คราม / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

คราม

 

สมัยนี้ผู้คนสนใจสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ เพราะสีติดทนนานเท่าอายุผ้า คุณภาพดีกว่าสีเคมี ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ‘คราม’ เป็นหนึ่งในสีที่นิยมกัน

อันที่จริงคนไทยคุ้นเคยกับ ‘ผ้าย้อมคราม’ มาหลายร้อยปี สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็มีใช้แล้ว

ดังที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพรรณนาไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” ว่า

ต้นครามพี่คิดผ้า สีฟ้าอ่อนอรเคยทรง

เรียมคิดติดขลิบวง เวียนรอบหน้าอ่าครุยทอง

ต้นครามนึกผ้าเจ้า บรรจง

สีฟ้าอ่อนอรทรง เลิศฟ้า

เรียมพิศติดขลิบวง เวียนรอบ

นางประดิษฐ์ติดหน้า อ่าฝั้นครุยทอง ฯ”

 

ใครไม่รู้จักต้นครามและสีคราม พระยาอนุมานราชธน หรือ ‘เสฐียรโกเศศ’ ให้ความกระจ่างไว้ใน “วรรณกรรมเสฐียรโกเศศ” ตอนหนึ่งว่า

“สีน้ำเงิน หรือตามภาษาช่างเรียกสีคราม ครามเป็นชื่อต้นไม้ซึ่งให้น้ำยาสีนั้น อีกนัยหนึ่งเรียกกันว่า ‘ขาบ’ (คำเดียวกันกับ ‘คราม’ จีนเรียก ‘คราม’ ว่า ‘หนำ’ หรือ ‘หล่ำ’) นกตะขาบก็คงหมายถึง นกมีสีขาบ คือ สีน้ำเงินแก่”

ต้นครามข้างต้นนี้น่าจะตรงกับที่ ดร.ไพฑูรย์ อบเชย บันทึกไว้ในบทความเรื่อง “พืชที่ให้สีครามธรรมชาติ”

“พันธุ์ไม้ที่ให้สีครามมีหลากหลายสกุล Indigofera tinctoria Linn. เป็นสายพันธุ์ที่นิยมใช้สกัดสีครามในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ดอกช่อออกตามซอกใบ แต่ละดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบดอกชมพูและเป็นฝักเล็กๆ ฝักออกเป็นกระจุก ฝักตรงหรือฝักงอโค้งเล็กน้อย ภายในฝักมี 7-12 เมล็ด

สารสีน้ำเงินในต้นคราม ชื่อ Indigotin หรือ Indigo blue ใช้ย้อมผ้าหรือเส้นใย (ฝ้าย/ไหม) ให้เป็นสีน้ำเงิน”

 

ข้อความว่า ‘ต้นครามพี่คิดผ้า สีฟ้าอ่อนอรเคยทรง’ บอกให้รู้ว่า สีของผ้าย้อมคราม นอกจากสีน้ำเงินแก่ ยังมีสีฟ้าอ่อน ซึ่งน่าจะเป็นดังที่อาจารย์ศุภร บุนนาค และ ดร.สุริยา รัตนกุล เล่าไว้ในเรื่อง “สุนทรียภาพจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร” ว่า

“การย้อมผ้าเป็นงานใหญ่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของหญิงสาวแต่ก่อนทีเดียว…ตามธรรมดาการย้อมผ้ากว่าจะได้ที่ ต้องย้อมกันถึงสามน้ำสี่น้ำ ตั้งแต่สีอ่อนใสๆ ขยำไปจนน้ำซีดเต็มที่เททิ้ง แล้วเพิ่มสีให้เข้มขึ้นไป กว่าจะได้ที่ก็สิ้นน้ำหลายอ่าง”

คำอธิบายเกี่ยวกับสีในเชิงช่างจากเรื่อง “วรรณกรรมเสฐียรโกเศศ” น่าจะช่วยให้ชัดเจนว่า สีครามที่ผิดแผกกันไป มีสีอะไรบ้างและเป็นเพราะอะไร

“สีเขียวแท้ เรียกว่า สีคราม หรือขาบ (อ่อน) (prussian blue) สามัญเรียกเป็นสีน้ำเงินอ่อน, สีฟ้าแก่

สีเขียวกับแดงผสมเท่ากัน เรียกว่า สีม่วงคราม (violet) สามัญเรียกว่า สีลูกหว้า, สีกลาโหม

สีเขียวคราม หรือ ขาบอมแดงน้อย เรียกว่า สีคราม (แก่) (ultramrine blue) สามัญเรียกว่า สีน้ำเงินแก่ สีกรมท่า

สีเหล่านี้ลางสี ถ้าปนด้วยสีขาว (ภาษาช่างเขียนเรียกว่า ฝุ่น) ก็เกิดเป็นสีต่างๆ มีชื่อที่ช่างเขียนเรียกแปลกออกไป เช่น

ครามปนฝุ่น เรียกว่า มอคราม (light cobalt) สามัญเรียก สีฟ้า, สีน้ำเงินอ่อน”

 

กวีสมัยก่อนเมื่อจะบรรยายถึง สีคราม (แก่) จึงใช้ข้อความว่า ‘เขียวเป็นสีคราม’ หรือ ‘สีเป็นเขียวคราม’ ดังจะเห็นได้จาก “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์จุลพน ตอนที่พรานเจตบุตรชี้เส้นทางให้พราหมณ์ชูชก

“เอเต นีลา ปทิสฺสนฺติ เหล่าโน้นนั่นแน่ท่านจงแลไป เห็นหรือไม่ทิวไพรเขียวเป็นสีครามงามนักหนา นั้นเหล่าล้วนต้นพฤกษาอันทรงผลในไพรสณฑ์มีต่างๆ หลากหลายอย่างพ้นที่จะพรรณนา”

น่าสังเกตว่าคนสมัยก่อนอาจจะมอง ‘สีเขียว’ หรือ ‘สีคราม’ (สีน้ำเงิน) เป็นสีเดียวกัน ลองพิจารณาคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘คราม’ ใน “อักขราภิธานศรับท์” (ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5) ที่บอกให้รู้ว่า ‘เขียว’ กับ ‘คราม’ ไม่ต่างกัน

“คราม, คือ ต้นผักอย่างหนึ่ง, ปลูกไว้สำรับย้อมผ้า, ให้ศีเขียว เหมือนดอกผักตบ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

(ถ้าใครเคยเห็นดอกผักตบไทย คงนึกออกว่าเป็น สีน้ำเงิน สีน้ำเงินอมม่วง ผักตบชวา ดอกสีม่วง)

ยิ่งไปกว่านั้น ‘สีครามแก่’ กับ ‘สีดอกอัญชัน’ คือสีเดียวกันนั่นเอง ดังข้อความในกัณฑ์จุลพนที่ต่อเนื่องจากตัวอย่างข้างต้น

“เนืองแน่นชิดติดภูผาที่เป็นแนว แถวสูงใหญ่ยอดเยี่ยมเทียมเมฆหมอกไม่ใคร่ออกให้แลเห็น ย่อมเป็นภูเขาเรียกว่า แนวเขาอัญชัน เพราะแนวนั้นแลแต่นี้ดูสีเป็นเขียวคราม

ลองเทียบกับความหมายของ ‘อัญชัน’ ใน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะถึงบางอ้อว่าทำไมกวีถึงใช้คำว่า ‘แนวเขาอัญชัน’ หรือแนวเขาที่มีสีดังดอกอัญชัน

“อัญชัน, ชื่อไม้เถา ดอกสีครามแก่ ขาว และม่วงอ่อน

ว. เรียกสีครามแก่อย่างสีดอกอัญชันว่า สีอัญชัน”

สุนทรภู่บรรยายถึง “อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี” เจ็ดสี เจ็ดวัน สีไม่ซ้ำกันเลย เครื่องแต่งกายสำหรับออกรบวันอังคาร ใน “สวัสดิรักษา” บอกไว้ว่าคือ สีม่วงคราม หรือ สีลูกหว้า

“อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี”

สีครามจึงมีทั้ง สีน้ำเงิน สีน้ำเงินแก่ สีฟ้า สีเขียว สีเขียวคราม และสีม่วงคราม ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี นอกจากบรรยายเรื่องสีของสิ่งต่างๆ แล้ว กวียังใช้ ‘สีคราม’ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเป็นทุกข์ ผ่านสีหน้าคล้ำหมองไม่ผ่องใส ดังตอนที่พี่สาวทั้งหกของนางรจนาเห็นหน้าพระสวามีที่ ‘จมูกโหว่แล้วมิหนำซ้ำหูแหว่ง เหมือนใครแกล้งเอามีดเชือดเลือดไหล’ ถึงกับหลุดปากอย่างเจ็บใจออกมาว่า

“ดูดู๋หน้าดำเป็นน้ำคราม ไม่หมดจดงดงามเหมือนเก่าเลย”

หน้าตาคนอมทุกข์อมโศกเป็นอย่างนี้ ไม่มีสง่าราศี ไม่ผุดผ่องชวนมอง

ทำนองเดียวกับขุนแผนเตือนสติพระไวย ลูกชายที่ ‘พิเคราะห์ดูหน้าคล้ำดำเป็นฝ้า’ เนื่องจากถูกนางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์

“พ่อดูหน้าเจ้าเป็นฝ้าเหมือนทาคราม มีเมียสองต้องห้ามแต่ไรมา”

ใบหน้าคนถูกคุณไสยเสน่ห์ยาแฝดไม่ต่างกับคนอมทุกข์แต่อย่างใด หน้าหมอง ดำคล้ำ ไม่สดใส

‘คราม’ – เป็น ‘สีผ้า’ ก็น่าใช้ เป็น ‘สีหน้า’ ก็น่ากลุ้ม