อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (15)

เช้าวันที่ 17 มีนาคม 1946 เวลา 09.45 น. ไต้ ลี่ ผู้ทรงอำนาจในกิจการลับทั้งปวงของ นายพลเจียง ไค เช็ก ขึ้นเครื่องบิน 222 ออกจากซิงเต่าไปยังซานไห่ และถ้าน้ำมันเพียงพอเขาต้องการจะบินต่อไปยังนานกิงด้วยซ้ำไป สามสี่วันนี้ ไต้ ลี่ เดินทางไม่หยุด เมื่อวันก่อนเขาบินจากปักกิ่งมายังเทียนสิน ก่อนจะพักค้างคืนที่นั่น แต่เช้าตรู่เขาสั่งให้นักบินบินตรงมาซิงเต่าเพื่อเติมน้ำมันและเดินทางต่อไปซานไห่

เขาต้องการเดินทางไปซานไห่เพื่อพบกับหูตี้ ดาราสาวผู้ที่เป็นคนรักของเขา

เขาต้องการดูว่าการหย่าร้างระหว่างเธอกับอดีตสามีเรียบร้อยดีเพื่อที่เขาจะได้แต่งงานกับเธอให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ เขายังต้องการไปยังฉงชิ่งเพื่อจัดการกับ หลี จี้ เซิน คู่แข่งทางการทหารของเขา

แต่น่าเสียดายที่การเดินทางของเขาไม่ประสบผลสำเร็จ เครื่องบิน 222 ประสบอุบัติเหตุตกลงลงที่เจียงหนิง และ ไต้ ลี่ ได้หายตัวไปจากโลกนี้

การกล่าวว่า ไต้ ลี่ หายไปจากโลกนี้ไม่ใช่เรื่องเกินเลย แม้จะพบร่างของเขาแต่มันก็ไหม้เกรียมเกินกว่าจะระบุได้

แม้ว่าชาวบ้านที่เจียงหนิงจะเห็นเครื่องบินลุกไหม้เป็นไฟก่อนจะตกลง แต่การรายงานเหตุการณ์นั้นกลับไปยังนานกิงอย่างรวดเร็วย่อมเป็นไปไม่ได้ อากาศในช่วงนั้นเลวร้ายมากจนวันรุ่งขึ้นการค้นหาจึงเริ่มต้นทั้งเครื่องบินจากสายการบินจีน กองทัพอากาศและเครื่องบินสหรัฐกระจายกันค้นหาอย่างต่อเนื่อง

และเป็นเครื่องบินของสหรัฐนั้นเองที่พบซากของเครื่องบิน 222 หน่วยจุนถงของ ไต้ ลี่ มาถึงในเย็นวันนั้นแต่พวกเขารายงานว่าไม่มีใครรอดชีวิต


หนังสือพิมพ์ ต้าจงเป่า รายงานข่าวในอีกห้าวันคือวันที่ 22 ต่อมาว่า

“จากเหตุการณ์เครื่องบินทางทหารที่บินออกจากซิงเต่าในเช้าวันที่ 17 และพบว่าตกใกล้นานกิง ลี่ จง ฉี หัวหน้าหน่วยพิสูจน์หลักฐานจากกรรมการทหารแห่งชาติได้เดินทางมาถึงเมื่อวานเพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายของเครื่องบิน เป็นที่ทราบกันต่อมาว่า ท่านนายพลไต้ ลี่ ได้โดยสารมากับเครื่องบินลำนี้ด้วยมีความกังวลมากถึงความปลอดภัยของท่าน แต่เรายังไม่อาจรายงานอะไรได้มากกว่านี้จนกว่าจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ”

ในขณะที่หนังสือพิมพ์เฉินเป่าเสนอข่าวเเบบชัดเจนว่า

“จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่าเครื่องบินลำนี้บินมาจากปักกิ่งไปซางไห่โดยมีจุดแวะพักที่ซิงเต่าและพุ่งเข้าชมยอดเขาหมายซานทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนานกิง นายพลไต้ ลี่ ผู้นำสูงสุดของหน่วยราชการลับเสียชีวิตในเครื่องบินลำนี้ ร่างของเขาไหม้เกรียม และถูกนำไปทำพิธีในวันที่ 22 แล้ว”


