ไทย-เมียนมา-อาเซียน หนีไม่ได้ หลบไม่พ้น!/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ไทย-เมียนมา-อาเซียน

หนีไม่ได้ หลบไม่พ้น!

 

ความขัดแย้งของการเมืองภายในเมียนมา ที่ปะทุเปรี้ยงปร้างออกมาในรูปของการรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการรวมตัวกันต่อต้านอย่างหนักทั้งบนท้องถนนในเมืองและในราวป่า

ผ่านไปเกือบปีเต็มๆ ไม่เพียงไม่ส่อเค้าลางว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ดูเหมือนจะแผ่ขยายวงความขัดแย้งกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างน้อยก็ในสายตาของสื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญทางการทูตที่จับตามองมาจากทั่วโลก

เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ปัญหาเมียนมา ส่งผลให้กลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน คือการไม่เชื้อเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่บรูไน ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

รุ่งปีขึ้นมา ประธานอาเซียนตกเป็นของกัมพูชาตามวาระ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ก็ทำในสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดอีกเช่นกัน ด้วยการเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อพบหารือกับมิน อ่อง ลาย โดยไม่บอกกล่าว ปรึกษาหารือใคร

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขรมจากนานาชาติว่า การเดินทางครั้งนี้อาจกลายเป็นการแสดงการยอมรับ “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลทหารเมียนมา

สวนทางกับนานาประเทศและแนวทางที่ผ่านมาของอาเซียน

 

ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างตรงไปตรงมาในเวลานั้น (14 มกราคม) ว่า ฮุน เซน ในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะไปเยือนเมียนมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ เมื่อตอนไปเยือนนั้น ฮุน เซน ควบสถานะประธานอาเซียนอยู่ด้วยอย่างเต็มตัว

“เขา (ฮุน เซน) ควรปรึกษาหารือกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ หรือรับฟังความคิดเห็นของพวกเราสักหน่อยก็ยังดีว่า เขาควรทำอะไรในกรณีที่ไปเยือนเมียนมา”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า คิดว่าการเยือนของฮุน เซน ประสบผลสำเร็จอะไรบ้างหรือไม่ คำตอบสั้นๆ ของไซฟุดดิน ก็คือ “ไม่มี”

รายงานของรอยเตอร์เมื่อค่ำวันที่ 17 มกราคม บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาว่า กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน ประกาศเลื่อนกำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กำหนดจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ออกไป

ทางการกัมพูชาให้เหตุผลของการเลื่อนว่าเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐมนตรีของ “บางประเทศ” ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมประชุม

แต่รายงานของรอยเตอร์อ้างความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักการทูตจำนวนหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า การเลื่อนการประชุมหนนี้มี “เหตุปัจจัย” มาจากการไม่ลงรอยกันในเรื่องความสัมพันธ์ต่อรัฐบาลทหารเมียนมารวมอยู่ด้วยอย่างชัดเจน

เนื่องจากในการเยือนเมียนมาครั้งนั้น ฮุน เซน ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า กัมพูชาต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับเมียนมา โดยการเชื้อเชิญพันเอก (นอกราชการ) วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมในการประชุมอาเซียนด้วย สวนทางกับความพยายามกดดันด้วยการ “โดดเดี่ยว” รัฐบาลมิน อ่อง ลาย ของอาเซียนก่อนหน้านี้

รอยเตอร์อ้างความเห็นของนักการทูตที่รู้เรื่องดีบอกว่า สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งจนกลายเป็นการเลื่อนการประชุมออกไป ก็คือเรื่องการเชื้อเชิญครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องโอมิครอน

“อินโดนีเซียกับมาเลเซีย ไม่แฮปปี้กับผลการเยือนของฮุน เซน โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวเข้ากับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนว่าด้วยการแก้ปัญหาเมียนมาก่อนหน้านี้” นักการทูตดังกล่าวระบุ

 

ลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ถือกันว่าเป็นผู้นำระดับ “ลายคราม” ของอาเซียนบอกว่า อาเซียนจะเปลี่ยนแนวทาง เปลี่ยนนโยบายทั้งที ก็ควรเกิดจาก “ข้อเท็จจริงใหม่ๆ” ไม่ใช่กลับไปกลับมาตามอารมณ์

รอยเตอร์บอกว่า เรื่องนี้นอกจากอาจก่อให้เกิด “รอยปริร้าว” ขึ้นภายในอาเซียนเองแล้ว ยังส่งผลลบมหาศาลต่อความน่าเชื่อถือของอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องของแนวทางการแก้ปัญหาเมียนมาที่นานาประเทศให้การสนับสนุนก่อนหน้านี้

ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องไหมกับประเทศไทย นอกจากในฐานะสมาชิกอาเซียนแล้ว กรณีเมียนมายังก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงขึ้นกับไทยอย่างช่วยไม่ได้ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

รายงานของอัลจาซีร่า เมื่อ 18 มกราคม บอกว่า นางโนเอลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษประจำตัวเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกิจการเมียนมา ออกมาเรียกร้องต่อไทยโดยตรงว่า ไทยต้องช่วย “ยับยั้ง” เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์ในเมียนมาเสื่อมทรามลงไปมากกว่านี้

และแสดงความยินดีที่ได้รับ “คำรับประกัน” จากทางการไทยว่าจะให้ความคุ้มครองต่อผู้หลบหนีการสู้รบในเมียนมาที่ทะลักเข้ามายังฝั่งไทยและจะส่งกลับก็ต่อเมื่อคนเหล่านี้สมัครใจกลับเท่านั้น

อัลจาซีราบอกว่า ตอนนี้มีชาวเมียนมาอยู่ในความ “คุ้มครอง” ของทางฝั่งไทยแล้วมากกว่า 1,300 คน แต่มิซซิมา นิวส์ ประเมินว่า มีคนอย่างน้อย 50,000 คนที่ต้องพลัดถิ่นอยู่ภายในเมียนมาจากการสู้รบหนักในเวลานี้

คนเหล่านี้อีกเท่าไหร่ที่ต้อง “หนีภัย” หรือ “หนีมาตั้งหลัก” ในไทย?

นี่คือเงื่อนปมซับซ้อน ละเอียดอ่อน ที่หนีไม่ได้ หลบไม่พ้น ในห่วงโซ่ความสัมพันธ์ ไทย เมียนมา แล้วก็อาเซียนครับ