‘บ้านอองโตนี’ ที่พำนักสุดท้าย ‘ปรีดี พนมยงค์’ ความทรงจำ คุณค่าที่ต้องปกป้อง และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ต่อไป

“ผมหวังว่าบ้านหลังนี้ในอนาคต จะตกอยู่ในมือของผู้ที่ควรจะเป็นเจ้าของมันจริงๆ นั่นก็คือรัฐไทยและประชาชนไทย หากวันใดที่รัฐไทยพร้อม ผมก็พร้อมที่จะยกบ้านหลังนี้ให้กับรัฐไทย โดยไม่คิดกำไรใดๆ… เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันจะหมายถึงรัฐไทยยอมรับในความสำคัญของการอภิวัฒน์สยาม ยอมรับในคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ ยอมรับความผิดพลาดในอดีตที่รัฐกระทำต่อผู้เห็นต่าง ยอมรับในคุณค่าประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเท่าเทียม นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุด รัฐไทยยอมรับในหลักการของคณะราษฎร ในหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐไทยจะยอมรับในหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

ส่วนหนึ่งของคำแถลงของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ชื้อ “บ้านอองโตนี” กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สถานที่พำนักแห่งสุดท้ายของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอภิวัฒน์สยาม 2475 ผู้นำขบวนการเสรีไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรี

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เล่าที่มาของการซื้อบ้านหลังนี้ว่า ประมาณ พ.ศ.2559 มีนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งสนใจประวัติศาสตร์เรื่องคณะราษฎร ไปสืบค้นดูว่าการรวมตัวก่อตั้งคณะราษฎรเกิดขึ้นตรงไหน สมาชิกคณะราษฎรที่ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสไปอยู่กันตรงไหน รวมถึงบ้านที่นายปรีดี พนมยงค์ ใช้พักอาศัยช่วงท้ายของชีวิต ตอนที่ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส

เมื่อหาเจอแล้วก็มีความคิดว่า ถ้ารัฐบาลไทยเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ หรืออย่างน้อยมีแผ่นป้ายติดไว้ว่า ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม ผู้นำขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยอยู่ที่นี่และตายที่นี่ก็คงดี

เพราะถ้าใครอยู่ต่างประเทศหรืออยู่ที่ฝรั่งเศส เราจะเห็นป้ายติดเต็มไปหมด คนนั้นเคยอยู่ที่นี่ คนนั้นเสียชีวิตที่นี่ คนนั้นเคยเรียนหนังสือที่นั่น และไม่จำเป็นต้องเป็นคนชาตินั้นด้วย ขอให้เป็นบุคคลสำคัญ

เช่น ที่เมืองแบรสต์ (Brest) มีถนนสายหนึ่ง ชื่อ Rue de Siam (ถนนสยาม) เป็นถนนที่โกษาปานขึ้นฝั่งที่นั่น ครั้งที่พระนารายณ์ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส เพราะที่ประเทศไทย ซอยเจริญกรุง 36 ก็มีป้ายเขียนว่า Rue de Brest (ถนนแบรสต์) แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับ 2475 เป็นไปไม่ได้เลยในเวอร์ชั่นรัฐไทยแบบทางการ

“การต่อสู้ในทางประวัติศาสตร์ คือการต่อสู้กันเรื่องความทรงจำ การต่อสู้ว่าเราจะอธิบายความทรงจำนั้นแบบไหน ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ถูกทำให้เป็นคนแย่งอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เสร็จแล้วก็มาแย่งกันเอง ทะเลาะกันเอง ดังนั้น การมีพื้นที่ การมีสถานที่ มันเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ในการอธิบายความ มีโอกาสเปิดพื้นที่ให้มีการจัดงานรำลึก มีโอกาสให้แสดงสัญลักษณ์ แสดงบทบาท แสดงความรู้ความคิดเห็น อธิบายประวัติศาสตร์ 2475 ในมุมของอีกฝั่งหนึ่งบ้าง” ปิยบุตรกล่าว

ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ชื้อ “บ้านอองโตนี” ในราคา 1.6 ล้านยูโร หรือราว 63 ล้านบาท เผยเหตุผลหลักที่ตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้ว่า ไม่ใช่การตัดสินใจเพื่ออดีต แต่เพื่ออนาคต เพราะจนถึงวันนี้ ผ่านมา 92 ปี หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภารกิจ 2475 ยังไม่จบสิ้น ภารกิจแห่งการสถาปนาประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค ความเท่าเทียม ยังไม่เป็นจริง ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายปฏิปักษ์ 2475 ต้องการจะลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม และต้องการด้อยค่าอาจารย์ปรีดีอย่างกระตือรือร้น

ธนาธรบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า การอุ้มหายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่สี่แยกหลักสี่ การเปลี่ยนชื่อค่ายทหารที่ตั้งชื่อตามผู้นำคณะราษฎร เช่น ค่ายพระยาพหลพลพยุหเสนา การทุบทำลายสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร การทุบและสร้างใหม่ของอาคารศาลฎีกา และอาคารสองข้างทางตลอดถนนราชดำเนิน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า 2475 หมดความหมาย แต่ในทางกลับกันยิ่งแสดงให้เห็นว่า 2475 ยังมีความหมาย ยังทันสมัย และยังทรงคุณค่าถึงทุกวันนี้ เพราะถ้าไม่ทรงคุณค่า ถ้าไม่มีความหมาย ชนชั้นนำคงจะไม่หวาดกลัวมรดก 2475 จนถึงทุกวันนี้ และในเวลาที่ชนชั้นนำต้องการทำให้ประชาชนลืมคุณค่าของ 2475 ต้องการลบเลือนความทรงจำของปรีดี พนมยงค์ ออกจากสังคมไทย

จึงเป็นเวลาของพวกเราที่จะต้องทำให้ประชาชนจดจำและตระหนักถึงคุณค่าเหล่านั้น

เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ตรงนี้ นอกจากประวัติของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องรำลึก ยังมีบุคคลอีกมากมายที่ถูกรัฐไทยทำร้ายและทำลาย เพราะพวกเขาไม่ยอมรับเรื่องเล่าหลักของประเทศ ไม่ยอมรับความคิดชี้นำของรัฐ พวกเขาถูกทำร้ายและถูกทำลายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเนรเทศออกนอกประเทศอย่างในกรณีของนายปรีดี การลอบสังหารในกรณีของ 4 รัฐมนตรี การอุ้มหายในกรณีของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ จนถึงวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ การใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อทำลายผู้เห็นต่าง ตั้งแต่อากง (อำพล ตั้งนพกุล) จนถึงบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม

ที่แห่งนี้จึงเป็นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของผู้ที่ไม่ยอมจำนน ของผู้ที่แข็งขัน เรียกร้องสังคมที่ดีกว่าเพื่อคนรุ่นต่อไป เป็นสถานที่ที่บันทึกความเลวร้ายของรัฐไทย ที่กระทำต่อผู้เห็นต่าง ที่กระทำต่อผู้ไม่ยอมรับเรื่องเล่าหลักของประเทศ

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงซื้อบ้านหลังนี้ เป็นการซื้อบ้านหลังนี้เพื่อปกป้องความทรงจำ เพื่อปกป้องคุณค่า และเพื่อถ่ายทอดความทรงจำและคุณค่าเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อไป เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่พวกเขาได้รับอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ได้มาฟรีๆ แต่มาจากการต่อสู้และเรียกร้องของคนรุ่นก่อนหน้าเขา และเป็นหน้าที่ของพวกเขา ที่จะต้องปกป้องมัน เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปอีกทีหนึ่ง”

ธนาธรกล่าวว่า บ้านหลังนี้จะถูกใช้เพื่อ

1. เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม บอกเล่านำเสนอเรื่องราวของการอภิวัฒน์สยาม คุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและการดำรงอยู่ของครอบครัวพนมยงค์ในบ้านหลังนี้ ต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่สนใจ

2. เป็นที่พักสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ และอยากมาสัมผัสบรรยากาศของบ้าน โดยจะนำรายได้จากส่วนนี้มาใช้ในการดูแลบ้าน

และ 3. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับคนไทยและนักเรียนไทยในยุโรป ทั้งการเมือง ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์

“ผมฝันเห็นพื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการนำแสดงงานศิลปะของศิลปินคนไทย งานเปิดตัวหนังสือของนักเขียนไทย ผมอยากเห็นพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนทางความคิด ทางการเมือง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทางสังคมวัฒนธรรม ให้คนไทยที่มีความคิดก้าวหน้าได้มาวิวาทะ เพื่อตกผลึกทางปัญญา และเป็นแสงเทียนชี้นำสังคมในอนาคตต่อไป”

ธนาธรกล่าวว่า มองบทบาทของตัวเองเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ชั่วคราว มากกว่าจะมองบทบาทของตัวเองเป็นเจ้าของอย่างถาวร เพราะอย่างไรเสีย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นเพียงปัจเจก การถือครองบ้านที่สำคัญขนาดนี้ในนามของปัจเจก ก็เป็นการรำลึกถึงความสำคัญของบ้าน ของประวัติศาสตร์ 2475 และของอาจารย์ปรีดีในนามปัจเจก

“ผมหวังว่าบ้านหลังนี้ในอนาคต จะตกอยู่ในมือของผู้ที่ควรจะเป็นเจ้าของจริงๆ นั่นก็คือรัฐไทย และประชาชนไทย หากวันใดที่รัฐไทยพร้อม ผมก็พร้อมที่จะยกบ้านหลังนี้ให้กับรัฐไทย โดยไม่คิดกำไรใดๆ และนั่นหมายความว่า บ้านหลังนี้จะถือครองโดยรัฐ จะถือครองโดยประชาชน ไม่ใช่โดยปัจเจก”

“เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันจะหมายถึงรัฐไทยยอมรับในความสำคัญของการอภิวัฒน์สยาม ยอมรับในคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ ยอมรับความผิดพลาดในอดีตที่รัฐกระทำต่อผู้เห็นต่าง ยอมรับในคุณค่าประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเท่าเทียม นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุด รัฐไทยยอมรับในหลักการของคณะราษฎร ในหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐไทยจะยอมรับในหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

แต่อย่างน้อยที่สุดในขณะนี้ “บ้านอองโตนี” ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง