คุยกับคนทำหนัง ‘Breaking the Cycle’ ‘โลกความจริง’ มันยากลำบาก แต่ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ จะมาถึงแน่ๆ

หมายเหตุ ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี สัมภาษณ์ “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” และ “ธนกฤต ดวงมณีพร” สองผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Breaking the Cycle : อำนาจ ศรัทธา อนาคต” ที่ติดตามชีวิตทางการเมืองของ “พรรคอนาคตใหม่” ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ไปจนถึงการถูกสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หนังเรื่องดังกล่าวมีกำหนดจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนเป็นต้นไป

: หนังสารคดีเรื่องนี้พูดถึงรอยต่อจากอนาคตใหม่สู่ก้าวไกล อยากถามในมุมผู้กำกับฯ ที่ได้ไปสัมผัสการเมืองไทยในเวลานั้นว่า พวกคุณได้เห็นอะไรบ้างที่คนทั่วไปอาจไม่ได้รับรู้?

เอกพงษ์ : เมื่อกี๊ บอกว่าเราได้เข้าไปอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างอนาคตใหม่ไปก้าวไกลใช่ไหม คือผมอยากอธิบายใหม่ มันไม่ใช่ช่วงอนาคตใหม่ไปสู่ก้าวไกล แต่ผมรู้สึก มันคือช่วงเวลาของการตื่นรู้ทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย แล้วหลังจากนั้น มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ถ้าถามว่าเห็นอะไร ผมเห็นความหวัง เห็นความไร้เดียงสา เห็นความอกหัก และเห็นความกร้านโลกของกลุ่มคนที่เคยไร้เดียงสา แล้วเขาก็ไม่ไร้เดียงสาอีกต่อไป

ผมรู้สึกว่า ช่วงเวลาที่เราผ่านมาคือช่วงเวลานี้ของประชาชนกลุ่มหนึ่ง

: ถ้าเรามองว่าอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของความตื่นรู้ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งในเวลานั้นที่เห็นว่าการเมืองไทยมีอะไรที่ผิดปกติ แต่สิ่งที่เขาต้องเจอกลับเป็นเรื่องของการยุบพรรค ในฐานะผู้กำกับหนังสารคดี ตอนนั้นเราเห็นอะไรในสายตาของคนพรรคอนาคตใหม่บ้าง?

เอกพงษ์ : มีบางคนคาดคิดอยู่แล้วว่ามันจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน มันก็มีคนไม่คาดคิด ที่ผมกำลังจะบอกก็คือไอ้คนที่ไม่คาดคิดนี่แหละ คือกลุ่มคนที่ไร้เดียงสา

ประเด็นคือว่าการยุบพรรคในตลอดการปกครองประชาธิปไตยไทย มันถูกใช้มาเรื่อยๆ นึกออกไหมครับ แล้วมันถูกใช้มาอย่างปกติ เพียงแต่ว่าพอมันจบไปเป็นทีละเจเนอเรชั่นๆๆ เราต้องมาเรียนรู้สิ่งนี้กันใหม่ว่ามันเกิดขึ้นได้นะ

จริงๆ มันมีคนกลุ่มหนึ่งในพรรคที่เขาร้องไห้ ขณะเดียวกัน ก็มีบางคนที่รู้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เขาคิด

 

: ถ้ามองจากหนังสารคดีเรื่องนี้ นอกเหนือจากถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่แล้ว มันคือการถ่ายทอดการเติบโตทางความคิดของสังคมไทยไปด้วยใช่ไหม?

เอกพงษ์ : จริงๆ อันนั้นคือแก่นแกนของตัวภาพยนตร์ แต่ว่าชั้นนอกสุดที่มันจะสร้างความบันเทิง หรือว่าอะไรก็ตามที่มีตัวละครให้คนดูไปกระโดดเกาะหลัง เพื่อที่จะดูว่าคนนี้มันจะไปทำอะไร มันคือแค่ชั้นบน แต่สิ่งที่พูดไปในคำถามนั่นแหละคือหัวใจของหนังจริงๆ

มันคือกระแสความคิดของประชาชนที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากความไร้เดียงสาไปสู่ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ผมว่ามันไม่ใช่ตาสว่างด้วย

มันเหมือนกับ เชี่ย! กูรูแล้วว่าโลกแห่งความจริงหรือว่าเกมการเมืองในชีวิตจริง มันแรงกว่าที่เคยคิดไว้ จนนำมาสู่การเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าในสภามันไม่สำเร็จ มันก็นำมาสู่การเคลื่อนไหว (บนท้องถนน) พอการเคลื่อนไหวเสร็จ ในที่สุด เราก็ได้รู้อีกว่าการเคลื่อนไหวมันไม่ได้ผล จนตอนนี้ มันก็เริ่มอ่อนแรง

เรารู้สึกว่า ทั้งหมดมันเป็นกระบวนการที่เราค่อยๆ รู้ว่า โลกแห่งความจริงมันยากลำบาก และมันไม่ได้เร็วอย่างที่ทุกคนคิดไว้

: แต่ความตลกร้าย คือ เราทำเหตุการณ์เมื่อปี 2562 เวลามันผ่านไปไวมาก 4-5 ปี 2566-2567 หนังของเรากำลังจะเข้าฉายในประเทศไทย ปรากฏว่าสิ่งที่เราเคยถ่ายทำไปมันเหมือนจะกลับมา “รีรัน” ซ้ำได้เลย เหมือนมันไม่ไปไหนเลย เมื่อเห็นข่าวคดี “ยุบก้าวไกล”

