ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : เยส (YES) กายภาพของฝุ่น และกายภาพความทรงจำ ส่วนตัวและส่วนรวม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

เมื่อตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงนิทรรศการศิลปะที่ประกอบด้วยวัตถุที่ถูกมองข้ามอย่าง “ฝุ่น” ไปหมาดๆ บังเอิญว่าในหอศิลป์ข้างเคียงกันก็มีนิทรรศการศิลปะที่เปิดขึ้นในวันเดียวกัน และพูดถึงประเด็นเดียวเกี่ยวกับวัตถุที่ถูกมองข้ามและไม่อยู่ในสายตาคนเราอย่าง “ฝุ่น” เหมือนๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย (อะไรมันจะประจวบเหมาะพอดีกันขนาดนี้!)

เพียงแต่ฝุ่นที่ว่านี้ไม่ได้ถูกเอามานำเสนออย่างตรงไปตรงมาแบบที่มันเป็นเช่นเดียวกับนิทรรศการที่เราพูดถึงก่อนหน้า

หากแต่มันถูกขยายให้เห็นกันจะแจ้งเต็มสองตาเลยทีเดียว

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า เยส (YES)

เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ปริณต คุณากรวงศ์ ที่แสดงความเป็นกายภาพของฝุ่นผ่านกระบวนการทางศิลปะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ด้วยการขับเน้นเรื่องราวของฝุ่นบนร่างกายของเราและบนพื้นที่ของหอศิลป์ที่อยู่ล้อมรอบตัวเราให้เกิดเป็นภาพที่เปี่ยมความรู้สึกหยุดนิ่ง ตราตรึง

ในบทความประกอบนิทรรศการกล่าวเอาไว้ว่า

“ฝุ่นคืออะไร?

ฝุ่นประกอบไปด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่ตอบสนองจุดมุ่งหมายใดๆ และมีอยู่เพื่อให้โดนปัด เช็ดออก อย่างไรก็ตาม ฝุ่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพบเห็นได้อย่างชัดเจนรอบตัวเรา ปกคลุมทุกสิ่ง ตั้งแต่ต้นไม้ เสื้อผ้า อุปกรณ์ครัว จนถึงหนังสือ

เราหายใจเอาฝุ่นเข้าไปในร่างกาย ขณะที่เราสูดอากาศ เรากลายสภาพเป็นฝุ่นเมื่อเราตาย ฝุ่นเป็นคราบบนวัตถุที่ถูกลืมทิ้งไว้บนห้องใต้หลังคา และคราบนั้นยังทําให้ภาพถ่ายเก่าของครอบครัวมีสภาพเหมือนถูกสิงสู่ด้วยผีและวิญญาณ

ฝุ่นจึงมีสภาวะเสมือนความทรงจําทั้งส่วนตัวและส่วนรวมของเราด้วยตัวมันเอง”

นิทรรศการนี้รวบรวมการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องของปริณตเอาไว้ในพื้นที่แสดงงาน โดยถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนหลัก

ส่วนแรกคือ ผืนป้ายไวนีลขนาดใหญ่สองป้าย ที่ติดยาวไปตลอดผนังห้องแสดงงานสองด้าน บนป้ายมีภาพของวัตถุที่ดูเผินๆ คล้ายกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตสีเขียวไล่ไปจนถึงสีเหลืองทอง

ส่วนที่สองคือ ศิลปะจัดวางในสไตล์ ready made ที่ประกอบด้วยผ้าเช็ดพื้นและไม้ถูพื้นที่ปกติถูกใช้ในพื้นที่สาธารณะ, ถังน้ำ และน้ำยาทำความสะอาด

“ฝุ่นเป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่เรามองมันไม่เห็น และคนก็คิดว่ามันไม่มีค่า แต่มันก็มีอยู่ มันก็เลยน่าสนใจในหลายๆ เรื่อง มันมีความเท่าเทียมกันบางอย่าง ว่าผิวหนังคนเราก็หลุดร่อนออกมาเป็นฝุ่น จะคนขาว คนดำ หรือผิวสีอะไร จะเป็นใคร ทุกคนพอตายไปก็กลายเป็นฝุ่นเหมือนๆ กัน”

