คุยกับทูต “กลิน เดวีส์” ฉลอง200ปีสัมพันธไมตรีไทย-สหรัฐ : ไขความลับสถานทูต ต้องรายงาน-ทำอะไรบ้าง ?

คุยกับทูต กลิน เดวีส์ เฉลิมฉลองสองร้อยปีสัมพันธไมตรีไทย-สหรัฐ (3)

ย้อนอ่านตอน (2)  (1) 

“เหตุที่มีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง เราได้จัดตั้งสถานทูตขึ้นที่นี่ในปี ค.ศ.1946 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงและไทยเป็นชาติพันธมิตรตามสนธิสัญญา เรามีความสัมพันธ์ด้านการทหารที่แน่นแฟ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยตั้งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เอกอัครราชทูตเดวีส์ กล่าวถึงความสำคัญและบทบาทของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ

“ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นประเทศที่พลเมืองมีฝีมือและความสามารถ ดังนั้น หากคุณเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐและกำลังมองหาสถานที่ตั้งฐานปฏิบัติการในเอเชีย คุณจะหันไปหากรุงเทพฯ ทันที เพราะที่นี่คือมหานครอันทันสมัย มีสายการบินนานาชาติหลายสายเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งมีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในระบบงานมาตรฐานอันทันสมัย ระดับภูมิภาค”

“ด้วยเหตุผลหลายประการ ขนาดของสถานทูตจึงขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับเมื่อหลายปีผ่านไป กลายเป็นสถานทูตสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอาจใหญ่เป็นที่สามของโลก เพราะสหรัฐให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของเรากับรัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศได้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เราเป็นอย่างมาก ทำให้เราสามารถทำงานสำคัญและนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

ภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐได้แก่ การส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐ

ดูแลคุ้มครองบุคคลสัญชาติสหรัฐในประเทศไทย

รายงานและวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยที่สหรัฐให้ความสนใจและส่งเสริมการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของสหรัฐ

ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและพาณิชย์ของสหรัฐ การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดทั้งงานบริการต่างๆ ของสหรัฐ และรวมถึงการให้ความช่วยเหลือธุรกิจแรงงานและนักลงทุนชาวอเมริกัน

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ติดต่อประสานงานกับรัฐบาลไทย องค์กรต่างๆ รวมทั้งบุคคลทั่วไปในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมค่านิยมร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง ได้แก่ เสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม

“สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยประกอบด้วยฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ หลายสิบหน่วย เนื่องจากจำนวนครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่สถานทูตทั้งหมดทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทยอันเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคี อีกส่วนหนึ่งทำงานเกี่ยวกับไทยและเอเชีย และบางส่วนเกี่ยวกับโลกทั้งหมด เนื่องจากสหรัฐมีพันธกิจทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก”

“สหรัฐมีสำนักงานใหญ่ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศอยู่ที่นี่ แต่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนี้ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย หากแต่ออกไปปฏิบัติงานตามโปรแกรมทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิก เนื่องจากประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากเราแล้ว และเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นของสถานทูต เหตุนี้เราจึงมีสถานทูตสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย”

“ด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เรากำลังทำงานร่วมกับประเทศไทยในหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวกับธุรกิจ เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมโดยความร่วมมือระหว่างกัน มีบริษัทอเมริกันมาลงทุนในประเทศไทยมากมาย ทำให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและการว่าจ้างแรงงานชาวไทยจำนวนมาก”

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของไทย และเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ

“เรามีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่นี่ได้แก่ สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) หน่วยความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) เป็นต้น เจ้าหน้าที่สหรัฐเหล่านี้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในหลายประเด็นที่เป็นปัญหา เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาชญากรรมข้ามชาติ เรามีเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ต่อต้านการค้ามนุษย์และสัตว์ป่า”

“หนึ่งในหน่วยสันติภาพ (Peace Corps) แห่งแรกของโลกก็อยู่ที่นี่เป็นเวลา 55 ปีแล้ว และยังคงดำเนินการต่อไป”

“ด้านการศึกษา ปัจจุบัน มีนักศึกษาจากไทยไปศึกษาต่อในสหรัฐไม่ต่ำกว่า 8,000 คน เรามีโปรแกรมการศึกษาที่หลากหลายมาก”

สถานทูตสหรัฐมีบริการให้คำปรึกษาและแนะแนวการศึกษาต่อโดยการนัดหมายที่ American Hub กรุงเทพฯ และศูนย์แนะแนว EducationUSA ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

การที่มีนักศึกษาไทยหลายแสนคนได้เคยไปศึกษาต่อในสหรัฐจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเข้มแข็ง และเมื่อปีที่แล้วไทยติดอันดับ 1 ใน 25 ประเทศที่ส่งนักศึกษามหาวิทยาลัยไปศึกษาต่อในสหรัฐมากที่สุด และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

“เจ้าหน้าที่สถานทูตประมาณ 20% ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและยารักษาโรคทุกอย่างนับตั้งแต่โรคเอดส์ ไปจนถึงไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ ไวรัสซิกา (Zika) โดยมีการพัฒนาวัคซีนที่ยอดเยี่ยม ทำให้มีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้”

“ความสัมพันธ์ทางการทหาร มีขอบเขตที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ซึ่งต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรของเราหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยและสหรัฐเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบรรเทาสาธารณภัย และความมั่นคง”

“ดังนั้น ความสัมพันธ์ของเราได้ช่วยรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐทำงานร่วมกับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยเป็นหุ้นส่วนรายแรกของเราซึ่งมีอายุย้อนไปถึง 183 ปี”

อันเนื่องมาจากการลงนามระหว่างไทยกับสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1833 ในสนธิสัญญาฉบับแรก คือ สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐดำเนินมาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ค.ศ.1833 ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยในช่วงหลังสงคราม โลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

ความสัมพันธ์มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ไทยและสหรัฐมีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ทำให้สหรัฐเห็นว่าตนจะต้องเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตย จากการแพร่ขยายและการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกๆ แห่งของโลก

สหรัฐจึงได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะประเทศพันธมิตร และประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้อง ตอบสนอง และสนับสนุนสหรัฐ

ดังนั้น ในปี ค.ศ.1950 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐ โดยเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

พร้อมกันนั้นรัฐบาลไทยได้จัดกำลังจากทุกเหล่าทัพสนับสนุนสหรัฐในสงครามเกาหลี ตามมติสหประชาชาติอันเป็นจุดกำเนิดของการปฏิบัติการร่วมสมัยใหม่ และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐในเวลาต่อมา

พิธีเปิดการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ 2017

จะเห็นได้ว่ามีการฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold – CG) ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นเวลากว่า 30 ปีในหลายพื้นที่ทั่วไทย

ปีนี้เป็นการฝึกครั้งที่ 36 มี 29 ประเทศเข้าร่วมฝึกโดยตรงหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์ และกำลังพลจากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมฝึกโดยตรงในกิจกรรมหลากหลายทั้งบนบกและบนผิวน้ำประมาณ 3,600 นาย

เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐปี ค.ศ.1982 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคี ประเทศที่เข้าร่วม เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก ส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค มีการตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

พิธีเปิดการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ 2017

“ไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์อันยาวนานและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ดังนั้น เราจึงทำงานร่วมกันในเรื่องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของคนไทย และคนอเมริกัน เราร่วมกันต่อสู้ในหลายสมรภูมิ และร่วมกันทำงานยามสันติ พยายามส่งเสริมความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเราเติบโตและก้าวไปข้างหน้า” เอกอัครราชทูตเดวีส์ กล่าว

“ดังตัวอย่าง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ไปร่วมประชุมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 6 (The 6th Thai-US Streategic Dialogue) ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่ครอบคลุมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทยกับสหรัฐ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือสองประเทศ และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”

“โดยผมหวังว่า จะมีการพบกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการประสานงาน เพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสม และสะดวกต่อผู้นำทั้งสองประเทศ”