คุยอดีต รมว.ต่างประเทศ ไทยกับศักดิ์ศรีบนเวทีโลก ยุคนี้น่าอับอาย เงียบอมตุ่ย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว?/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

คุยอดีต รมว.ต่างประเทศ

ไทยกับศักดิ์ศรีบนเวทีโลก

ยุคนี้น่าอับอาย เงียบอมตุ่ย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว?

 

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มองบทบาทไทยในเรื่องวิกฤตรัสเซีย ยูเครน ว่าตัวเราเองน้ำหนักไม่พอ แล้วคิดว่าผู้นำของเราไม่ชาญฉลาด หรือเก่งกล้าในเรื่องการต่างประเทศ แล้วก็ไม่อยากจะยุ่ง

การจะทำอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาของภูมิภาคหรือระดับโลกนั้น เราน่าจะทำในกรอบของประชาคมอาเซียน คือทำร่วมกัน 10 ประเทศแล้วมีพี่ใหญ่คืออินโดนีเซียเป็นประเทศอิสลามที่ใหญ่ที่สุดและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ประชากรก็มากที่สุด เพื่อร่วมทำอะไรกันโดยมีอินโดนีเซียเป็นแกนของอาเซียน เราก็คงจะมีน้ำหนักในการที่จะเสนอข้อคิดเห็นแล้วก็หาทางออก เพราะว่าอินโดนีเซียสามารถที่จะพูดในนามของพวกเราได้ที่สหประชาชาตินั้นเป็นเวทีหนึ่ง

กับประการต่อมา ปีนี้อินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่ม 20 ขณะที่ไทยเป็นประธานกลุ่มเอเปค เราก็สามารถที่จะร่วมมือกันได้ ใช้เวทีเหล่านี้ เพราะว่าในกลุ่มเอเปคมันก็มีรัสเซีย สหรัฐ จีน

ที่สหประชาชาติ ทุกคนก็อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้น อินโดนีเซียในนามของอาเซียน เราอาจจะเข้าไปช่วยอินโดนีเซียและมีการส่งเสียงเพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพและไม่มีการสงคราม เพราะเราตระหนักดีว่าการสงครามมันไม่ได้มีผลประโยชน์หรือดีอะไรกับใครเลยทั้งสิ้น

สำหรับศักดิ์ศรีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ผมคิดว่ามันเป็นความจงใจของนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีต่างประเทศมากกว่าที่ไม่อยากจะมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

อันนี้ด้วยเหตุผลอะไรผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นนโยบายที่ pro active คือไม่รุกคืบ ไม่ก้าวหน้า เราแทบจะไม่มีข้อคิดเห็นอันใด อย่างเรื่องแม่น้ำโขงตอนบน เรื่องทะเลจีนตอนใต้ เรื่องข้อพิพาทระหว่างปากีสถานกับอินเดีย เรื่องของอินเดียกับจีน เรื่องอินโด-แปซิฟิก เรื่องของการก่อการร้ายสากล เรื่องจีนกับไต้หวัน เรื่องที่ซีเรีย เรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน กรณีปาเลสไตน์กับอิสราเอล

มาจนถึงวันนี้เรื่องยูเครนกับรัสเซีย ไม่ได้มีเสียงออกมาจากรัฐบาลไทยหรือจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หรือว่าจากโฆษกจากทำเนียบรัฐบาล ว่าคิดอ่านอย่างไร

ที่สำคัญที่สุดในสายตาของกษิตก็คือว่า ไม่ได้มีการอภิปรายในสภาของเรา ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือว่ารัฐสภาที่ร่วมกันทั้งสองสภา

แบบนี้เสมือนกับว่าเราทั้งประเทศไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้ไม่ชี้ความเป็นไป มันก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

แต่วันนี้หากจะแสดงบทบาทก็ไม่ช้าเกินไป เพราะเราเคยมีบทบาทนำอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศเป็นที่โดดเด่น เราคงจำถึงอดีต รมว.ต่างประเทศ ถนัด คอมันตร์ เรามีบทบาทโดดเด่นมาก

