หนึ่งปีรัฐประหาร กับความเป็นจริงที่เมียนมา/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

หนึ่งปีรัฐประหาร

กับความเป็นจริงที่เมียนมา

 

การรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนและระบอบการปกครองประชาธิปไตยในเมียนมา ครบรอบ 1 ปีเต็มไปเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อัลจาซีรา นำเสนอรายงานต่อเนื่องเป็นซีรีส์ ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในห้วงเวลา 1 ปี ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงเวลานี้

ความรุนแรงเลวร้าย ไม่เพียงไม่บรรเทาเบาบาง

หากแต่ยังลุกลามยกระดับและแผ่ขยายพื้นที่มากยิ่งขึ้น

 

ซิน มา อ่อง ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ที่เป็นการรวมตัวกันขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของการต่อต้านรัฐประหาร บอกอัลจาซีราอย่างตรงไปตรงมาว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นความอำมหิตและโหดเหี้ยมระดับขีดสุดจากเจ้าหน้าที่ต่อประชาชน

แต่ในเวลาเดียวกัน ทุกคนก็ได้เห็นเช่นกันว่า คนรุ่นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเมียนมา เด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นกับการต่อต้านรัฐประหารหนนี้อย่างจริงจังเช่นไร ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่ยอมเลิกราแม้จะต้องแลกด้วยชีวิต

ซิน มา อ่อง เคยผ่านเหตุการณ์การกดขี่จากกองทัพและความรุนแรงทางการเมืองมาแล้ว เคยถูกตัดสินจำคุกนาน 28 ปีเมื่อปี 1998 ถูก “ขังเดี่ยว” อยู่นานถึง 8 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปีที่ 11

ซิน มา อ่อง ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้แตกต่างออกไป เลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 และ 1990 นั้นมาก

“เอาจริงๆ ก็คือ มันเลวร้ายลงกว่าก่อนหน้านี้มาก ก่อนนี้เคยมีหลายคนเสียชีวิตในคุกเพราะถูกทรมาน แต่ทุกวันนี้ ความโหดเหี้ยมไม่ได้ลดน้อยลง แต่ยิ่งแผ่กว้างมากขึ้น สิ่งที่เคยเกิดขึ้นได้ในเรือนจำ ในคุก เคยต้องทำกันแบบลับๆ ซ่อนๆ ตอนนี้พวกนั้นนำมาใช้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะกันแล้ว”

ผลก็คือ จากเหตุเริ่มต้นด้วยการปะทะกันด้วยแก๊สน้ำตาในระหว่างการชุมนุม กลายเป็นการโจมตีทางอากาศ กลายเป็นการปิดล้อมเพื่อฆ่าหมู่ชาวบ้าน เผาทั้งหมู่บ้านทิ้ง พร้อมๆ กับการล่าสังหาร เป้าหมายเป็นรายคน

สมาคมเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ที่ติดตามและประมวลจำนวนผู้เสียชีวิตมาตั้งแต่ต้น บอกว่ายอดเสียชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลทหาร พุ่งเกินกว่า 1,500 คนไปแล้ว

 

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุว่า มีปฏิบัติการของทหารภายใต้คำสั่งของรัฐบาลหลายเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาทิ การยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงและผู้คนที่สัญจรไปมาอย่างเปิดเผย ที่ลายทยา ในนครย่างกุ้ง จนมีผู้เสียชีวิตคราวเดียว 65 ราย, การใช้รถยนต์พุ่งชนขบวนผู้ประท้วง ในย่างกุ้ง, การใช้กำลังทหารโจมตีต่อพลเรือน ทางตะวันออกของประเทศในช่วงคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และเจ้าหน้าที่ของเซฟ เดอะ ชิลเดรน องค์กรการกุศล

มินนา หม่อง นักวิชาการประจำฮิวแมนไรท์ วอทช์ ชี้ว่า มิน อ่อง ลายกับพวก เคยก่อเหตุกวาดล้างโรฮิงญาครั้งใหญ่อย่างอำมหิตเมื่อปี 2017 จนถึงป่านนี้ยังไม่ถูกเอาผิด ไม่ถูกลงโทษ

“คนเหล่านี้ลอยนวลอยู่นานหลายทศวรรษจากการก่ออาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด ส่งผลให้เกิดกรอบคิดที่ว่า ทหารสามารถทำอะไรก็ได้ โหดร้ายแค่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ”

 

เมียนมา วิทเนสส์ องค์กรไม่แสวงกำไร ที่มีเป้าหมายรวบรวมข้อมูล หลักฐานบ่งชี้ถึงพฤติกรรมผิดกฎหมายสากล ผิดมนุษยธรรม เอาไว้ในฐานข้อมูลที่ปลอดภัยแต่เปิดกว้างให้เข้าถึงได้โดยง่าย กำลังจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์เช่นนั้นด้วยการนำเอาเทคนิค และเทคโนโลยีที่เคยใช้ในซีเรีย มาใช้ในการเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำการในเมียนมา

เบน สตริก ผู้อำนวยการแผนกสืบสวนสอบสวนของเมียนมา วิทเนสส์ บอกว่า ฐานข้อมูลทำนองนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเอาผิดกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้วเรื่อยมาจนถึง 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ มีข้อมูลถูกจัดเก็บเข้ามาในคลังมากถึงกว่า 4,000 เหตุการณ์

ในจำนวนนี้มีที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงมากถึง 740 เหตุการณ์!

เมียนมา วิทเนสส์ บอกว่า สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการนำเอาตัวผู้ก่อการ ผู้ออกคำสั่งและผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แน่นอน หากประชาคมนานาชาติต้องการ

ปัญหาก็คือ ยังไม่มีผู้ใดดำเนินการ ในขณะที่สถานการณ์ในเมียนมาดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

สตริกบอกว่า เมื่อเริ่มต้นเก็บข้อมูลนั้น สิ่งที่ได้คือหลักฐานแสดงถึงการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง

“ผ่านมาถึงตอนนี้ สิ่งที่เรากำลังจับตามองอยู่ยิ่งนับวันยิ่งคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมในยามเกิดสงครามกลางเมืองมากขึ้นทุกที”

 

เมื่อถามซิน มา อ่อง เธอยืนกรานว่า กองทัพเพื่อปกป้องประชาชน ของกลุ่มต่อต้านไม่ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเข่นฆ่าสังหารทหาร แต่เป็นการใช้สิทธิในการปกป้องตัวเองเมื่อถูกกระทำ

เธอระบุด้วยว่า ทุกคนรู้ดีว่ายูเอ็นไม่มีวันส่งกำลังทหารรักษาสันติภาพมาที่เมียนมา

เธอบอกว่า คำพูดหวานหู ได้ยินแล้วก็ดีอยู่หรอก แต่มันหยุดห่ากระสุนไม่ได้ ที่สำคัญก็คือตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

“โลกไม่ได้ทำอะไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ได้แต่นั่งมองเฉยๆ เท่านั้นเอง”