ไทยในภาวการณ์แข่งขัน มหาอำนาจจีน-สหรัฐ/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ไทยในภาวการณ์แข่งขัน

มหาอำนาจจีน-สหรัฐ

 

ประเทศไทยควรจะวางตัวอย่างไรกับมหาอำนาจที่เข้ามาเล่นบทบาทต่างๆ ในเอเซีย-แปซิฟิก หรือที่วันนี้สหรัฐเรียกว่า Indo-Pacific?

เป็นคำถามที่ท้าทายความสามารถของประเทศในทุกๆ มิติ…โดยเฉพาะทางด้านการทูต

บางครั้งแค่ “ลู่ตามลม” ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัย

อาจเป็นเพราะบางครั้งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจนั้นไม่ใช่แค่ “ลม” หากแต่เป็น “พายุ” ที่หนักหน่วงและรุนแรง

และแม้เราจะ “ลู่ก่อนลม”

ก็อาจจะไม่สามารถรักษาสถานภาพที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศก็ได้

ในหนังสือหนังสือชื่อ “Thai Diplomacy : In Conversation with Tej Bunnag” ที่ผมเขียนเล่ามาในสัปดาห์ก่อนก็มีคำถาม-คำตอบประเด็นนี้กับคุณเตช บุนนาค ที่น่าสนใจยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ผู้สัมภาษณ์และทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคือคุณอนุสนธิ์ ชินวรรโณ อดีตเอกอัครราชทูตและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ หรือ International Studies Center (ISC) ของกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้สัมภาษณ์ถามคุณเตชว่ามองว่าประเทศไทยเรามีความช่ำชองในการพาตัวเราให้รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาได้อย่างไร

คําถาม : ในเมื่อเอเชีย-แปซิฟิกหรืออินโด-แปซิฟิกไม่เคยขาดบทบาทของประเทศมหาอำนาจ ท่านมองว่าประเทศไทยเราได้มีความสามารถในการตั้งรับการแข่งขันของประเทศใหญ่ๆ เหล่านี้อย่างไรบ้าง?

คุณเตชตอบ : ก็ให้เขาแข่งขันกันไป!

จะว่าไปแล้ว การแข่งขันระหว่างประเทศใหญ่ๆ นั้นเป็นประโยชน์ต่อเราด้วยซ้ำ เมื่อยี่สิบปีก่อน รัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ พูดถึง “Equidistance” (การวางตัวให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน) มันน่าสนใจตรงที่ว่าจะว่าไปแล้วสิ่งที่เรียกว่า Equidistance มันไม่มีอยู่จริง ว่ากันในทางกายภาพแล้ว มันเป็นไปไม่ได้

ประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ห่างจากเราด้วยระยะทางที่เท่ากัน

จีนและไทยตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของเอเชีย ในขณะที่ในด้านกายภาพแล้วแผ่นดินสหรัฐที่ใกล้ที่สุดถึงเราน่าจะเป็นเกาะกวม นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะต้องมองไปที่ฮาวาย เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาคือวอชิงตัน ดี.ซี. และเมืองหลวงทางเศรษฐกิจคือนิวยอร์ก ทั้งสองเมืองอยู่บนชายฝั่งทะเลแอตแลนติก จึงเป็นเรื่องปกติที่สหรัฐมักจะมองไปทางทิศตะวันออก คือมองไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังยุโรปมากกว่ามองมาทางตะวันตกหรือมหาสมุทรแปซิฟิกถึงเอเชียตะวันออก

ท้ายที่สุดแล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีเชื้อสายยุโรป ไม่ว่าจะเป็นแองโกล-แซกซอน หรือเยอรมัน เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์ หรือไอริชอย่างประธานาธิบดีเคนเนดี้ พวกเขาย่อมจะมองไปที่ยุโรปมากกว่าที่จะข้ามไปแปซิฟิกอันเป็นถิ่นที่อาศัยของชาวเอเชียผู้ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป

แม้ว่า Equidistance จะเป็นกรอบความคิดที่เป็นประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องยากเพราะเราก็มักจะมีความรู้สึกสนิทกับคนเอเชียด้วยกัน

สำหรับคนไทยเราแล้ว เราก็มักจะมีความใกล้ชิดกับเพื่อนที่อยู่บนแผ่นดินมากกว่า เช่นเราจะมีความสนิทสนมกับเพื่อนเราในจีนมากกว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างไปบ้าง ในขณะเดียวกันเราก็จะใกล้ชิดกับจีนมากกว่าประเทศที่เป็นหมู่เกาะ

แม้ว่าผมจะตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิด Equidistance แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าการมีหลายขั้วในอินโดแปซิฟิกช่วยเราอย่างมาก ทำให้เรามีพื้นที่ในการขยับตัวมากขึ้น และมีศักยภาพในการขับเคลื่อนตัวเราเองมากขึ้น การจะขยับขับเคลื่อนนั้นเราต้องมีความชำนาญ เราไม่สามารถใช้แนวทางเดียวต่อทุกๆ คน