หลังการจากไปของ ไต้ ลี่ เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ อำนาจและอิทธิพลของเขาทำให้ไม่มีใครเชื่อว่านี่เป็นเหตุการณ์เครื่องบินตกธรรมดา มีข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่อธิบายถึงเหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้เริ่มจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์จงหยาง หลีเป่า ที่ว่า

“มีการพบว่าบนเครื่องบินลำนี้นอกจากท่านนายพลไต้ ลี่ แล้ว ยังมีนายพลหยี่ ถิง ผู้นำสูงสุดคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เพิ่งถูกปล่อยตัวได้ไม่นานนัก เชื่อว่าในระหว่างการบินทั้งคู่ได้มีปากเสียงกัน และทั้งคู่ใช้อาวุธปืนที่นำติดตัวมาด้วยยิงใส่กันจนทำให้เครื่องบินเกิดประกายไฟขึ้นและนำไปสู่อุบัติเหตุครั้งนี้”

ทฤษฎีสมคบคิดอื่นนั้นได้แก่ความเชื่อที่ว่า ไต้ ลี่ ถูกลอบสังหารหรือมีความพยายามจะสังหารเขาแต่จากใครนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ทางหนึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นคู่ปรับสำคัญของ ไต้ ลี่ อีกกลุ่มคือหน่วยใต้ดินของสหรัฐที่ไม่พอใจการทำงานของ ไต้ ลี่ ทั้งสองกรณีเชื่อว่ามีการแก้ไขเครื่องยนต์ของเครื่องบินให้ทำการไม่ได้ในระดับที่ห้าพันฟุต สแตนลี่ย์ โลเวลล์ ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์สายลับจำนวนมากให้กับหน่วยใต้ดินของสหรัฐได้ออกความเห็นยืนยันในเรื่องนี้ว่า

“ชายผู้ถูกเกลียดและกลัวมากที่สุดในประเทศจีนนาม ไต้ ลี่ ชายผู้เป็นดังขุนพลคู่ใจของ นายพลเจียง ไค เช็ก ชายผู้ได้รับสมญานามว่า ฮิตเลอร์แห่งประเทศจีน ทุกครั้งที่มีคดีสังหารหรือฆาตกรรมสำคัญในดินแดนนี้ ชื่อของเขาจะถูกพาดพิงเสมอ การบินครั้งนี้ของเขาผมได้รับการยืนยันว่าบินอยู่เหนือระดับห้าพันฟุต…”

แต่ทฤษฎีที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ไต้ ลี่ ไม่ได้ขึ้นเครื่องในวันนั้น การไปมาอย่างลึกลับไร้ร่องรอยของเขาเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดว่าความคิดที่ว่านี้มีความเป็นไปได้สูง ทางการจีนพยายามกลบข่าวลือนี้ด้วยการออกมายืนยันว่า

“แม้ว่าร่างของผู้เสียชีวิตจะไหม้เกรียม แขนขวาและขาขวาขาดวิ่น แต่เราก็เชื่อว่านั่นเป็นร่างของท่านนายพลไต้ ลี่ เราตรวจสอบทั้งฟัน เสื้อผ้า ชุดชั้นใน แม้แต่อาวุธข้างกายของท่าน เราได้รายงานแก่ท่านนายพลหู จง หนาน ว่า เราได้ตรวจสอบทุกแง่มุมไม่มีการฆาตกรรม ลอบสังหารเกิดขึ้นในอุบัติเหตุครั้งนี้ ทุกอย่างเป็นความประมาทของนักบินและทัศนวิสัยที่ไม่ดีที่ทำให้เครื่องบินพุ่งชนภูเขาและประสบอุบัติเหตุ”

