อ่านอนาคตการเมืองไทย กับ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เป็นไปได้ไหม เพื่อไทยจับมือภูมิใจไทย ในการตั้งรัฐบาลครั้งหน้า/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

อ่านอนาคตการเมืองไทย

กับ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก

เป็นไปได้ไหม เพื่อไทยจับมือภูมิใจไทย

ในการตั้งรัฐบาลครั้งหน้า

 

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับมา หลังการเลือกตั้งซ่อมที่เขตหลักสี่ ล้วนสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ต่อจากนี้ได้ดี ทั้งความขัดแย้งกันภายในซีกรัฐบาล โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการเมืองใหญ่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่กรณีการแยกตัวไปของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพที่สั่นคลอนสูง ด่านที่รัฐบาลต้องเจอจากเสียงในสภาที่เกิดความไม่แน่นอนนี้ ทำให้มีความเสี่ยงมากในการบริหารประเทศ หรือการที่จะผลักดันกฎหมายต่างๆ ในสภาต่อจากนี้ อาทิ พระราชบัญญัติงบประมาณจะมีความเสี่ยงสูงมาก

ด่านต่อไปในอนาคต คือกรณีที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (แบบลงมติ) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน

ภายใต้ความเสี่ยงนี้ รัฐบาลอาจจะอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถที่จะบริหารประเทศได้ตามที่ต้องการ เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย ทำอะไรแบบที่ต้องการไม่ได้

ทำให้จากนี้ไปการบริหารหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ก็จะเกิดอุปสรรคทั้งหมด จนนำไปสู่ปัญหาในขั้นปฏิบัติ จะเกิดปัญหาในการขับเคลื่อนทุกกรณี แล้วจะมีความเสี่ยงสูงต่อการพ่ายแพ้เสียงในสภา

ดังนั้น ช่วงนี้รัฐบาลอาจจะประเมินและตัดสินใจ คิดแล้วคิดอีก หากมีการผลักดันกฎหมายสำคัญในสภาต่างๆ หากประเมินแล้วพบว่ามีโอกาสแพ้สูง รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงพิจารณา

องค์ประชุมจะมีปัญหาต่อเนื่อง ด้วยสภาวะเสียงปริ่มน้ำอย่างมาก จากนั้นรัฐบาลก็จะคิดหนักอย่างมากก่อนถึงช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ชิงยุบสภาก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือไม่ เพราะถ้าหากฝ่ายค้านยื่นอภิปรายสำเร็จแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถยุบสภาได้ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการถูกขับไล่กลางสภา และสภาวะถูกขับไล่แบบนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ หากเขายังคุมเสียงไม่ได้

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากในการชิงยุบสภาก่อน

 

อีกหนึ่งทางเลือกที่เคยเป็นทางออก ในสายตา รศ.ดร.พิชายคือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจไม่ยุบสภา นั่นคือยอมเสียหน้า โดยการทำตามคำเรียกร้องของกลุ่มคุณธรรมนัสแต่เดิมที่เรียกร้อง 2 เก้าอี้ใน ครม.

แต่ ณ วันนี้ความขัดแย้งของคุณธรรมนัสและ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างไปไกล ลึกซึ้ง ยากที่จะประนีประนอมได้อีกแล้ว กลายเป็นว่าภาพที่เกิดขึ้นคือ ทั้งคู่จะไม่ยอมเสียหน้าเด็ดขาด ไม่มีใครยอมกลืนน้ำลายตัวเอง

บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์เองไม่มีทางจะเลือกใช้ไพ่ใบนี้อยู่แล้ว

จึงเหลือแต่ “ไพ่ยุบสภา” เพราะเป็นไพ่ใบเดียวที่พอแสดงให้เห็นว่าตัวเองกุมสภาพได้ โดยไม่มีทางเด็ดขาดที่เขาจะเลือก “ลาออก” เพราะนั่นคือสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป “พรรคพลังประชารัฐ” หมดโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว เนื่องจากปัจจุบันนี้ที่เห็นพรรคพลังประชารัฐได้กระจายออกมาเป็น 4 ส่วน