ธนกฤต : โอเค มันกำลังจะเกิดการยุบพรรค เกิด-ไม่เกิด ผมไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่า มันไม่เหมือนครั้งที่แล้ว ซึ่งผมว่าตัวแปรที่ทำให้ไม่เหมือนเดิม ก็คือผู้คนนี่แหละ

เอาคณิตศาสตร์ง่ายๆ เลย คราวที่แล้ว คนที่โหวตอนาคตใหม่คือประมาณ 6.3 ล้าน แต่คราวนี้ คนที่โหวตก้าวไกลมัน 14 ล้าน มันคือหนึ่งเท่าตัว เพราะฉะนั้น อย่างน้อยถ้าทุกอย่างเหมือนเดิม ศาลฯ เหมือนเดิม การยุบพรรคเกิดขึ้นเหมือนเดิม แต่ว่าสิ่งนี้ไม่เหมือนเดิมแน่ๆ ก็คือ ผู้คน

ไม่เหมือนเดิมยังไง ผมว่าในเชิงความคิด อะไรมันก็ไม่เหมือนเดิมแล้วแหละ

เอกพงษ์ : ผมว่าทุกๆ ครั้งที่มันเกิดการยุบพรรค เราก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ นะ ขณะเดียวกัน การยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เป็น “ตัวเร่ง” เหมือนกัน

หมายถึงว่าการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง มันอาจจะอีกยาวไกลมากๆ แต่ด้วยระบบที่มันแข็งขนาดนี้ แล้วมันไม่ยอมผ่อน ไอ้ความแข็งนี้จะค่อยๆ ทำลายตัวมันเอง ตัวมันเองดันกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ผมมองอย่างนั้น

คือมันไม่ได้เป็นลูป (วงจร) เดิม แต่ทั้งหมดนี้มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุดแล้ว ดังนั้น การยุบพรรคมันเป็นตัวเร่งมากกว่าด้วยซ้ำ แทนที่จะชะลอกระบวนการ

 

: อย่างนี้ต้องทำหนังภาค 2 ไหม?

เอกพงษ์ : จริงๆ แล้ว ตัวหนังเรื่องนี้มันพูดอะไรบางอย่างที่เราไม่ต้องการภาคต่อ และผมก็รู้สึกว่ามันจะเป็นจริงไปตลอด และไอ้ลูป (วงจร) นี้ มันก็คงเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

หนังเรื่องนี้มันเป็นเครื่องเตือนสติมากกว่า ว่าจริงๆ แล้วพลังมันอยู่ที่ไหน

 

: การทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นไหม หรือเราตกผลึกกับตัวเองอย่างไรหลังได้ทำหนัง?

ธนกฤต : การทำหนังเรื่องนี้มันพิเศษอยู่อย่างตรงที่คนทำ คือมันปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเป็นคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมกำลังบันทึกอยู่ มันเลยกลายเป็นว่า ณ ขณะที่เรากำลังทำหนังไป เราก็เรียนรู้ไปด้วย แล้วผมก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่า พรรคเขาเองก็เรียนรู้ไปกับเราด้วยเหมือนกัน

เหมือนกับผม พรรค และประชาชน สามส่วนนี้เราเรียนรู้ไปด้วยกัน ผ่านเหตุการณ์-ช่วงเวลาที่มันเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ถามว่าทำแล้วได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้นไหม ได้เรียนรู้แน่นอน แต่มันเป็นการเรียนรู้ที่พิเศษตรงที่มันเรียนไปด้วย แล้วมันก็ทำหนังไปด้วย

พอสิ้นสุดเหตุการณ์ เราได้มาสองอย่าง ก็คือ ได้หนังมาหนึ่งเรื่อง กับได้การเรียนรู้การเมืองของเราเอง

เอกพงษ์ : จริงๆ การเรียนรู้ของผมมันก็ยาวกว่าช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในหนัง เพราะเราก็ดูการเมืองมาโดยตลอด หลังจากที่ดูมาพักหนึ่ง มันทำให้ผมรู้สึกว่า อ๋อ โอเค คือการเปลี่ยนแปลงมันมาแน่ๆ เราแค่ต้องอดทนให้มากพอ เพื่อที่จะให้ถึงวันนั้น อันนี้คือสิ่งที่ถอดออกมา หลังจากที่เห็นทั้งหมด

มันก็มีบางช่วงเวลา ที่เรารู้สึกว่ามันกำลังจะเปลี่ยนแน่ๆ มันกำลังจะมาแล้ว แต่สุดท้ายก็แบบว่ามันไม่ได้มาว่ะ แต่ก็ไม่ได้ถอดใจนะ เพราะเรารู้ว่ามันกำลังจะมาถึง เราแค่ต้องมีชีวิตอยู่ให้ถึงวันนั้น มองย้อนกลับมาก็แบบ โอเค มันเป็นการต่อสู้ที่คุ้มค่า

แต่ก็อยากจะหมายเหตุว่า ในระหว่างทางกว่าที่เราจะไปถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ มันก็มี “การสูญเสีย” อีกจำนวนหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องจดจำเอาไว้เหมือนกัน

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024