‘Memoria’ : ‘เสียง’ กับ ‘ความทรงจำ’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

ปกติแล้ว เรามักระลึกถึง “ความทรงจำ” ต่างๆ ผ่านภาพ เหตุการณ์ ตัวบุคคล หลักฐานลายลักษณ์อักษร หรือวัตถุนานาชนิดที่จับต้อง-มองเห็นได้

แม้ “เสียง” จะเป็น “หลักฐาน/วัตถุพยานทางความทรงจำ” อีกหนึ่งประเภท แต่ดูเหมือนมันจะซุกซ่อนอยู่ลึกมากๆ ภายใต้ชั้นดินของประวัติศาสตร์อันทับซ้อนยาวนาน ซ้ำยังพร่าเลือนจางหายไปได้โดยง่ายดายอีกด้วย

จึงมีอยู่บ่อยครั้งที่มนุษย์สามารถจดจำภาพเหตุการณ์บางอย่างได้ไม่มีวันลืมเลือน แต่เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป พวกเขาและเธอกลับหลงลืมหรือไม่ได้ยิน “เสียง” ที่เคยดังก้องขึ้นในเหตุการณ์เดียวกัน

และแม้หลายคนอาจเอ่ยอ้างว่าตนเองสามารถหวนนึกถึงอดีต ผ่านการรับฟังบทเพลงหรือคำปราศรัยที่ทรงพลังจากห้วงหลายปีก่อนได้อย่างกระจ่างแจ้ง

แต่ “เสียงเพลง” หรือ “เสียงพูด” ที่ได้รับการระลึกถึง ก็คล้ายจะมีสถานภาพเป็น “เรื่องเล่า” (กระทั่งกลายรูปเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ในกรณีของเนื้อเพลงหรือการถอดเทปเนื้อหาคำปราศรัยสำคัญๆ) มากกว่าจะเป็น “เสียง” ที่มีคุณค่า-ชีวิตในตัวของมันเอง

หรือถ้าลองจี้ถามแต่ละคนว่าพวกคุณได้ยิน “เสียง” อะไรบ้าง? ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553

คำตอบที่ได้รับอาจเป็น “ความเงียบงัน-คลุมเครือ” มากกว่าจะเป็น “ความชัดเจน-แม่นยำ”

ด้วยเหตุนี้ การค่อยๆ ร้อยรัดถักทอ “เสียง” ให้ผสานเป็นเนื้อเดียวกับ “ความทรงจำ” ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง “Memoria” ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“Memoria” พาเราไปทำความรู้จักกับ “เจสสิกา” (ทิลดา สวินตัน) นักเพาะกล้วยไม้ ผู้เดินทางไปดูแลน้องสาวซึ่งล้มป่วยลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่ประเทศโคลอมเบีย

ณ ที่แห่งนั้น จู่ๆ เจสสิกาก็ได้ยิน “เสียงปังปริศนา” ดังขึ้นในหัว/การรับรู้ของเธอ

ก่อนที่เธอจะนำพาคนดูไปร่วมกันค้นหาว่า “เสียงปริศนา” ดังกล่าวคือเสียงของอะไร

ผ่านการเดินทางจากพื้นที่เมืองสู่ชนบท หรือการเปลี่ยนแปลงวิธีแสวงหาความรู้ จากการพึ่งพาศาสตร์สมัยใหม่ สู่การหันไปหาวิธีวิทยาแบบโบราณคดีและการใช้อารมณ์ความรู้สึก

ภายในโครงสร้างเรื่องราวที่ถูกแบ่งแยกอย่างเลือนๆ ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ตามขนบ “หนังอภิชาติพงศ์”

กระบวนการไขปริศนาเรื่อง “เสียงปัง” ของเจสสิกานั้นโลดโผนโจนทะยานและแปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่ง

เธอเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ดังก้องอยู่ในการรับรู้ของตนเอง ด้วยการเข้าไปขอความช่วยเหลือจาก “ซาวด์ดีไซเนอร์/ซาวด์เอนจิเนียร์/นักดนตรีหนุ่ม” ชื่อ “เอร์นัน”

นอกจากการคัดสรร “เสียงประดิษฐ์” ที่ใกล้เคียงกับ “เสียงปริศนา” ในหัวเจสสิกามากที่สุดแล้ว ก็เหมือนว่าชายหนุ่มจะช่วยเหลือเธอไม่ได้มากนัก (ไม่รวมการสานสายสัมพันธ์ระยะสั้นๆ ซึ่งยุติลงอย่างงงๆ)

ถัดมา เจสสิกาตัดสินใจไปพบหมอเพื่อขอยา “ซาแน็กซ์” แต่คุณหมอสตรีอาวุโสกลับแนะนำให้เธอลองไปศึกษาคำสอนของพระเยซู

ในครึ่งแรกของภาพยนตร์ “ภารกิจตามหาเสียงประหลาด” ของเจสสิกาจึงผูกพันอยู่กับกระบวนการทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

แม้คำแนะนำให้คนไข้เข้าหาศาสนาของคุณหมอจะฟังเป็นเรื่องตลกร้าย แต่หากตีความว่านั่นคือคำชี้แนะที่บอกว่าเจสสิกาควรเสาะแสวงหาที่มาของ “เสียงในหัว” ผ่านกิจกรรมทางด้านจิตวิญญาณดูบ้าง

ความปรารถนาดีของแพทย์หญิง ก็อาจถือเป็น “รู” “โพรง” หรือ “เส้นทางสายใหม่” ที่ผลักดันเราให้เคลื่อนคล้อยไปยังช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์

