป็นต้น •