ส่วนแรกของคุณธรรมนัสที่แยกออกไปตั้งเป็นพรรคใหม่

ส่วนที่ 2 ก็คือพวกที่ตามคุณอุตตม สาวนายน แยกออกไปสร้างพรรคสร้างอนาคตไทย คนใน พปชร.จะแยกออกไปเพิ่มเติมแน่

ส่วนที่ 3 อาจจะไปอยู่ไทยภักดีหรือพรรคใหม่ที่จะมีแนวทางอนุรักษนิยมที่เข้มข้น พรรคที่จะเป็นเครือข่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจยังคงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐเดิม กระทั่งกลุ่มคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน สามมิตรอาจจะกลับไปพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ

ทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้สูงว่า พปชร.จะลดไซซ์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง เว้นแต่มี “เหตุผลพิเศษ” อื่นๆ

ดังนั้น จึงมองว่า อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ในการกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย หรือหนที่ 2 ในการเลือกตั้ง ผมคิดว่าแทบไม่มีอนาคตอีกแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ำมาก หากยังมีระบบการเมืองแบบภายในลักษณะเช่นนี้ เพราะว่าคะแนนนิยมท่านตกต่ำลงมากและไม่ได้เป็นจุดขายจุดแข็งของพรรคการเมืองได้อีกต่อไป รวมถึงไม่มีฐานหรือเครือข่ายพรรคการเมืองที่จะทำให้ได้ ส.ส.จำนวนมากเป็นกอบเป็นกำ จึงยากในการที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ถูกชูเป็นจุดขาย

แม้ว่าตัวของ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีคะแนนนิยมอยู่ในระดับหนึ่งหากไปตั้งพรรคใหม่เป็นของตนเอง ซึ่งอาจได้ 20-30 ที่นั่งแค่นั้น

 

สําหรับหน้าตาของขั้วรัฐบาลใหม่ในอนาคตที่เราน่าจะมีโอกาสได้เห็นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น รศ.ดร.พิชายมองว่า หากเป็นไปตามระบบและตามเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เสียงเกิน 300 เสียง

อาจจะมีพรรคภูมิใจไทยมาเป็นพรรคผสม ถัดมาเป็นพรรคก้าวไกล เพราะแต่เดิมทีมวลชนของทั้งสองพรรคไม่ได้ปฏิเสธซึ่งกันและกัน แต่ว่าพรรคก้าวไกลจะเน้นการเมืองในลักษณะการเมืองแบบใหม่และเน้นในเชิงนโยบายที่ไปแนวทางการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ซึ่งจุดนี้เองอาจจะทำให้การร่วมกับพรรคเพื่อไทยลำบากพอสมควร เนื่องจากพรรคเพื่อไทยค่อนข้างประนีประนอมกับอำนาจเดิมในสังคมไทยมากกว่า

จึงมีความเป็นไปได้แม้ว่ามวลชนอาจจะสนับสนุนให้สองพรรคนี้เป็นพรรคผสม เพราะมวลชนมองว่าทั้งสองพรรคเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

แต่อันที่จริงสองพรรคนี้อุดมการณ์ต่างกันนะ เพื่อไทยจะเป็นอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบใหม่ แต่ก้าวไกลโน้มเอียงไปทางเสรีนิยมและมุ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะดึงพรรคภูมิใจไทยลงมาผสมจึงมีโอกาสมากกว่า เนื่องจากเป็นพรรคแนวคิดอนุรักษนิยมแบบปฏิบัติ ขอให้ได้เข้าร่วมรัฐบาล ขอได้มีโอกาสบริหารประเทศก็พร้อมที่จะเข้าร่วม

