ปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ชนวนไฟสงครามยุโรป?/บทความต่างประเทศ

A Ukrainian Military Forces serviceman stands in a trench on the frontline with Russia-backed separatists near to Avdiivka, southeastern Ukraine, on January 8, 2022. (Photo by Anatolii STEPANOV / AFP) / ìThe erroneous mention[s] appearing in the metadata of this photo by Anatolii STEPANOV has been modified in AFP systems in the following manner: [Ukrainian Military Forces servicemen] instead of [Ukrainian Territorial Defense Forces, the military reserve of the Ukrainian Armes Forces]. Please immediately remove the erroneous mention[s] from all your online services and delete it (them) from your servers. If you have been authorized by AFP to distribute it (them) to third parties, please ensure that the same actions are carried out by them. Failure to promptly comply with these instructions will entail liability on your part for any continued or post notification usage. Therefore we thank you very much for all your attention and prompt action. We are sorry for the inconvenience this notification may cause and remain at your disposal for any further information you may require.î

บทความต่างประเทศ

 

ปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ชนวนไฟสงครามยุโรป?

สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน ดินแดนในอดีตสหภาพโซเวียต กำลังเต็มไปด้วยความตึงเครียดหนัก ที่ทำให้หลายฝ่ายหวาดหวั่นว่าอาจจะปะทุกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ขึ้นในรอบหลายทศวรรษของยุโรปได้

โดยมีสัญญาณความเคลื่อนไหวล่าสุดที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของความหวาดหวั่นดังกล่าวที่อาจใกล้จะอุบัติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนกำลังทหารของรัสเซียเข้าไปในเบลารุส ชาติพันธมิตรของรัสเซียเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ที่อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุสบอกว่านั่นเป็นการเตรียมการของเบลารุสและรัสเซียในปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า

ความเคลื่อนไหวอีกด้านมาจากอังกฤษที่กำลังส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังพิสัยใกล้สำหรับป้องกันตนเองไปให้กับยูเครน พร้อมกับกำลังทหารอังกฤษอีกชุดหนึ่งเข้าไปทำการฝึกรบให้กับทหารยูเครน

โดยมีเสียงย้ำสำทับจากเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษว่าจะจัดหาความสนับสนุนช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับยูเครนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ หากรัสเซียยังมีพฤติกรรมเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคมากขึ้น

 

ย้อนไปเมื่อไปปลายปีก่อน หน่วยข่าวกรองของยูเครนและชาติตะวันตกส่งสัญญาณเตือนว่าการบุกโจมตียูเครนอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาอันใกล้ อย่างเร็วที่จะได้เห็นก็ในช่วงต้นปี 2022 นี้ได้ หลังจากการข่าวเชิงลึกจับความเคลื่อนไหวได้ว่ากองทัพรัสเซียได้เคลื่อนกำลังพลกว่า 100,000 นายเข้าประจำการตามแนวชายแดนของรัสเซียติดกับยูเครน ขณะที่ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ารัสเซียได้เคลื่อนยุทโธปกรณ์หนักอย่างปืนใหญ่อัตตาจร รถถังประจัญบาน และรถยานยนต์ทหารราบ เข้าไปปฏิบัติการซ้อมรบภาคพื้นดินห่างจากชายแดนยูเครนไปเพียง 300 ก.ม.เท่านั้น

บรรยากาศการเผชิญระหว่างยูเครนและรัสเซีย สองชาติปฏิปักษ์ คุกรุ่นหนักมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัสเซียใช้กำลังผนวกดินแดนไครเมีย ที่เคยอยู่ใต้อาณัติปกครองของยูเครน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จในปี 2014 โดยปราศจากการรับรองจากนานาชาติ

ภูมิภาคดอนบัส ที่ประกอบด้วยมณฑลโดเนตสก์และมณฑลลูฮันสก์ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของยูเครน เป็นอีกสมรภูมิความขัดแย้งของการเผชิญหน้าระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธในดอนบัส ซึ่งเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนออกจากยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 เช่นกัน โดยในพื้นที่ดังกล่าวยังมีกำลังพลรัสเซียประจำการอยู่ด้วย จากคำกล่าวอ้างของฝ่ายยูเครน

แต่รัสเซียปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

 

แต่ตัวแปรความขัดแย้งล่าสุดที่ทำให้บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความตึงเครียดหนัก หลักใหญ่มาจากการที่รัสเซียเห็นว่ายูเครนได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มากขึ้น ทั้งในแง่ของอาวุธยุทโธปกรณ์ การสนับสนุนยุทธวิธีสู้รบและบุคลากร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะอ้าแขนรับยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของนาโต ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัสเซีย

เซอร์เกย์ ริบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวย้ำในการพบหารือกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นครเจนีวาเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามทางการทูตเพื่อดับวิกฤตขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน โดยริบคอฟยืนยันในข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียที่ต้องการให้นาโตหยุดสยายปีกอิทธิพลด้านความมั่นคงมายังยุโรปตะวันออก ด้วยการให้หลักประกันรับรองว่ายูเครนจะไม่มีวันกลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโตอย่างเด็ดขาด

การเจรจาเพื่อดับวิกฤตความขัดแย้งรอบนั้นที่เจนีวาถูกระบุว่าล้มเหลวที่จะก่อผลเชิงบวก แต่การดำเนินการทางการทูตยังคงดำเนินต่อไป

โดยมีรายงานว่าบลิงเคนได้เดินทางไปยังกรุงเคียฟเพื่อพูดคุยหารือกับผู้นำยูเครนแล้ว ก่อนในสิ้นสัปดาห์เดียวกันนี้ เขาจะกลับไปเจรจาหารือใหม่กับเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ที่นครเจนีวาอีกครั้ง

 

นอกเหนือจากวิถีทางการทูตที่หลายฝ่ายยังคงผลักดันกันอยู่ ขณะเดียวกันทั้งสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรป ยังมีเครื่องมือหนึ่งในการตอบโต้รัสเซียหากก่อภัยคุกคามยูเครนหนัก นั่นก็คือ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ที่รวมถึงโครงการท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม 2 ของรัสเซียในเยอรมนี จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือตอบโต้ได้ ซึ่งอันนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ประกาศกร้าวไว้แล้วว่าหากรัสเซียขยายวงความรุนแรงไปมากกว่านี้ การเปิดดำเนินการท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม 2 ในเยอรมนี ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น

สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความอ่อนไหวมากนี้ นักวิเคราะห์อย่างมารี ดูมูแลง จากสภาวิเทศสัมพันธ์ยุโรป มองว่า ขณะที่ความพยายามทางการทูตยังดำเนินต่อไป แต่การตัดสินใจที่จะเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทต่อไปหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นคนที่ยากจะอ่านใจได้

ขณะที่ฟรองซัวส์ ไฮส์บูรก์ ผู้สันทัดกรณีอีกรายจากมูลนิธิเพื่อการวิจัยทางยุทธศาสตร์ในกรุงปารีส มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียในขณะนี้มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่งและความสุ่มเสี่ยงที่สงครามจะอุบัติขึ้นก็มีอยู่สูงเลยทีเดียว

โลกจึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าตัวแปรแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงในวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จะพัฒนาไปถึงจุดระเบิดเป็นสงครามนองเลือดขึ้นมาจริงๆ หรือไม่!