ปริณตกล่าวถึงที่มาความสนใจในวัตถุที่ดูเหมือนไร้ค่าในสายตาคนอื่น

ซึ่งเป็นจุดเริ่มของแรงบันดาลใจในนิทรรศการของเขาครั้งนี้

ส่วนที่สามคือ วิดีโอที่บันทึกห้วงขณะที่ศิลปินประกอบกิจกรรมการทำความสะอาดพื้นที่ฉายในจอโทรทัศน์ที่ถูกวางบนพื้นของหอศิลป์

ซึ่งกระบวนการทำความสะอาดของศิลปินที่เห็นในวิดีโอ นอกจากจะเป็นกระบวนการเพื่อเก็บสะสมฝุ่นในพื้นที่ของหอศิลป์ในระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันเปิดนิทรรศการ ก่อนที่จะส่งตัวอย่างของฝุ่นบนผ้าเช็ดพื้นไปวิเคราะห์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และกระบวนการเคลือบทองฉาบลงบนอนุภาคของฝุ่น

ตัวอย่างฝุ่นจะถูกยิงด้วยอิเล็กตรอนเพื่อให้เกิดภาพขาวดำในคอมพิวเตอร์ และนำไปปรับสีในโปรแกรมแต่งภาพ เพื่อเน้นความเป็นดิจิตอลและทำให้การรับภาพเดิมๆ ของฝุ่นเปลี่ยนไป

ซึ่งภาพขยายอันชัดเจนของฝุ่นที่ปรากฏขึ้นในจอจากกล้องจุลทรรศน์ดังกล่าวจะถูกนำไปขยายและพิมพ์ลงบนป้ายไวนีลขนาดใหญ่แบบเดียวกับภาพโฆษณาชวนเชื่อที่เราเห็นทั่วไปตามเมืองใหญ่

ซึ่งภาพขยายของฝุ่นที่ว่านี้ ผู้ชมบางคนอาจตีความเป็นป่าหรือต้นไม้ หรือบางคนอาจมองว่ามันคล้ายกับอวัยวะเพศชาย ซึ่งรูปทรงของลึงค์เองก็เคยถูกใช้ในพิธีกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณด้วย

นอกจากนั้น ตัวอย่างฝุ่นดังกล่าวยังถูกจัดแสดงภายในกล่องอะคริลิกเล็กๆ หน้าตาเหมือนศาลเจ้าแบบโมเดิร์นที่ติดอยู่บนผนังห้องแสดงงาน ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรมการทำความสะอาดเข้ากับพิธีกรรมทางศาสนาหรือลัทธิบูชาผี และความสัมพันธ์เกี่ยวกับพิธีกรรมในสตูดิโอของศิลปิน พื้นที่จัดแสดง และชีวิตประจำวัน อันเป็นความสนใจแต่เดิมของตัวศิลปินอีกด้วย

ในอีกแง่หนึ่ง วิดีโอบันทึกกิจกรรมการทำความสะอาดที่ว่านี้ ก็ดูเหมือนจะมีนัยยะทางการเมืองที่เปรียบเปรยไปถึงเหตุการณ์ “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์” เมื่อปี 2013 มีการออกมาร่วมกันทำความสะอาดเมืองกรุงหลังจากการสลายการชุมนุม

(ผ้าเช็ดพื้นและไม้ถูพื้นที่ถูกวางทิ้งบนพื้นคล้ายกับธงที่ถูกทิ้งหลังการชุมนุมทางการเมือง การวางจอโทรทัศน์ที่อยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็ทำให้เราตระหนักไปถึงเลือดเนื้อและชีวิตของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ถูกมองว่าไร้ค่าไม่ต่างอะไรกับฝุ่นผงบนพื้นดิน)

ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ทหารเข้ามาตรวจสอบนิทรรศการศิลปะที่แสดงในหอศิลป์นี้ในคราวก่อนหน้า จนทำให้ศิลปินตัดสินใจที่จะเก็บงานของตัวเองออกไปจนหมดก่อนที่นิทรรศการจะเสร็จสิ้น

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้ที่นี่ https://goo.gl/4TnFLR

“เอาจริงๆ หลายๆ เรื่องในโลกมันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าจะบอกว่านิทรรศการนี้เกี่ยวกับการเมืองมันก็พูดได้ เพราะมันพูดเรื่องการให้คุณค่า การที่เราทุกคนเป็นฝุ่นเหมือนกันหมด แล้วฝุ่นที่เคลือบทองต่างกับฝุ่นธรรมดายังไง? ทำไมมันถึงมีสิทธิ์และมีคุณค่ามากกว่ากัน? เรื่องการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่ผมอยากพูดเรื่องคุณค่าของสิ่งต่างๆ มากกว่า”

