กว่าจะเป็น…”น้องเขยทักษิณ” คำให้การในบันทึกรัก “สมชาย-เจ๊แดง” ผู้พิพากษาหนุ่ม กับนักศึกษาสาวพยาบาล

หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 30/05/2551

 

“ใครจะเรียกผมยังไง ผมไม่ว่า ยังบอกคุณแดงเลยว่า แสดงว่าผมนี่ไม่มีเครดิตในสื่อในสังคมเลย เพราะถ้าพูดถึงผม คนไม่รู้จัก ถ้าบอกคุณสมชาย ปลัดกระทรวงยุติธรรม นี่ไม่มีล่ะ แต่ถ้าบอกว่า “น้องเขยแม้ว” หรือ “สามีแดง” ร้องอ๋อเลย… บางทีก็โดนเพื่อนแซวว่า เฮ้ย! สมชาย แกจะลงหนังสือพิมพ์ทั้งที ก็ไม่มีชื่อมีเสียงเลย แต่ปกติก็ไม่ใช่คนอยากดังอยู่แล้ว”

คือความรู้สึกของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ต่อสมญา “น้องเขยทักษิณ” ที่ถูกใครต่อใครเรียกขาน

แม้สมญาดังกล่าวจะกลายเป็นโลโก้ประจำกายของ “สมชาย” แต่น้อยคนนักจะรู้ว่ากว่าจะเป็น “น้องเขยทักษิณ” ในวันนี้ เมื่อ 31 ปีก่อน “หนุ่มเมืองคอน” พิชิตใจ “สาวเชียงใหม่” ได้อย่างไร?

ต่อไปนี้คือคำให้การในบันทึกรักของ “สมชาย-คุณนายแดง”

เรื่องราวความรักของคนต่างภาคเกิดขึ้นในปี 2519 เมื่อ “สมชาย” สอบบรรจุเป็นผู้พิพากษาศาล จ.ศรีสะเกษ ได้ ส่วน “สันติ โภคารัตนานันท์” เพื่อนรุ่นพี่สอบได้ที่ศาลแขวง จ.เชียงใหม่ แต่ไม่อยากย้ายไปทำงานไกลลูก-เมียซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่ จ.ขอนแก่น จึงขอสลับเก้าอี้กับ “สมชาย” แต่เขาไม่เอาด้วยเพราะพูดเหนือก็ไม่ได้ กินอาหารเหนือก็ไม่เป็น ทำให้ “สันติ” ต้องวิ่งโร่ไปขอความเห็นใจจาก “ชัช ชลวร” ซึ่งสอบได้ที่ จ.สุราษฎร์ธานีแทน

“วันที่เขาจะไปเซ็นใบแลกกันที่ศาลแพ่ง คุณสันติเดินผ่านมา เห็นผมนั่งทานกลางวันอยู่กับอาจารย์ปราณอม มหรรณพ ไม่รู้คิดอย่างไรจู่ๆ ก็เข้ามาถามผมอีกรอบว่าเปลี่ยนใจไหม ผมเลยลองถามอาจารย์ดูว่าถ้าไปประจำเชียงใหม่ดีไหม ท่านบอกว่าไม่เคยอยู่ แต่มีเพื่อนเคยอยู่แล้วบอกว่าดี ผมเลยยอมแลกในนาทีสุดท้าย”

นั่นคือ พรหมลิขิตแรกที่ชักนำให้ “สมชาย” ไปเหยียบแผ่นดินเกิดของ “เยาวภา”

“สมชาย” เริ่มงานผู้พิพากษาแขวง จ.เชียงใหม่ ในเดือนมีนาคม 2519 แต่ออกนั่งบัลลังก์ได้ไม่นาน ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะและไม่ไหว เพราะทั้งโจทก์-จำเลยอู้คำเมืองกันหมด ครั้นจะให้ทนายเบิกความเป็นภาษากลาง คู่ความก็ฟังไม่รู้เรื่องอีก

จึงตัดสินใจยื่นหนังสือขอย้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519 หลังทำหน้าที่ “ผู้พิพากษาคนเมือง” ได้ 8 เดือน

