ได้แค่ ‘ก้มหน้ามองดิน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ได้แค่ ‘ก้มหน้ามองดิน’

 

แม้ความเชื่อว่า “โอมิครอน” จะเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้โควิดเปลี่ยนจากโรคระบาดร้ายแรง มาเป็น “โรคระบาดประจำถิ่น” อันหมายถึงไม่มีอะไรต้องกังวลมาก มนุษย์จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เคยใช่ก่อนการเกิดขึ้นของ “โควิด-19” ได้อีกครั้ง

แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตแบบที่เรียกว่าปกติใช่จะคืนมาง่ายๆ แม้การระบาดในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นวันละหมื่นกว่าจะไม่ทำให้ตกอกตกใจอะไรมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อตามที่หมอบอกว่า “โอมิครอน” ไม่ทำให้เจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งการฉีดวัคซีนกระจายไปกว้างขวางแล้ว พร้อมๆ กับความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคมีมากขึ้น

แต่การฟื้นตัวเพื่อกลับมาเป็นปกติยังต้องใช้เวลา ด้วยการดำเนินธุรกิจ หรือการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้นั้นยังมีเงื่อนไขปัจจัยที่จำเป็นหลายอย่างยังไม่พร้อม

สรุปคือ รายได้ของผู้คนยังมองไม่เห็นหนทางที่จะหาเพิ่มขึ้นได้

ขณะที่รับรู้กันอยู่ทุกผู้ทุกนามว่ารายจ่ายในทุกด้านพุ่งพรวดๆ อย่างที่ไม่วี่แววว่าจะหยุด

สภาวะ “เดือดร้อนทุกหย่อมย่าน” ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

เมื่อต้นเดือนนี้เอง “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ได้เผยผลสำรวจ “FTI Poll ครั้งที่ 14” หัวข้อ “สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” โดยเก็บความคิด ความเห็นของ “ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมฯ” มาสรุป

ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงแง่คิดอันจะกำหนดความเป็นไปที่น่าสนใจทีเดียว

เมื่อถามว่า “ปัจจัยใดส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้” ร้อยละ 76.7 ชี้ไปที่ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ, ร้อยละ 74.0 บอกราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น, ร้อยละ 63.3 บอกเพราะค่าขนส่งทรงตัวในระดับสูง, ร้อยละ 51.3 ชี้ไปที่ปัญหาขาดแคนแรงงาน และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่า ภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานแค่ไหน ร้อยละ 35.3 เชื่อว่า 3-6 เดือน, ร้อยละ 34.7 เห็นว่า 6-12 เดือน, ร้อยละ 30.0 ชี้ว่ามากกว่า 1 ปี

นั่นหมายถึงประชาชนไทยส่วนใหญ่น่าจะต้องประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนักหนาสาหัสไปอีกเป็นปีก็เป็นได้

หากติดตามมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล จะพบว่าที่ส่งเสียงดังที่สุดคือให้ภาคเอกชน “ควบคุมราคาสินค้า” โยนภาระไปให้ภาคเอกชนแบกรับ

ทว่าผลโพลชึ้นนี้ ในคำถาม “ภาคเอกชนจะช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานเท่าไร” ร้อยละ 40.0 บอก 1-2 เดือน, ร้อยละ 30.7 บอก 3-6 เดือน, ร้อยละ 16.7 ให้มากกว่า 6 เดือน, ร้อยละ 12.6 ให้ 5-6 เดือน

หมายถึงภาคเอกชนอ่อนล้าเต็มที่ จะทนภาระที่แบกรับไว้ได้อีกไม่นานแล้ว

นั้นหมายถึงภาครัฐจะต้องรับผิดชอบในการเยียวยา ไม่ให้ความเดือดร้อนหนักหนาเกินไป

 

ในคำถาม “มาตรการใดมีประสิทธิภาพในการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน” ร้อยละ 75.3 บอกลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง, ร้อยละ 74.7 ให้ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ, ร้อยละ 66.0 ให้ตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า, ร้อยละ 59.3 เรียกร้องมาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง

เสียงเรียกร้องเกี่ยวกับการลดค่าสาธารณูปโภคนี้ได้ยินมานาน ด้วยเสียงที่ดังกว่าเสียงเรียกร้องในโครงการประชานิยมอย่าง “คนละครึ่ง” เสียด้วยซ้ำ

แต่ที่รัฐบาลเลือกทำคือ แจกเงินให้ไปจับจ่ายแบบให้พอประทังกันไปวันๆ ส่วนมาตรการที่หน่วยงานรัฐ ที่ผู้มีอำนาจส่งคนของตัวเองไปเสวยโชค เสวยลาภอยู่นั้น ที่ที่เสียงร้องร้องดังกว่า แต่ไม่มีวี่แววที่จะขยับ

ผลสำรวจนี้ สภาอุตสาหกรมฯ ทั้งใจจะส่งให้รัฐบาล

สำหรับประชาชนได้แต่มาคอยดูกันว่า ส่งไปแล้ว รัฐบาลจะจัดการอย่างไร

กล้าพอที่จะลดผลประโยชน์ที่สมัครพรรคพวกตัวเองได้รับมาเยียวยาประชาชนหรือไม่