โอกาสที่เป็นไปได้ในสูตรผสมนี้คือ การมีพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล

ที่น่าจับตาคือท่าทีของคุณธรรมนัส หลังจากแสดงออกหลายอย่าง ตั้งแต่โพสต์เรื่องศัตรูของศัตรูก็คือมิตร มันหมายความได้ว่า มีโอกาสที่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ศัตรูของเพื่อไทยคือ พล.อ.ประยุทธ์ ศัตรูของธรรมนัสก็คือ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะฉะนั้น จึงมีนัยยะที่ว่าหากเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คุณธรรมมนัสมีแนวโน้มที่จะโหวตให้กับฝ่ายค้านแน่นอน

 

ส่วนอนาคตอันใกล้ ชื่อของคุณทักษิณ ชินวัตร หรือคนในครอบครัว จะยังสามารถขายได้หรือช่วยดึงคะแนนฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่? รศ.ดร.พิชายประเมินว่า คิดว่าคงได้ในระดับหนึ่ง เพราะชื่อของคุณทักษิณในภาคอีสานและภาคเหนือยังมีคะแนนนิยมในมวลชนค่อนข้างสูง สูงกว่าคนอื่นๆ เสมอ

ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะชูใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ คงต้องดูเจตจำนงของผู้มีอิทธิพลต่อพรรคเป็นหลัก แต่ถ้าจะทำให้ดูดีหน่อยคงต้องเอาคนอื่นที่มีภาพลักษณ์ดูดีขึ้นมา แต่ถ้าเทียบกับ “คนในตระกูล” คนนอกยังไงก็มีสิทธิ์เข้าวินน้อยกว่า

เมื่อมองถึง “พรรคก้าวไกล” ที่หลายคนประเมินว่าช่วงที่ผ่านมาเหมือนดูจะดรอปลงหลายๆ อย่างหรือไม่ รศ.ดร.พิชายตอบทันทีว่า ข้อเท็จจริงจากการทำสำรวจ พรรคก้าวไกลไม่ดร็อปลงเลย จากผลโพลยังคงเดิม แต่ด้วยความรู้สึกจากบางส่วน และแนวโน้มระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ พรรคก้าวไกลอาจจะได้ที่นั่งเพียง 20-30 ที่นั่ง

แต่ก้าวไกลยังมีจุดเด่นคือความแตกต่างในเชิงของนโยบายที่มีความก้าวหน้าและนโยบายที่มีการปฏิรูป เพราะคนรุ่นใหม่ก็ฝันอยากจะเห็นประเทศมีความเปลี่ยนแปลง

 

ปิดท้ายต่อคำถามที่ว่า ในประเทศไทยยังคงวนเวียนหรือมีความคิดการรัฐประหารยัง หรือไม่

รศ.พิชายคิดว่ายังคงดำรงอยู่ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ง่ายแล้ว เว้นแต่จะเป็น “คณะรัฐประหารชุดใหม่” เนื่องจากเงื่อนไขที่จะใช้เพื่ออ้างสร้างความชอบธรรมในรัฐประหารแทบไม่มี ความขัดแย้งจนทำให้ระบบการเมืองปกติเดินไปไม่ได้และการทุจริต คอร์รัปชั่น คนที่บริหารประเทศอยู่ก็เป็นอดีตคณะรัฐประหาร และการสร้างรัฐประหารจะสร้างผลกระทบเยอะมาก จึงคิดว่าการเกิดรัฐประหารมีน้อยหรือไม่มีเลยเพราะในสังคมยุคปัจจุบันจะทำให้ต่างชาติไม่มอง ไม่สนใจ ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปสู่หายนะ ไม่เป็นที่ต้อนรับจากนานาชาติ

รวมถึงปัจจุบันแนวคิดต่อต้านรัฐประหารมันแพร่ขยายไปไกลมากในหมู่ประชาชน มันกระจายตัวในวงกว้างแล้ว

ชมคลิป