ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
เข้าใจ Gen Z
ในแบบที่ Gen Z เป็น
บนโลกโซเชียลมีเดียทุกวันนี้เรามักจะได้เห็นการปะทะกันของคนต่างเจเนอเรชั่นบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจเนอเรชั่นที่มีอายุห่างกันพอสมควรอย่างเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) กับเจเนอเรชั่นซี (Gen Z) ที่มีแนวคิดและไลฟ์สไตล์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยแต่เกิดขึ้นในระดับสากลด้วย
เจเนอเรชั่นซีหรือเด็กยุคใหม่ที่เกิดตั้งแต่ปี 2540-2553 หรืออายุราวๆ 12-25 ปี มักจะถูกผู้ใหญ่ตราหน้าว่าเป็นเจเนอเรชั่นลอยชาย หยิบจับอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ฉาบฉวย ขี้เกียจ
ในขณะที่เด็กเจนซีก็มองว่าคนเจนก่อนยึดติดกับความสำเร็จรูปแบบเดิมๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
สื่อหลายๆ สำนักพยายามทำความเข้าใจเจเนอเรชั่นซีว่าคนเจนนี้ให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง มีไลฟ์สไตล์หรือการให้คุณค่ากับอะไรที่ไม่เหมือนคนเจนก่อนๆ
ซึ่งหลายๆ อย่างก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
หนึ่งในเรื่องที่คนสองเจนแตกต่างกันมากเรื่องหนึ่งก็คือวิธีการเสพสื่อ คนเจนก่อนมักจะเข้าใจว่าเจนใหม่ไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง มัวแต่ดูหนัง ฟังเพลง กรี๊ดดารา
แต่อันที่จริงแล้วผลการศึกษาในสหรัฐชิ้นหนึ่งที่ฉันเชื่อว่าก็น่าจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับในไทยด้วยก็ระบุว่าคนเจนซีไม่ได้สูญเสียความสนใจในการติดตามข่าวสาร
แต่พวกเขาแค่ติดตามข่าวคนละที่ คนละแบบจากคนรุ่นก่อนเท่านั้นเอง
ผลการศึกษานี้สอบถามข้อมูลจากคนอเมริกัน 400 คนในช่วงวัยคนเจนซีเพื่อศึกษานิสัยการเสพสื่อพบว่า 51 เปอร์เซ็นต์อ่านข่าวทุกวัน แต่อ่านกันคนละวิธีกับคนเจนก่อนเพราะว่าเด็กเจนซีเลือกอ่านข่าวจากโซเชียลมีเดียมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ 58 เปอร์เซ็นต์บอกว่าติดตามข่าวจากอินเตอร์เน็ต
เด็กเจนซีแทบจะหันหลังให้รายการข่าวบนโทรทัศน์และข่าวหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นเชิงเพราะพวกเขาชอบเสพข่าวรูปแบบสั้นๆ ที่ออกแบบมาให้อ่านบนหน้าจอสมาร์ตโฟนได้ง่ายๆ
วิธีการเสพข่าวของคนในวัยนี้คือการเลื่อนดูหน้าฟีดตามโซเชียลมีเดียและอ่านข่าวที่ปรากฏขึ้นมาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่มาจากสำนักข่าวที่พวกเขากดติดตามเอาไว้ หรือการแชร์ต่อมาโดยเพื่อนในเฟรนด์ลิสต์อีกที
มีไม่ถึง 1 ใน 3 ของคนอเมริกันในเจเนอเรชั่นซีเท่านั้นที่ยังคงติดตามข่าวจากช่องทางดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ ถ้าต้องเลือกเสพอะไรที่มาเป็นเสียงพวกเขาจะเลือกฟังพอดแคสต์ทันทีอย่างไม่ลังเล
ปรากฏการณ์นี้ก็เห็นได้ชัดจากตัวเลขว่าเด็กรุ่นใหม่หันมาเสพสื่อที่เป็นเสียงผ่านช่องทางอย่างพอดแคสต์กันมากขึ้น
การที่เจนซีแยกตัวเองออกจากช่องทางการรับข่าวแบบดั้งเดิมก็ยังเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าคนเจนนี้ต้องการข่าวในรูปแบบที่แตกต่างจากข่าวที่พวกเขามักจะเห็นบนโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ เราอาจจะเข้าใจไปว่าเจนนี้น่าจะแคร์ข่าวประเภท Apple ออก iPhone รุ่นใหม่ หรือข่าวกอสซิปดาราฉาวโฉ่
แต่อันที่จริงแล้วคนเจนนี้กลับให้ความสนใจกับข่าวที่สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขากังวลมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมในสังคม ความรุนแรงของปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน สิทธิสตรี หรือนโยบายสาธารณสุข เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันสะท้อนถึงตัวตนของตัวเองมากที่สุด
ดังนั้น คนทำสื่อที่อยากเข้าถึงเจนซีให้ได้ก็จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องของประเภทและวิธีการนำเสนอข่าวด้วย
ถึงแม้ว่าเจนซีจะชอบเสพข่าวในรูปแบบสั้นๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าข่าวสั้นๆ จะต้องเป็นข่าวเบาสมองเสมอไป
ประเด็นใหญ่ๆ อย่างความเท่าเทียมกันในสังคมก็อาจจะเป็นข่าวที่เจนซีเห็นคุณค่ามากก็ได้
การปรับตัวจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อสำนักข่าวเพราะเจนซีเป็นเจนที่บอกว่าพวกเขาพร้อมที่จ่ายเงินเพื่อให้ได้รับข่าวสารที่มีคุณภาพ
สำนักข่าวอาจจะเริ่มต้นด้วยการให้สมัครสมาชิกและทดลองใช้ฟรีสัก 6 เดือนก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าสมาชิก ซึ่งนี่ก็ถือเป็นโมเดลการหารายได้รูปแบบใหม่สำหรับสื่อในปัจจุบันที่ทุกคนเคยชินกับการเสพข่าวฟรีๆ โดยไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาจ่ายค่าติดตามข่าวกันทำไมเพราะทุกช่อง ทุกเพจ ก็เสนอข่าวแบบเดียวกัน
ถ้ายังแข่งกันในรูปแบบเดิมต่อไปนอกจากคุณภาพข่าวโดยรวมจะตกต่ำลงไปกว่านี้แล้วผู้เล่นในตลาดก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของคนบนอินเตอร์เน็ตรุ่นใหม่ในจีนก็ยิ่งทำให้เราได้รู้จักความเป็นเจนซีเพิ่มมากขึ้น สิ่งนั้นก็คือกระแส ‘ถ่างผิง’ หรือการนอนราบนั่นเอง
ถ่างผิงเป็นความเคลื่อนไหวของวัยรุ่นจีนที่ต้องการสื่อให้คนรุ่นก่อนได้รู้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เอาแล้วกับโมเดลการทำงานหนักไม่ลืมหูลืมตาชนิดที่เข้างานเช้าตรู่จนถึงดึกดื่นซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่คนรุ่นก่อนมองว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในบั้นปลายชีวิต
เจนซีในจีนเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่าพวกเขามีทัศนคติในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
พวกเขาไม่อยากให้ร่างกายต้องเผชิญอันตรายของแรงกดดันจากการทำงานหนัก
ไม่อยากอยู่ในกรอบของความสำเร็จแบบเดิมๆ ที่ประกอบไปด้วยการทำงานหนัก แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้านและซื้อรถ
ไม่อยากมีแรงกดดันทางสังคม อยากมีความเป็นอยู่สบายๆ ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องความก้าวหน้าในการทำงานมากเหมือนคนรุ่นก่อน
การโต้ตอบแบบถ่างผิงก็คือคนเจนซีจะทำงานของตัวเองอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด ไม่ทำงานเกินขอบเขตภาระหน้าที่ ไม่เอาตัวเข้าแลก แต่จะให้ความสำคัญกับคนรอบๆ ตัวและแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองให้มากขึ้น
วัยรุ่นในจีนบางคนบอกว่าพวกเขาใช้ถ่างผิงเป็นเครื่องมือในการช่วยจัดการความเจ็บปวดที่มาจากความยากลำบากในการหางานยุคนี้ที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นอีกเป็นหมื่นเป็นแสนและการทำงานชนิดที่หลักแทบหักแต่ค่าตอบแทนที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายพื้นฐานในแต่ละเดือน
พวกเขาบอกว่าการทิ้งตัว ‘นอนราบ’ ไม่ได้แปลว่านอนรอความตาย พวกเขายังอยากใช้ชีวิต ยังทำงานอยู่ แต่แค่จะทำงานในปริมาณที่จำเป็นก็พอ
South China Morning Post ระบุว่าถ่างผิงสร้างความหนักอกหนักใจให้กับรัฐบาลจีนพอสมควรและรัฐบาลก็ทำทุกวิถีทางที่จะระงับปรากฏการณ์ถ่างผิงไม่ให้แพร่กระจายมากกว่านี้เพราะกลัวว่าจะไปท้าทายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึก ผู้ใหญ่บางคนก็บอกว่าถ่างผิงถือเป็นทัศนคติที่ไร้ความรับผิดชอบที่สร้างความผิดหวังให้กับพ่อแม่และประชาชนผู้เสียภาษีอีกเป็นล้านๆ คนเลยทีเดียว (ฉันคิดว่าเจนซีได้ฟังแบบนี้นอกจากจะตอกย้ำให้ไม่เลิกถ่างผิงแล้วก็อาจจะยิ่งทำให้หาแนวร่วมเพิ่มขึ้นอีกก็ได้)
อายุประมาณฉันน่าจะอยู่กลางๆ ระหว่างสองเจเนอเรชั่น บางอย่างก็เข้าใจเจนก่อน บางอย่างก็เข้าใจเจนใหม่ แม้กระทั่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คนทุกเจนใช้ แต่ว่าแต่ละเจนก็ยังมีวิธีใช้ไม่เหมือนกันอยู่ดี การจะคาดหวังให้คนรุ่นหลังต้องมีทัศนคติและให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวกันกับคนรุ่นก่อนก็น่าจะไม่สามารถทำได้เพราะสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการทำธุรกิจ การศึกษาวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตของเจนซีเพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรีบทำ
หากปรับช้าก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบ Facebook ที่สูญเสียผู้ใช้งานเป็นครั้งแรก เพราะเจนซีหนีไปแพลตฟอร์มอื่นกันหมดก็ได้