ดังได้สดับมา : ฝังจำ ประวัติศาสตร์ เสถียร โพธินันทะ

เพราะว่าเป็นแฟนหนังสือ “เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป” จึงไม่เพียงแต่เสริมความเข้าใจต่อมหายานและต่อพระพุทธศาสนาสายจีน

หากแต่ที่สำคัญอย่าง 1 คือ ความรับรู้ทางด้าน “ประวัติศาสตร์”

สุชีพ ปุญญานุภาพ ยืนยัน “ด.ช.เสถียรจำประวัติศาสตร์ไทยได้ดีทุกสมัย เช่น สมัยที่ไทยยังอยู่ในเมืองจีน สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อเล่าประวัติศาสตร์สมัยไหนก็คล้ายตนเองได้เกิดและเห็นเหตุการณ์มาเองในสมัยนั้น

“ข้อนี้ผู้ฟังปาฐกถาในระยะหลังๆ มักจะรู้สึกอัศจรรย์ใจไปตามๆ กันว่าเหตุไฉนจึงจำแม่นยำนัก ความจำประวัติศาสตร์เหล่านี้สืบมาตั้งแต่ยังเป็น ด.ช.เสถียรเป็นส่วนมาก”

นั่นก็สอดรับกับที่ เสถียร โพธินันทะ เขียนคำนำหนังสือ “พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง”

“การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ในด้านของความเจริญและความเสื่อมในอดีต และเป็นประโยชน์ต่อการที่จะนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างและดำเนินกิจการในอนาคต

“ประวัติศาสตร์เป็นดุจหนึ่งกระจกเงาที่จะส่องมองเห็นความเป็นไปตลอดในกาลทั้ง 3 วิชานี้ได้แทรกซึมไปทั่วในวิชาการประเภทต่างๆ ซึ่งบางครั้งเราก็เรียนไปโดยไม่รู้ตัว”

เป็นความไม่รู้ตัวแต่ก็ “รู้” ไปแล้ว

จากมุมมองของ สุชีพ ปุญญานุภาพ ซึ่งรับรู้ตั้งแต่ยังเป็น ด.ช.เสถียร

การจำประวัติศาสตร์ไทยได้ ดูก็ไม่น่าแปลกนักเพราะเป็นเรื่องประจำชาติของตนเองอยู่แล้ว ที่น่าแปลกก็คือ

ด.ช.เสถียรจำประวัติศาสตร์พม่าได้ถี่ถ้วน

ลำดับวงศ์กษัตริย์และเหตุการณ์ได้ถูกต้องตามรายละเอียดที่ปรากฏในตำราทุกอย่าง จำประวัติศาสตร์ญวน ชื่อกษัตริย์และขุนนางญวนตามลำดับเหตุการณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งที่ชื่อญวนนั้นออกเสียงยากมาก

นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์จีนและอินเดีย ด.ช.เสถียรก็สนใจจำได้ตั้งแต่ก่อนจะออกจากโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข และอ่านเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อทบทวนความจำ

ในสมัยเป็นเด็กนักเรียนได้ประหยัดเงินค่าขนมที่มารดาให้ ซื้อหนังสือประเภทประวัติศาสตร์และวิชาความรู้ที่ชอบไว้มาก โดยเฉพาะหนังสือทางพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎกแปลฉบับของโรงพิมพ์ไท ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน

หนังสือประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์ไว้ก็มีครบชุด นอกจากนั้นก็ยังมีหนังสือฉบับแปลจากเรื่อง The Thai Race ของหมอดอดจ์ และประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดาร ศิลาจารึก

แทบทุกฉบับที่พอจะหาซื้อได้ ถ้าซื้อตามร้านทั่วไปไม่ได้ก็จะติดตามไปซื้อที่หอสมุดแห่งชาติ

จากนี้ก็พอจะมองเห็นภาพของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ในเยาว์วัยได้อย่างแจ่มชัดว่ามิได้เป็นเหมือนกับเด็กโดยทั่วไป

ตรงกันข้าม กลับเป็นเด็กประเภท “หนอนตำรา”

เส้นทางการสัญจร หากไม่ใช่จากบ้านไปโรงเรียน ก็จะเป็นจากบ้านไปยังวัดวาอาราม ทั้งที่เป็นวัดไทย วัดจีน และวัดญวน

ยิ่งกว่านั้น การศึกษาก็มิได้อยู่ในชั้นเรียน หากแต่ยังอยู่นอกชั้นเรียน

เพราะฝักใฝ่มาทางหนังสือ มาทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการศาสนา ปรากฏว่า ด.ช.เสถียร “ไม่ชอบวิชาคำนวณทั้งในการเรียนและในการใช้เงิน”

จากการเปิดเผยของ สุชีพ ปุญญานุภาพ

“เวลาซื้อของถ้าจะต้องให้พ่อค้าทอน เขาทอนเท่าไรก็รับเท่านั้น ไม่ตรวจนับดูก่อนเพราะการตรวจนับทำให้เสียเวลาและทำให้ยุ่งยากที่จะต้องคิดว่าที่ถูกควรจะเป็นเท่าไร”

นี่เป็นนิสัยตั้งแต่เด็กกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่

คําถามก็คือ แล้ว ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ได้ทำความรู้จักและปวารณาตนเป็นศิษย์ของท่านสุชีโว ภิกขุ แห่งวัดกันมาตุยารามได้อย่างไร

หรือเป็นเพราะเป็นวัดใกล้บ้าน ตลาดเก่า เยาวราช

หรือเป็นเพราะมีจิตฝักใฝ่ในการพระศาสนา จึงนอกจากจะวนเวียนไปตามวัดจีน วัดญวน ตามความชมชอบแล้วก็ยังชมชอบที่จะเข้าวัดไทย

ตรงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวที่สำคัญในวัยเยาว์ของ เสถียร โพธินันทะ