ณ ประเทศโคลอมเบียเช่นกัน เจสสิกามีโอกาสสานก่อมิตรภาพกับนักโบราณคดีหญิงอีกราย ซึ่งแนะนำให้เธอรู้จักเมืองต่างจังหวัด ที่กำลังมีการก่อสร้างอุโมงค์เดินรถ จนได้ขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีและโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

นักโบราณคดีผู้นี้อาจไม่ได้ช่วยเหลือเจสสิกาโดยตรง แต่งานขุดค้นของเธอและการตามหา “เสียงปริศนา” ของเพื่อนใหม่ จะค่อยๆ กลายเป็นกระบวนการคู่ขนานหรือ “อุปลักษณ์” ของกันและกัน

ริมลำน้ำของเมืองชนบท เจสสิกาได้พบกับ “เอร์นัน” (อีกคน?) ชายหาปลา/แล่ปลาวัยกลางคน ผู้เปี่ยมล้นความทรงจำ และมีความเชื่อว่ายิ่งมนุษย์สั่งสมประสบการณ์มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความทรงจำ/ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“เอร์นันคนหลัง” นี่เองที่ทำให้เจสสิกาเริ่มตระหนักว่า “เสียง” ซึ่งเป็น “ความทรงจำ” ว่าด้วย “บาดแผลส่วนบุคคล” “บาดแผลของชุมชน” หรือ “บาดแผลของประเทศชาติ” ล้วนซุกซ่อนอยู่ตามสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซุกซ่อนอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งยังซุกซ่อนอยู่ในตัวตนของบุคคลด้วย

ดังนั้น การจะค้นพบว่า “เสียงปังปริศนา” คือเสียงของอะไร และ “เข้าใจ” สถานะ-ตำแหน่งแห่งที่ของมันอย่างถ่องแท้ จึงทำได้ผ่านการ “สัมผัส” วัตถุสิ่งของ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สัมผัสแตะต้อง” บุคคล-เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ที่อาจเคยได้ยินเสียงแบบเดียวกัน หรือซึมซับสืบทอด “ความทรงจำ” ของ “เสียง” ดังกล่าว มาจากคนอื่นๆ อีกที)

ก่อนที่เราจะค่อยๆ กลืนกลายเข้าไปอยู่ในตัวตนของบุคคลคนนั้น หรือเข้าใจ-เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของ (พวก) เขา

พูดอีกอย่างได้ว่า การไขปริศนาเรื่อง “เสียงลึกลับ” ในหัวเจสสิกา จะถูกปกคลุมด้วยความมืดดำต่อไป หากเธอยังคงมุ่งมั่น “รับฟัง” มันด้วย “โสตประสาท”

ทว่า ภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อเธอพยายาม “รับฟังเสียงปัง” ผ่านการ “สัมผัส” เพื่อนมนุษย์ หรือพยายาม “เข้าอกเข้าใจ” ตัวตน บาดแผล อารมณ์ความรู้สึกภายในของบุคคลอื่น ตลอดจน “ความทรงจำร่วม” ที่เขาแชร์กับ “เหล่ามิตรสหาย-บรรพชนร่วมสังคม”

นี่คือวิธีการเสาะแสวงหาคำตอบที่ต้องขุดลึกลงไปถึงตัวตน-การดำรงอยู่ของมนุษย์ (ไม่ต่างจากเพื่อนนักโบราณคดีของเจสสิกา) ในภาวะที่เทคโนโลยี/วิศวกรรมด้านเสียงหรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวช่วยได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

“Memoria” จึงฉายให้เราเห็น “ภาพและเสียง” ว่าด้วยกระบวนการทำงานของ “ความทรงจำ” ที่สลับซับซ้อนและลุ่มลึกยิ่งกว่าประเด็นเรื่อง “การจำ” “การลืม” “การจำถูก” “การจำผิด” หรือ “การเลือกจะจำหรือลืมอะไรบางอย่าง” (ซึ่งเป็นประเด็นปลีกย่อยที่หนังกล่าวถึงบ้างเล็กน้อย)

ท้ายสุด ไม่ว่า “เสียง” ในฐานะ “หลักฐาน/วัตถุพยานทางความทรงจำ” จะถูก “จดจำ” หรือ “ลืมเลือน” แต่ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น” ประเภทนี้ ก็จะดำรงอยู่อย่างเกลื่อนกล่นกลืนกินไปกับธรรมชาติ วิถีชีวิตสามัญปกติ และตัวตนของผู้คน ไม่ต่างอะไรกับ “เชื้อรา-แบคทีเรีย” ที่ขึ้นอยู่บนกล้วยไม้ของเจสสิกา

“เสียง” และ “สิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ” เหล่านี้ คือภาพแทน “ประวัติศาสตร์-ความทรงจำ” ของมนุษย์เดินดินธรรมดาๆ ที่บ่อยครั้งถูกมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญ

แต่ก็มีบางครั้ง ที่พวกมันกลายเป็น “จุดตำหนิ-รอยมลทิน-โรคาพยาธิ” ที่บางคนอยากขจัดทิ้งให้สิ้นซาก หรือมีบางคราว ที่มันแปรสภาพเป็น “ปมปัญหาค้างคาใจ” ที่บางคนอยากชำระสะสางให้เกิดความแน่ชัด

พูดตามภาษาของ “อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล” (ตรงเนื้อหาส่วนท้ายๆ ในหนังสือ “Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok”)

“เสียงปังปริศนา” ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” กำลังย้ำเตือนให้ผู้ชมได้รับทราบว่า ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่กับเรา ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของพวกเราทุกคนในทุกวันนี้ และประวัติศาสตร์ยังดำรงอยู่ในตัวตนของพวกเราด้วย