“วันนั้นพี่เยาวเรศ (ชินวัตร) เกิดอยากแนะนำให้ผมรู้จักกับน้องสาว เลยชวนไปงานเลี้ยงครบรอบวันสถาปนาโรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งคุณแดงจบที่นั่น ความจริงผมรู้จักและไปมาหาสู่พี่เขาบ่อยๆ แต่ไม่เคยเจอคุณแดง กระทั่งวันนั้น…เห็นครั้งแรกไม่ใช่ว่าปิ๊งทันที เขามานั่งทานข้าวข้างๆ ไม่ค่อยได้คุยอะไรกัน แต่รู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อยมาก ดูผู้ดี๊…ผู้ดี เลยคิดในใจว่าถ้าจะแต่งงานทั้งที ต้องได้ผู้หญิงที่ดูดีอย่างนี้”

ถือเป็น “วาบความคิด” ที่เกิดขึ้นกับ “หนุ่มแดนทักษิณ” หลังเจอกิริยางดงามแบบ “สาวถิ่นพายัพ”

ผลจากการปะหน้า “นักศึกษาสาวพยาบาลศาสตร์” ในคราวนั้น ทำให้ความสับสนวิ่งเข้าใส่สมอง “ผู้พิพากษาหนุ่ม” หลายวัน เขาชักไม่อยากย้ายไปนั่งบัลลังก์ในแดนอื่น เพราะกลัวต้องพลัดพรากจาก “นางในฝัน”

ในช่วงนั้นเองที่ “สมชาย” เริ่มรู้ว่าถูกใจสาวเจ้าเข้าแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อถอนใบย้ายใน 2 สัปดาห์ต่อมา ก่อนจะเริ่มปฏิบัติภารกิจของหัวใจอย่างจริงใจ

เส้นทางในการพิชิตใจ “น้องแดง” ไม่ยากอย่างที่คิด เนื่องจากพี่ชายของหล่อน ทั้ง “พ.ต.ท. ทักษิณ” และ “อุดร” ที่มักแสดงความรักและหวงน้องสาวคนนี้เป็นพิเศษไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิด แต่ไปศึกษาเมืองนอกกันหมด จึงเหลือแต่การฝ่าด่าน “พ่อเลิศ” และ “แม่ยินดี” ให้ได้เท่านั้น

“เป็นความโชคดีที่พี่เยาวเรศพาผมเข้าไปหาคุณพ่อคุณแม่ และท่านไม่รังเกียจอะไร ไม่ไล่ ไม่ว่า ไม่ด่าสักคำ อาจเพราะผมดูเรียบร้อยมั้ง ทำให้เราได้คบหากันอย่างจริงจัง ผ่านไประยะหนึ่งก็คิดว่าคุณแดงเป็นสุภาพสตรีที่วางตัวดี พูดจาเรียบร้อย หน้าที่การงานก็น่ารัก จึงคิดว่าอย่างไรต้องขอแต่งงานแน่ เพราะเราก็แก่แล้ว กลัวตกรถไฟขบวนสุดท้าย” รองนายกฯ ย้อนรำลึกถึงความรู้สึกก่อนสละโสด

และแล้วพระพรหมก็ช่วยบ่มเพาะความรักของคนทั้งคู่ให้สุกงอม เมื่อ “สมชาย” ได้รับการ์ดเชิญไปร่วมงานแต่งงานเพื่อนที่กรุงเทพฯ จึงชวนแฟนสาวไปเที่ยวด้วยกัน แม้เจ้าตัวจะอยากไป แต่ก็เลือกที่จะไปขออนุญาตมารดาก่อน

“คุณแดงเป็นคนที่เวลามีอะไรต้องขอคุณแม่ตลอด ซึ่งผมชอบนะ เพราะไม่อยากได้ชื่อว่าพาลูกสาวเขาหนีไปเที่ยว ปรากฏคุณแม่บอกว่าไม่ดีมั้งลูก เพิ่งรู้จักกันไม่นาน เดี๋ยวคนจะนินหาว่าไปกับผู้ชาย แต่ตอนท้ายท่านหลุดปากมาว่า ถ้าเป็นคู่หมั้นก็ว่าไปอย่าง ไม่มีใครนินทา พอคุณแดงมาบอกผมปุ๊บ ผมเลยร้อง อ้าว! ถ้าอย่างนั้นเราก็หมั้นกันเสียเลยสิ จะได้ไปเที่ยวด้วยกันไง คุณแดงบอกว่าต้องไปถามแม่ก่อน ปรากฏว่าคุณแม่ก็ใจดี๊…ใจดี บอกว่าไม่ขัดข้อง”