ส่วนสุดท้ายคือ ตัวอักษรคําว่า YES สีดำสนิท ที่ถูกเขียนอยู่บนผนังอีกด้านหนึ่งของหอศิลป์

ซึ่งเป็นคําเดียวกันกับชื่อนิทรรศการที่แสดงตัวเหมือนถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่ปกคลุมและปกครองบรรยากาศของหอศิลป์ให้อยู่ภายใต้การควบคุม บังคับบัญชา และการใช้อํานาจบาตรใหญ่

ซึ่งตัวอักษรที่ว่านี้ก็ถูกวาดขึ้นด้วยครีมขัดรองเท้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขัดและเคลือบเงารองเท้าและเครื่องแบบหนังของนายทหาร การปกปิดร่องรอยและขัดเงาเครื่องแบบเหล่านั้นด้วยสีดำนั้น ก็ไม่ต่างกับอะไรกับการปกปิดคราบ ร่องรอย ตําหนิ หรือบาดแผลจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือการเซ็นเซอร์ ปิดปากประชาชนไม่ให้แสดงความคิดเห็นนั่นเอง

“นอกจากประเด็นของอำนาจ ผมยังสนใจเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าของความสะอาด ความสกปรก เพราะครีมขัดรองเท้ามันจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเอาไปขัดรองเท้า ถ้าเราเอามันไปทาอย่างอื่นมันก็จะกลายเป็นคราบสกปรก มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนสถานภาพ ของบางอย่างแค่พลิกการใช้งานนิดเดียวมันก็เปลี่ยนความหมายและความเข้าใจของมันไปได้เลย”

นอกจากนี้ ในส่วนนี้ยังมีลำโพงเล็กๆ บนพื้นหอศิลป์ใกล้กับผนังที่ส่งเสียงคำว่า YES ในรูปแบบต่างๆ ออกมาอีกด้วย

“ด้วยสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้มันมีหลายๆ เรื่องที่เราจะพูด NO ไม่ได้ เราต้องพูด YES อย่างเดียว ผมจึงสั่งโปรแกรมโรบ็อตในคอมพิวเตอร์ให้มันพูดคำว่า YES ในรูปแบบที่ยืดยาน ซ้ำซากไปมา แล้วบันทึกเสียงเอามาเปิดในห้องแสดงงานควบคู่ไปกับผลงาน

การขยายให้ใหญ่เป็นการแสดงอุปมาอุปไมยบ่างอย่าง ผมชอบทำอะไรที่เหมือนเป็นการโยนคำถามให้กับคนดูมากกว่าที่จะมาบอกว่าอันนี้เป็นอย่างงั้น อันนั้นอย่างงี้ แบบนั้นมันไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ เอาจริงๆ ผมก็แค่อยากพูดเรื่องที่อยากพูด ด้วยวิธีที่ผมพูดได้นั่นแหละนะ”

นิทรรศการศิลปะของปริณต ไม่เพียงแต่ท้าทายต่อแนวความคิดเกี่ยวกับความทรงจํา และการแปรสภาพ

แต่ยังท้าทายความคิดของ “สิ่งที่ไม่สําคัญ” และ “สิ่งไร้ค่า” ด้วยการปรับเปลี่ยน การใช้งานและการรับรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับวัตถุธรรมดาสามัญอย่าง “ฝุ่น” ให้เป็นเหมือนพยานและความทรงจําในกรอบทางประวัติศาสตร์ที่ถูกปรุงแต่งและสร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน

มันยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายในการดำรงอยู่ของเรา ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญที่ท้าทาย และสภาพสังคมที่ตกอยู่ในสภาวะดิ้นรน และการรักษาเสถียรภาพระหว่างอดีตที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม และปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความแตกแยกในสังคมของเราอีกด้วย

นิทรรศการ เยส (YES) จัดแสดงที่ Cartel Art Space ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 6-30 สิงหาคม 2017 ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามข้อมูลกันก่อนได้ที่ facebook @Cartelartpace

ขอบคุณภาพจากศิลปิน / ข้อมูลบางส่วนจากบทความประกอบนิทรรศการ เยส (YES) ถึงฝุ่นและอดีตของเรา โดย Loredana Pazzini-Paracciani แปลโดย วิภาช ภูริชานนท์