ย้อนอดีตรอยร้าวไทย-ซาอุฯ สู่การฟื้นสัมพันธ์การทูต

รัฐบาลไทยพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ทศวรรษ ในที่สุดก็ใกล้เคียงกับความสำเร็จเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา

ไทยและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 ต่อเนื่องปี 2533 เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุดีอาระเบียจนประกาศตัดลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยลง

ชนวนรอยร้าวกรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย 4 รายถูกลอบสังหารใจกลางกรุงเทพมหานคร ในปี 2532 ต่อเนื่องปี 2533

สร้างความเคลือบแคลงใจกับระบบยุติธรรมของไทยไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเกิดคดีสำคัญที่นำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา

 

“คดีเพชรซาอุฯ” คือหนึ่งในนั้น โดยเหตุเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2532 เมื่อ “นายเกรียงไกร เตชะโม่ง” แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ที่พระราชวังเจ้าชายไฟซาล แห่งซาอุดีอาระเบีย ก่อเหตุโจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณีกลับประเทศไทย ในจำนวนนั้นรวมไปถึง “บลูไดมอนด์” ที่ร่ำลือกันว่าเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ในปี 2533 กรมตำรวจไทยมอบหมายให้ “พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ” เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน จนจับกุม “นายเกรียงไกร” มาดำเนินคดีได้สำเร็จ ซึ่งนายเกรียงไกรให้การรับสารภาพ ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกรในข้อหาลักทรัพย์ 3 ปี

แม้จะจับตัวผู้ต้องหาได้ แต่เพชรบางส่วนที่ตำรวจไทยรวบรวมกลับมาได้และส่งคืนทางการซาอุฯ นั้น กว่าครึ่งกลับเป็นของปลอม และไม่ได้มี “บลูไดมอนด์” รวมอยู่ในนั้นด้วย

การติดตามเพชรที่หายไปกลายเป็นต้นตอไปสู่คดีสลดที่ พล.ต.ท.ชลออุ้มฆ่าแม่-ลูก ครอบครัวศรีธนะขัณฑ์ จนในที่สุดแล้ว พล.ต.ท.ชลอถูกศาลตัดสินยึดเครื่องราชย์ ถอดยศ และถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2552 อย่างไรก็ตาม หลังติดคุกนาน 19 ปี “ชลอ” ได้รับการปล่อยตัวก่อนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ธัชพล เกิดเทศ”

ส่วน “นายเกรียงไกร” ที่เปลี่ยนนามสกุลเป็น “มงคลสุภาพ” ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ที่จังหวัดลำปางบ้านเกิด ส่วน “เพชรบลูไดมอนด์” ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนและยังเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

กรณีที่เป็นเหตุผลหลักที่สร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุดีอาระเบีย จนมีการประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างจริงจัง ก็คือการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของ “นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี” นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย สมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และยังเป็นพระญาติของกษัตริย์ซาอุฯ ด้วย

นายอัลรูไวลีหายตัวไปที่ลานจอดรถโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2533 อย่างเป็นปริศนา ตำรวจไม่สามารถตามจับผู้กระทำผิดได้เช่นเคย

ในปี 2535 รัฐบาลไทยต้องการฟื้นสัมพันธ์กับทางการซาอุดีอาระเบีย จึงมีการรือฟื้นคดีขึ้นใหม่ และผลการสืบสวนพบว่า “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” อดีต ผบช.ภ.5 เป็นหัวหน้าทีมสอบสวน นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูลว่าอาจเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ หลายรายก่อนหน้านั้น

แต่สุดท้ายเกิดความผิดพลาดจนนายอัลรูไวลีเสียชีวิต และมีการทำลายหลักฐานที่จังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ตาม คดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รื้อฟื้นคดี “อัลรูไวลี” ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการออกหมายเรียก “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” พร้อมลูกน้องอีก 4 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ กักขังหน่วงเหนี่ยว โดยหลักฐานที่อัยการใช้สั่งฟ้อง เป็นแหวนรูปพระจันทร์เสี้ยว 1 วง ที่ระบุว่าเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งในทีมของ พล.ต.ท.สมคิด เก็บเอาไว้

การรื้อคดีดังกล่าว พล.ต.ท.สมคิดระบุว่าอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองจากกรณีมีผู้ตั้งข้อสงสัยในการแต่ตั้งโยกย้ายตน

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือพยานผู้ครอบครองแหวนให้หลบหนีไปอยู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะที่ยังตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดดีเอสไอจึงสั่งรื้อคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปแล้วด้วยหลักฐานที่เป็นแหวนเพียงวงเดียว

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายครอบครัวของนายอัลรูไวลีและทางการซาอุดีอาระเบียมีความหวังกับคดีนี้เป็นอย่างมากว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้กับนายอัลรูไวลีได้

แต่ก็ต้องมีเรื่องสร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุฯ อีกครั้ง ในกรณีมีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษา สมศักดิ์ ผลส่ง ที่นั่งพิจารณาคดีอัลรูไวลีมาตั้งแต่ปี 2554 ต้องถูกสั่งพักราชการไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีคำตัดสินในคดีอัลรูไวลี

นั่นก็กลายเป็นอีกเรื่องที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยกับทางการซาอุดีอาระเบียไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลมีคำตัดสินยกฟ้องในท้ายที่สุด

ส่งผลให้คดีการ “ฆาตกรรมนายอัลรูไวลี” และกรณี “เพชรบลูไดมอนด์” ก็ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและประเทศไทย ก็ยังคงถูกลดระดับต่อเนื่องเรื่อยมา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อซาอุดีอาระเบียก้าวเข้าสู่ยุคของเจ้าชายมูฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียที่ทรงมีนโยบายเปลี่ยนแปลงซาอุดีอาระเบียไปสู่ยุคใหม่ภายใต้นโยบาย “วิชั่น 2030” กลายเป็นโอกาสของรัฐบาลไทยในการฟื้นคืนสัมพันธ์ครั้งนี้

จุดเริ่มต้นการฟื้นสัมพันธ์เกิดขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559

ต่อมาในการประชุมผู้นำ “จี 20” ในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2563

นำมาซึ่งการฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ ที่แน่นอนว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสองฝ่ายทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแน่นอน