ปลัด มท. ลงพื้นที่สุโขทัย เปิดโครงการปลูกคน สร้างป่า ด้วยโคก หนอง นา วัดพลายชุมพล เน้นย้ำ น้อมนำพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”

ปลัด มท. ลงพื้นที่สุโขทัย เปิดโครงการปลูกคน สร้างป่า ด้วยโคก หนอง นา วัดพลายชุมพล เน้นย้ำ น้อมนำพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” มุ่งมั่นใช้พลัง “บวร” สร้างสิ่งที่ดีในชีวิตประชาชน ทำให้ทุกพื้นที่เป็นหมู่บ้านยั่งยืนอย่างแท้จริง

วันนี้ (24 พ.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่วัดพลายชุมพล ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการปลูกคน สร้างป่า ด้วยโคก หนอง นา วัดพลายชุมพล มูลนิธิพลายชุมพล ในอุปถัมภ์เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพวชิรเวที เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรวิหาร พระครูสุขุมธรรมนิเทศก์ เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก เจ้าอาวาสวัดท่าเกษม พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดปทุมธานี พระครูปลัดสุวัฒนสาธุคุณ ประธานมูลนิธิพลายชุมพล เจ้าอาวาสวัดพลายชุมพล ร่วมในพิธี โอกาสนี้ นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายณัฏฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ นางสงวน มะเสนา นางสาวสรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายวิศิษฐ์ เบญจพิทักษ์กุล ปลัดจังหวัดสุโขทัย นางรัตนาภรณ์ จีนทา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุโขทัย หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ 9 อำเภอ ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมในพิธี
.
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการปลูกคน สร้างป่า ด้วยโคก หนอง นา วัดพลายชุมพล มูลนิธิพลายชุมพล ในอุปถัมภ์เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ในวันนี้เป็นต้นแบบที่สำคัญของการได้รับความเมตตาจากผู้นำคณะสงฆ์ได้เมตตาทำให้พวกเราผู้เป็นข้าราชการภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ปลัดจังหวัดสุโขทัย และนายอำเภอทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ สนองพระคุณของพระพุทธศาสนา และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองในการเผยแผ่ค้ำจุนพุทธศาสนิกชนให้มีสิ่งที่ดีของชีวิตควบคู่การทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น ฝนหลวง ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง แก้มลิง หลุมขนมครก การเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช อธรรมปราบอธรรม (การนำเอาสิ่งเลวร้ายปราบสิ่งเลวร้าย) เป็นต้น เฉกเช่นที่พระเดชพระคุณพระครูปลัดสุวัฒนสาธุคุณ เจ้าอาวาสวัดพลายชุมพลแห่งนี้ ได้เมตตานำพื้นที่ของวัด จำนวน 6 ไร่ พัฒนาสู่แปลงโคก หนอง นา อารยเกษตร เพื่อจะช่วยทำให้คนที่เดือดร้อนมีความสุขได้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ทั้งในน้ำและบนดิน จะยังคุณค่าและคุณประโยชน์อันมหาศาลให้กับชีวิตของพวกเราทุกคน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการอยากเห็นประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยทรงเป็นผู้นำทำให้พวกเราได้ช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพารและคนไทยทุกคน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้เชิญไปประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจในการเป็นข้าราชการที่ดีและพสกนิกรที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำมาสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้เปรียบเสมือนพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 อันเป็นเครื่องยืนยันและเป็นน้ำพระทัยที่ชัดเจนที่พระองค์อยากเห็นประชาชนคนไทยมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง เป็นการขยายผลพระบรมราชโองการที่พระราชทานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายที่สำคัญที่พวกเราทุกคน ทั้งข้าราชการ ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำเยาวชน ภาคธุรกิจเอกชน และข้าราชการทุกคน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ครูบาอาจารย์ ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ต้องช่วยกันน้อมนำควบคู่กับพระเดชพระคุณทุกรูปในฐานะผู้นำศาสนา อันเป็นหลักชัยที่สำคัญ ในดินแดนที่เป็นราชธานีเก่ากรุงสุโขทัยแห่งนี้ ที่มีหลักฐานให้เราได้ทราบว่า เรามีพระพุทธศาสนาเป็นเสาหลักตั้งแต่ยุคที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและอารยธรรมว่าเป็นที่สุดอย่างยิ่งแล้วในยุคนั้น ซึ่งในยุคปัจจุบันวันนี้ เรามีพระสงฆ์เป็นผู้นำทำอยู่แล้ว ในส่วนของผู้นำทางราชการ ท้องถิ่น และภาคธุรกิจ ท้องที่ สิ่งสำคัญ คือ เราจงมั่นใจว่าสิ่งที่พระครูปลัดสุวัฒนสาธุคุณ ผู้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้ ท่านได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้ดูเพื่อให้พี่น้องประชาชน “มีที่พึ่ง” ทั้งที่พึ่งทางปัญญา ที่พึ่งการได้มาอาศัยร่มเงาของพืชผลในแปลงโคก หนอง นา เพื่อประทังชีวิตหาเลี้ยงชีพ ดังเช่น บูธนิทรรศการในวันนี้ ที่ต่างสะท้อนถึงความยั่งยืนของชีวิตที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาสร้างสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืน ดังนั้น ถ้าพวกเราเชื่อในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาให้ เราต้องน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ให้ได้ในวิถีชีวิตประจำวัน พยายามหาเหตุหาผล คิดถึงการข้างหน้า มีความรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ นับตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประการแรก พระองค์ทรงเชิญชวนคนไทยให้ “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำให้สิ่งดีงามในอดีต ที่ทุกวันนี้เหลือน้อยลง ให้กลับคืนมา ทำให้สังคมกลับมามีน้ำใจ รักใคร่นับถือกันเหมือนญาติมิตร มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน บ้านไหนเดือดร้อนเราไม่นิ่งดูดาย เพื่อนทุกข์เราก็ทุกข์ เพื่อนบ้านกำลังเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปเยี่ยมเยียน เพื่อนบ้านมีงานบุญงานบ้าน เราก็ไปเอามื้อเอาแรงช่วยกัน เพื่อนบ้านเสียชีวิตเราไปร่วมแสดงความเสียใจ เอาเงินใส่ซองทำบุญ ใครมีฝีมือทำกับข้าวก็ลงครัวไปช่วยกัน มีแรงเยอะก็ไปช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูที่นั่งพื้นศาลา ใครมีความรู้เรื่องศาสนพิธีกรก็ช่วยเป็นคนนำทำพิธี แม้แต่ยกบ้านหลังหนึ่งเราก็เฮละโลไปช่วยกัน ด้วยการพระราชทานโครงการจิตอาสาเราทำความ “ดี ด้วย หัวใจ” โดยทรงเน้นย้ำว่า การมีจิตอาสา คือการทำสิ่งที่ดีโดยไม่หวังผลตอบแทนรูปแบบใด ๆ นอกจากความสุขใจ ที่ได้ทำความดี และการเป็นจิตอาสา ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ เพียงแค่เราเป็นจิตอาสา มีจิตเป็นกุศล ช่วยเหลือเกื้อกูลทำดีโดยไม่มีใครสั่ง ทำดีด้วยหัวใจ เราจึงจะเป็นคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นจิตอาสาอย่างแท้จริง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการอยู่ร่วมกันในสังคม พระองค์ได้พระราชทานหลักการที่สำคัญ คือ “บวร” หรือ 7 ภาคีเครือข่าย อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 17 Partnership (หุ้นส่วนการพัฒนา) ด้วยการที่ทุกคนในสังคมต้องลุกขึ้นมาช่วยกันด้วยความรัก ความสามัคคี หนุนนำเป็นพลังทำให้งานใหญ่น้อยประสบความสำเร็จ ดังที่ทุกท่านมาในวันนี้ที่เป็นนิมิตรหมายอันดีที่พวกเราทุกคนจะได้ช่วยกันคิดดูแลคนในครอบครัว ให้สมาชิกในครอบครัวฝักใฝ่ในคุณธรรมศีลธรรม ลูกหลานก่อนนอนก็สวดมนต์ไหว้พระ รำลึกนึกถึงบุญคุณของครูอุปัชฌาย์อาจารย์ บุพการี ผู้มีพระคุณ และแผ่เมตตาถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร ดังนั้น เรื่องใหญ่ก็คือเราต้องรักกันก่อนแล้วเรื่องอื่นที่ดีจะตามมา โดยน้อมนำหลัก “บวร” มาใช้ อย่าทำงานแต่เพียงลำพัง เหมือนดั่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาเถรสมาคมทั้ง 3 คณะ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้นำของข้าราชการทั้ง 20 กระทรวงในพื้นที่ ไปสงเคราะห์ญาติโยมให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ส่งผลดีกับสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม เช่น นักเรียนไม่มีชุดลูกเสือ ไม่มีชุดนักเรียน ไม่มีทุนการศึกษา เพราะเครื่องแบบจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ใส่เครื่องแบบเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเด็กไม่มีเครื่องแบบก็ต้องทำให้มีให้ได้ใส่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน ไม่ให้เกิดการแบ่งแยกในโรงเรียน 2) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน รวมถึงขยายผลไปยังบ้านเรือนทุก ๆ บ้านทุกๆครอบครัว และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้คนเที่ยวกลางคืน ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้นำภาคศาสนาอื่น ๆ มาเป็นภาคีเครือข่าย ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่พระราชทานแก่พวกเราคนไทย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำส่งเสริมการพัฒนาในทุกเรื่อง โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหาร ทั้ง “โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” รวมถึงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และส่งเสริมดูแลเด็กในถิ่นทุรกันดาร ด้วยกองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น และ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” พระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะหัตถกรรมไทย เพื่อสร้างให้รายได้กลับคืนสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล รวมถึง Sustainable Fashion ผลิตชิ้นงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน พระองค์จึงพระราชทาน โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เป็นภาพรวมของการทำให้ทุกหมู่บ้านเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มี “พระผู้รับผิดชอบประจำตำบล” ช่วยกันสร้างหมู่บ้านยั่งยืนให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญดูแลลูกหลานและครอบครัวให้เป็นพลเมืองดีที่มีความเคารพ มีความรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย