เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (6) พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้

อุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาจากแรงบันดาลใจ เช่น บุคคลได้บรรลุธรรมแล้วเปล่งอุทานออกมา ส่วนมากเป็นบทกวี หรือไม่ก็เป็นร้อยแก้ว ที่มีถ้อยคำสละสลวยคล้ายบทกวี อุทาน ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขุททกนิกาย ในสุตตันตปิฎก (พระไตรปิฎกเล่มที่ 25) เป็นพระสูตรสั้นๆ บอกที่มาที่ไปของอุทานนั้น ๆ เช่นพระพุทธองค์ประทับที่ไหน ทรงพบใคร เปล่งอุทานว่าอย่างไร มีทั้งหมด 82 สูตร นอกจากนี้แล้วยังมีในที่อื่นด้วย เช่น ธรรมบทบ้าง สังยุตตนิกายบ้าง

ถ้าถามว่า หลังตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานอะไรออกมาเป็นอุทานแรก ตอบได้ว่า มี 2 อุทาน

ไม่ทราบแน่ชัดว่าอย่างไหนเป็นอุทานแรก อย่างไหนเป็นอุทานหลัง

ในอรรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) กล่าวว่า ทันทีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ

คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหิสิ

สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

แปลว่า

เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่สังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

นายช่างผู้สร้างเรือนเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว จันทันอกไก่เราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว

“นายช่างผู้สร้างเรือน” ในที่นี้หมายถึงตัณหาเพราะตัณหาความอยาก 3 ประเภทนี้เองที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น เรียกว่าวงจรแห่งสังสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่บรรลุพระนิพพาน “จันทัน อกไก่” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ ส่วน “เรือนยอด” หมายถึง อวิชชา

พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหา พร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว

ส่วนในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ได้กล่าวว่าหลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปัจจยตา ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม (ย้อนลำดับ) ทั้งฝ่ายเกิดทุกข์ และฝ่ายดับทุกข์ ทรงเปล่งอุทาน 3 บท ในปฐมยามบทหนึ่ง มัชฌิมยามบทหนึ่ง และปัจฉิมยามบทหนึ่ง

ในปฐมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(1) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺนา

อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา

ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ

ในมัชฌิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(2) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา

อาตาปิโณ ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา

ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ

ในปัจฉิมยามทรงเปล่งอุทานว่า

(3) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา

อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส

วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ

สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ

แปลว่า

(1) เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป เพราะรู้ความดับสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย

(2) เมื่อใดธรรม (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป เพราะรู้ความดับสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย

(3) เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นเขาย่อมขจัดมารและเสนามารดำรงอยู่ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขจัดความมืด ยังท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น

ถ้าปุจฉาว่า ระหว่างอุทานบทแรก (อเนกชาติสํสารํ…) กับอีก 3 บท (ยทา หเว…) บทไหนเป็นบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งหลังตรัสรู้ ก็เห็นจะวิสัชนาว่า ไม่ทราบครับ

ก็เห็นจะมีแต่เณรน้อยอิกคิวซังเท่านั้นที่จะตอบได้