A B C ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

A B C ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ (๑)

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยที่ผู้เขียนยังมีงานวิจัยเรื่องการแปลภาษาด้วยเครื่อง (Machine Translation) ร่วมกับ Universiti Sains Malaysia ที่ปีนัง ผู้เขียนจะต้องหาหนังสือภาษาอังกฤษสักฉบับหนึ่งเอาไว้ไปนอนอ่านตอนค่ำ

ในสมัยนั้นเขายังห้ามนำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเข้าประเทศ ผู้เขียนจึงซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในสนามบินติดตัวไปด้วย

เมื่อหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่านจึงได้รู้ว่าที่เห็นเป็นตัว A B C นั้นหาใช่ภาษาอังกฤษไม่ แต่กลายเป็นภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรโรมัน (รูมี)

ต่อมาเมื่อได้มาร่วมทำงานกับราชบัณฑิตยสถาน/สภาเรื่องการทับศัพท์จึงได้รู้ว่า A B C ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษนั้นยังมีอยู่อีกอย่างมากมาย

อักษร ๒๖ ตัวจาก A ถึง Z นั้นมีชื่อเรียกว่า อักษรละติน หรือ อักษรโรมัน เป็นตัวอักษรที่สันนิษฐานกันว่ามีที่มาจากอักษรกรีกอีกทอดหนึ่ง

อักษรโรมันนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและอเมริกา และประเทศในเอเชียที่นำมาใช้ในภายหลัง เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย ประเทศเติร์กเมนิสถาน ประเทศทาจิกิสถาน ประเทศอาเซอร์ไบจาน ประเทศตุรกี และประเทศฟิลิปปินส์

รวมถึงการเขียนภาษาด้วยอักษรโรมัน (romanization) ในภาษาต่างๆ เช่น Pinyin ในภาษาจีน Romaji ในภาษาญี่ปุ่น รูปการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันในภาษาไทย (เช่น มติชน = Matichon)

ส่วน อักษรกรีก ก็มีพัฒนาการมาตั้งแต่ประมาณ ๓๕๗ ปีก่อนพุทธศักราช และยังคงใช้สืบต่อเรื่อยมา นับเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่งที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากจะเป็นตัวอักษรที่ใช้กันในประเทศกรีกแล้ว อักษรกรีกยังใช้เป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ใช้เป็นชื่อดาวฤกษ์ และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกมาก เช่น

เมื่อภาษาต่างๆ นำเอาอักษรโรมันไปใช้ ต่างก็นำไปดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับภาษาของตนทั้งในด้านรูปร่างและการแทนเสียง เช่น ภาษาฝรั่งเศส มี ภาษาเยอรมัน มี ภาษาสเปน มี ส่วนในด้านเสียงนั้น แต่ละภาษาก็กำหนดเสียงให้แก่ตัวอักษรแต่ละตัว ซึ่งอาจจะตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง ซึ่งจะขอเปรียบเทียบชื่อเรียกตัวอักษร ๓ ตัวแรก และ ๓ ตัวสุดท้ายของภาษาในยุโรปบางภาษาดังตาราง

นอกจากการออกเสียงพยัญชนะจะไม่ตรงกันแล้ว การออกเสียงสระก็ยังแตกต่างกันไปอีก ทั้งนี้เพราะตัวอักษรเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แต่ละภาษานำมาดัดแปลงใช้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่แพร่หลายมากที่สุดในหมู่ภาษาที่นำอักษรโรมันมาใช้ ผู้ที่ไม่รู้วิธีอ่านภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาอังกฤษก็มักจะอ่านภาษาอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษไปด้วย (เสียงอ่านตามการทับศัพท์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน/สภาฉบับร่าง) เช่น

Thierry Henry ภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า ตีแยรี อ็องรี

Michelangelo ภาษาอิตาลีอ่านว่า มีเคลันเจโล

Johann Strau ภาษาเยอรมันอ่านว่า โยฮันน์ ชเตราส์

Jeremias van Vliet ภาษาดัตช์อ่านว่า เยอเรมียัส ฟัน ฟลีต

David Villa ภาษาสเปนอ่านว่า ดาบิด บิยา

Cristiano Ronaldo ภาษาโปรตุเกสอ่านว่า กริชตียานู รูนัลดู

พอจะเดาออกได้บ้างไหมว่าใครเป็นใคร โดยเฉพาะชื่อโปรตุเกสชื่อสุดท้ายที่คนไทยนับญาติว่า “พี่โด้” บ้าง “น้องโด้” บ้าง