เราต้องรู้จักแยกแยะ ก็ต้องกลับไปสู่คำอธิบายของผมที่ว่าการทูตต้องยืดหยุ่น คล่องตัว และแยกแยะให้เหมาะสมในการจัดการบริหารความสัมพันธ์ของเรากับจุดอำนาจทั้งหมดเหล่านี้ในอินโดแปซิฟิก

 

มีคำถามต่อว่าไทยเรามีความพร้อมในการขยับขับเคลื่อนในเวทีระหว่างประเทศเพียงใด

คุณเตชบอกว่ามันขึ้นอยู่กับเสถียรพภาพของรัฐบาลเองและการสนับสนุนที่นายกรัฐมนตรีมอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

และความสามารถของรัฐมนตรีผู้นั้นในการดำเนินการทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีต่างประเทศคนเด่นๆ ของเราที่ผ่านมาก็มักจะต้องออกแรงพอสมควรในการโน้มน้าวให้ส่วนอื่นๆ ของรัฐบาลให้ยอมเดินตามที่ท่านๆ นำเสนอ

ยกตัวอย่างท่านรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องพยายามโน้มน้าวคนอื่นๆ ในรัฐบาลว่านโยบายปรับความสัมพันธ์กับจีนให้เป็นปกติเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

ก่อนหน้านั้นถ้าเราย้อนไปในสมัยของ ดร.ถนัด คอมันตร์ ท่านก็ต้องพยายามโน้มน้าวและชักชวนรัฐบาลให้ยอมรับความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาค

ดังนั้น ความสามารถส่วนตัวของรัฐมนตรีต่างประเทศคือปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการดำเนินการทางการทูตของเรา

 

คําถามที่สำคัญต่อมาคือประเทศไทยควรจะวางตัวอย่างไร และดำเนินนโยบายอย่างไรในบรรยากาศการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนที่บางคนเรียกว่าเป็น “สงครามเย็นรอบใหม่”

เป็นคำถามที่ผมเชื่อว่าคนไทยที่ติดตามข่าวสารทั้งหลายต้องการรู้ว่าความเห็นของมือการทูตรุ่นเก๋าอย่างคุณเตชเห็นอย่างไร

คุณเตชบอกว่าประเด็นนี้มี 2 ระดับ คือ ระดับของประเทศไทยเราเองและและระดับประเทศไทยร่วมกับอาเซียน

เราเป็นประเทศเล็กเกินกว่าที่จะทำอะไรคนเดียวในบริบทของการแข่งขันและการยื้อแย่งอำนาจของมหาอำนาจที่คุกคามสันติภาพของโลก

ผมคิดว่าสิ่งที่ประเทศต้องทำและต้องเกลี้ยกล่อมเพื่อนบ้านอาเซียนของเราให้ร่วมใจกันทำคือการเป็นสะพานเชื่อมที่ดีระหว่างจีนกับสหรัฐ

สะพานที่ว่านี้มีหลายระดับชั้นเหมือนสะพานใหญ่ที่มีทั้งถนนและทางรางรถไฟ

ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นไทยเองหรือร่วมกับอาเซียน เราต้องสนับสนุนและยืนหยัดในหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายระหว่างประเทศ เราต้องพูดในทุกเวทีที่มีเพื่อเตือนประเทศมหาอำนาจที่แข่งขันกันว่าพวกเขาต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือเราต้องพูดที่ WTO ว่าทุกประเทศควรและต้องปฏิบัติตามกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วงเวลาของประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐบ่อนทำลายประสิทธิภาพขององค์กรระหว่างประเทศ

ผมหวังว่าเรื่องทำนองนี้จะยุติลงและสหรัฐอเมริกาจะกลับไปทำงานกับ WTO ในหลายปีที่ผ่านมา กลไกของ WTO ทำงานไม่ได้ผล จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

นอกจากการค้าระหว่างประเทศแล้ว ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาต้องทำตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ในยุค “สงครามเย็นรอบใหม่” ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น จะต้องมีการ “ให้” และ “รับ” ในภาคส่วนต่างๆ

บทบาทของไทยและอาเซียนจะต้องตอกย้ำว่ามันให้ก่อประโยชน์ให้ใครและทั้งฝ่ายต่างก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เราต้องสนับสนุนสิ่งนี้ในทุกเวทีและต้องพูดอย่างนี้ทุกครั้งที่ทำได้

 

ถามว่าคุณเตชมองไทยเราจะมีส่วนสร้างสะพานนี้อย่างไร และสะพานนี้ควรมีหน้าตาอย่างไร

คุณเตชตอบว่า

“ส่วนสำคัญที่สุดของสะพานมีอยู่แล้ว นั่นคือ ASEAN Regional Forum (ARF) ซึ่งเป็นความริเริ่มของไทยเราและก่อเกิดที่กรุงเทพฯ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ”

แนวคิดวิเคราะห์ของคุณเตชไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบันก็น่าจะนำมาใช้สำหรับการวางยุทธศาสตร์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศที่ยิ่งวันจะยิ่งมีความผันผวนและท้าทายมากยิ่งขึ้นทุกที