ถ้าจะให้พูดง่ายๆ คือ คิดว่านี่เป็นเรื่องของการเสียโอกาสในการที่จะแสดงท่าทีเพื่อศักดิ์ศรี และเราก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยคือประวัติศาสตรทางการทูต ถามว่ามีกี่ประเทศที่เมื่อ 400-500 ปีที่แล้วส่งคณะทูตไปยุโรป และมีกี่ประเทศที่องค์พระมหากษัตริย์ของเราเสด็จเยือนต่างประเทศ (ในสมัยรัชกาลที่ 5) แล้วมีกี่ประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ได้ส่งทหารร่วมกับพันธมิตรเอาชนะพวกเยอรมนีด้วย

นี่คือความโดดเด่น

แล้วก็มีพระองค์วรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา ที่เคยเป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติ หรือก่อนหน้านั้นสันติบาตนานาชาติ ท่านก็มีบทบาทแล้วท่านเป็นนักการทูตหนุ่มอยู่ในสมัยนั้น เราก็มีบทบาทต่างๆ เหล่านี้มามาโดยตลอด อดีตเราเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนอีกด้วย

หรือช่วงหนึ่งในยุคท่านปรีดี พนมยงค์ เราก็มีบทบาทของผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราก็มีบทบาทเด่นมา

หรือการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขันในสมัยท่าน พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็น รมว.ต่างประเทศ ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ เราก็สามารถป้องกันประเทศ ป้องกันอาเซียน เรายืนหยัดและต่อสู้ รวมถึงขับเคลื่อนเรื่องประชาคมอาเซียนแข็งขัน ทั่วโลกก็มาทำการค้ามาท่องเที่ยว

เรากลายเป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาตนเอง เราแปลงสภาพจากประเทศที่รับความช่วยเหลือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

นี่คือความสง่างามของการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย แต่น่าเสียดายถ้าเราจะนั่งอมตุ่ยอยู่เฉยๆ แล้วก็ไม่ทำอะไร ไม่รู้สึก ไม่ขยับใดๆ

 

กษิตเห็นว่า ณ วันนี้เราควรจะมีบทบาทอย่างสูงในการแก้ไขปัญหารัฐประหาร ที่พม่า ซึ่งมีแนวโน้มของการที่จะมีสงครามกลางเมือง และเราก็มีปัญหาของผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่ชายแดนไทย มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรมซึ่งเราก็ยังไม่ได้ทำอะไรอย่างเป็นกิจจะลักษณะในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประเพณีวัฒนธรรมให้การช่วยเหลือมาตลอดประวัติศาสตร์ของเรา แล้วเราก็เป็นชาวพุทธ เรามีศาสนา ดังนั้น การช่วยเหลือคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเป็นสิ่งที่สำคัญ

แต่เราก็ยังเห็นความชาเย็นและนิ่งเฉยอยู่ในวันนี้หรือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวผมคิดว่านายกฯ ได้เห็นโลกอะไรมาก และรัฐมนตรีต่างประเทศก็เคยเป็นทูตมาก่อน เป็นนักเรียนนอก เขารู้เรื่องปัญหาทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าเขาได้ใช้องค์ความรู้เหล่านั้นมาประมวลแล้วจะทำอะไรหรือไม่ แล้วทำไมถึงไม่ทำอะไร

ถ้าให้วิจารณ์ก็อาจจะไปกระทบตัวบุคคล มันก็จะเกิดการไม่ชอบหน้ากัน แต่ต้องถามว่าทำไมท่านไม่ทำอะไรเพราะมีเรื่องมากมาย ปัญหาเต็มไปหมด

เราจะคึกคักแค่บางเรื่องไม่ได้ เช่น การจะส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ความสัมพันธ์ชาเย็นมาเกือบ 30 ปี แค่นี้ไม่ได้ มันยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะ

เรื่องปัญหาแรงงานจากลาวจากเขมรเวียดนาม 7-8 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหา มันก็จะย้อนความไปถึงการค้าแรงงานปัญหาการค้ามนุษย์ มันเป็นปัญหาองค์รวม ทั้งที่เราเป็นประชาคมอาเซียน ควรจะมีความเสรีของการหมุนเวียนแรงงานทุกประเภท ควรจะมีการสื่อสารกับผู้นำมิตรประเทศ

วันนี้ถามว่าเรามีแผนแม่บทหรือไม่ในการจัดเตรียมบุคลากรของเราเอง กรณีส่งแรงงานไปทำงานต่างแดน ว่าพวกเขาจะได้รับความยุติธรรมอย่างไรในการที่จะต้องไปทำงาน เพื่อไม่ให้ถูกรังแกกดขี่ ความเป็นอยู่ ซึ่งการปกป้องคุ้มครองทั้งหมดนี้มันจะต้องมีแผนป้องกัน ต้องมีแผนเจรจากับรัฐบาลนั้นๆ ให้เป็นกิจจะลักษณะ คุณจะมอบภารกิจนี้ให้กับกระทรวงแรงงานเท่านั้นไม่พอ มันต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ

อย่างในประเทศเราต้องการแรงงาน 5-6 ล้านคน ถามว่าทำไมยังมีแรงงานเถื่อนอยู่?

มันมีประเด็นปัญหาอะไรในการขึ้นทะเบียน ณ วันนี้เรามีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถเก็บประวัติทุกอย่างได้ สามารถหาได้ว่าตลาดต้องการแรงงานเท่าไหร่ สามารถทำข้อมูลได้ หรือเรื่องประมงก็ยังเป็นเรื่องที่น่าอับอายเพราะเราค้าทาสบนเรือประมง มีการบังคับขู่เข็ญแรงงานหลายอย่าง มีการใช้ความรุนแรงใช่หรือไม่

นี่คือความอดสูของประเทศ แล้วมันก็จะเป็นความขายหน้าของคนไทยทั้งชาติ แล้วทางส่วนราชการและภาคการเมืองก็ยังไม่คึกคักเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่มันยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนานเหล่านี้

 

กษิตย้ำว่า ประเทศเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์อยู่มากมาย เรามีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจตระเวนชายแดน มีกองทัพทั้ง 4 ภาค มีหน่วยข่าวกรอง มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ แถมเรามีหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยและมีกลไกกำนันผู้ใหญ่บ้านอีก

มันอยู่ที่ว่าเราเอาจริงเอาจังกับปัญหาการค้ามนุษย์แค่ไหน

ผมมองว่าประเด็นปัญหาทุกอย่างแก้ได้ ป้องกันได้ แต่ที่มันมีความลื่นไหลเพราะมาจากมีความไม่ชอบและมีคนหาประโยชน์เข้าตน ปิดหูปิดตา

ยกตัวอย่างคนต้องการลี้ภัยหนีสงคราม ความรุนแรงเข้ามาไม่ได้ แต่ถามว่าทำไมแรงงานเถื่อนเข้ามาได้? นี่แปลว่ามีกระบวนการหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าหน่วยงานด้านความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรมไม่เอาจริงเอาจัง ทั้งที่เราก็มีแม่ทัพคนเดิม ตำรวจชุดเดิม ผมมองว่ามันทำได้เรื่องทั้งหมดนี้ แต่เราไม่เคยเดินไปถึงขั้นตอนเหล่านั้น

แม้แต่เรื่องยาเสพติดเข้ามาที่ชายแดนไทยได้อย่างไร ดังนั้น ทุกปัญหา ค้าแรงงาน ค้าอาวุธ ยาเสพติดมันสามารถจัดการปัญหานี้ได้หมด แต่ถามว่าผู้มีอำนาจหรือใครที่เกี่ยวข้องกล้าชนหรือไม่ ที่จะไปยุ่งกับระบบอุปถัมภ์หรือไม่ มันเป็นเรื่องของการร่วมมือกันทุกฝ่าย

สื่อเองก็ต้องเป็นแกนสำคัญ ในการตรวจสอบลงลึกให้มากที่สุด

ชมคลิป