วันรุ่งขึ้น “สมชาย” จึงยกขันหมากไปขอหมั้น “คุณหนูแดง” หลังดูใจกันมา 8 เดือน ก่อนจะพากันไปดูงาน-งานแต่งเพื่อนที่กรุงเทพฯ สมความตั้งใจ

จากนั้นในอีก 1 ปีให้หลัง ทั้งคู่ได้คล้องแขนเข้าประตูวิวาห์ และเลือกทำรังรักที่บ้านพักผู้พิพากษา ซึ่ง “สมชาย” ยอมรับว่าเป็นความเสียสละของลูกสาวเศรษฐีที่ยอมมาใช้ชีวิตเยี่ยงคนจน เพราะขืนให้ตนเก็บกระเป๋าเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง อาจถูกนินทาเรื่องความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ผู้พิพากษาได้

ในช่วงแรกของการครองเรือน คนนอกอาจมองว่า “สมชาย” เป็นผู้มากบารมีด้วยหน้าที่การงานที่ทำ แต่เมื่อภริยาลงหลักปักฐานการเมือง และได้รับการสถาปนาเป็น “เจ๊แดงแห่งวังบัวบาน” ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าบารมีของหล่อนไปบดบังรัศมีสามีหรือไม่?

“ความจริงคุณแดงไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นเข้าใจ ไม่เคยไปแผ่บารมี แสดงตัวเป็นเจ้าแม่ แต่เขาเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นใจผู้อื่น ทำให้ได้รับความร่วมมือในการทำงาน สมัยตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆ เขาไม่รู้เรื่องการเมืองเลย ข่าวหนังสือพิมพ์นี่ไม่อ่านเลย อ่านแต่นิยาย แต่เมื่อเห็นท่านทักษิณมาตั้งพรรค และไม่มีใครมาช่วย คุณแดงก็เข้าไปช่วย”

ข้อตกลงร่วมกันของครอบครัว “วงศ์สวัสดิ์” คือจะไม่มีการเปิดบ้านให้ ส.ส. มาชุมนุมแสดงพลัง หากมีปัญหา “เจ๊” จะนัด ส.ส. ในสังกัดไปถกกันที่พรรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพสามีเข้าไปพัวพันกับการเมือง

แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันอีกตลบ เมื่อ “ช้างเท้าหลัง” ต้องมายืนเป็น “ช้างเท้าหน้า” ทำให้ “สมชาย” กลายเป็นทายาทการเมืองของภริยา-พี่เขย

“ผมกับภริยาไม่มีใครเป็นช้างเท้าหน้า หรือช้างเท้าหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกบ้าน เราช่วยกันหมด ตรงไหนที่เขาถนัด เขาก็เป็นเท้าหน้าไป ตรงไหนที่ผมถนัด ผมก็เป็นเท้าหน้า อยู่ด้วยกันแบบครอบครัวอบอุ่น”

แล้วใครคือผู้ควบคุม “ถุงเงิน” ประจำบ้าน?

“ผมไม่เคยถามภริยาว่ามีเงินเท่าไร และเขาก็ไม่เคยถาม ผมไม่ต้องนำส่ง (หัวเราะ) คือเราไว้ใจกัน ช่วยกันดูแลบ้าน ลูกอยากขอเงินใครก็ได้ สมมุติมีพนักงานประปา หรือพนักงานไฟฟ้ามาเก็บเงิน ใครอยู่บ้าน คนนั้นก็จ่าย คือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวไม่ว่าของใครก็คือของเรา”

“ความรักมันเหนือสิ่งอื่นใด เข้าใจไหม ถ้ามีความรักคุณจะรู้…ผมกับภริยาอยู่ด้วยกันมา ถามว่าเคยพูดหรือไม่ว่าตายแทนกันได้ เคย ผมนี่นะถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับครอบครัว ผมยอมตายก่อน ขนาดเราตายแทนกันได้ เรื่องอื่นเรื่องเล็กหมดเลย”

ทั้งหมดนี้คือ “ตำนานรักวังบัวบาน” ที่บอกเล่าโดย “น้องเขยทักษิณ” ในอารมณ์สีชมพู!!!