บุคคลหนึ่งที่เชื่อว่า ไต้ ลี่ ได้ตายไปแล้วจริงๆ หากแต่ไม่ใช่ในทุกแนวคิดที่ว่า คือ เฉิน หัว-Chen Hua เธอเชื่อว่าสำหรับคนอย่าง ไต้ ลี่ แล้ว สิ่งเดียวที่จะนำความตายมาสู่เขาได้คือการสังหารตัวเอง เฉิน หัว เป็นคนรักของ ไต้ ลี่ และแม้ ไต้ ลี่ จะมีผู้หญิงจำนวนมากข้างกาย แต่ เฉิน หัว เป็นคนที่ใกล้ชิดเขาที่สุด ไต้ ลี่ พบเธอในปี 1932 ในขณะนั้น เฉิน หัว ยังเป็นคนรักของอดีตนายทหารองครักษ์คนหนึ่งของ ซุน ยัต เซน แต่หลังจากนั้นเธอก็ผละมาอยู่กับ ไต้ ลี่ ผู้ที่เธอรู้สึกว่าด้านที่อบอุ่นนอกเหนือจากสิ่งที่เขาแสดงออกภายนอก

เฉิน หัว ร่วมงานกับ ไต้ ลี่ ในฐานะคนส่งข่าวสำคัญในงานสืบราชการลับไม่ว่าจะเป็นกรณีของสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่น หรือการศึกกับพวกคอมมิวนิสต์จีน ไต้ ลี่ เองถึงกับยอมรับว่าเธอมีผลต่อความสำเร็จในงานใหญ่ของเขามากกว่าครึ่งด้วยซ้ำไป

เฉิน หัว เล่าให้ฟังว่า ในการมาเยือนซานไห่ ครั้งสุดท้ายของ ไต้ ลี่ เขาได้พูดกับเธอว่า

“ฉันปรารถนาจะเป็นนายทหารอาชีพตลอดชีวิต แต่หลังจากศึกกับญี่ปุ่นจบลง ฉันคิดว่าพี่ใหญ่ (เฉิน หัว เชื่อว่าคือ เจียง ไค เช็ก) คงไม่ต้องการฉันอีกต่อไป และนั่นย่อมหมายถึงความตายของฉันเป็นแน่”

เช้าวันเกิดเหตุ เฉิน หัว ได้รับโทรศัพท์จาก หวัง ซิน เฮง นายตำรวจที่ซานไห่ ว่า ไต้ ลี่ จะกลับมาซานไห่

เย็นวันนั้น เฉิน หัว ไปรอ ไต้ ลี่ ที่บ้านของ หวัง ซิน เฮง แต่เมื่อถึงเวลานัด หวังฯ บอกกับเธอว่าเครื่องบินหายไปและในท่ามกลางอาหารมื้อค่ำนั้นเอง เฉิน หัว ก็ประกาศต่อทุกคนว่า ไต้ ลี่ คงเสียชีวิตแล้วจากเครื่องบินตก

เธอเชื่อว่า ไต้ ลี่ หยิบปืนออกมา จ่อยิงหัวนักบินและพร้อมจะตายอย่างมีเกียรติด้วยน้ำมือตนเอง

 

ความตายของ ไต้ ลี่ เป็นปริศนา จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง สำนักข่าวซินหัวของจีนได้เปิดเผยเอกสารลับอันหนึ่งว่าหลังเหตุการณ์เครื่องบินตกได้สองปี วันหนึ่ง เจียง ไค เช็ก ได้รับเอกสารสำคัญลับสุดยอดว่า ไต้ ลี่ ถูกสังหารโดยเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาในปักกิ่งนาม หม่า ฮาน ซาน-Ma Hansan

หม่า ฮาน ซาน นั้นเป็นเพื่อนเก่าแก่ของ ไต้ ลี่ เขาเองเป็นคนส่งเสริม หม่า ฮาน ซาน ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญในปักกิ่ง เพราะเหตุใดเล่า หม่า ฮาน ซาน จึงอยากกำจัด ไต้ ลี่?

เอกสารลับเผยว่า ในเดือนมีนาคมก่อนเหตุการณ์เครื่องบินตก ไต้ ลี่ ได้เดินทางไปปักกิ่ง ที่นั่นเขาได้สอบสวนนักโทษคนสำคัญคนหนึ่งคือ อ้ายชิง เจียเหรอ เสี่ยนอี๋ หรือ โยชิโกะ คาวาชิม่า ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของอ้ายชิง เชียวเหรอ ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เช็ง

เธอเล่าให้ ไต้ ลี่ ฟังว่า กองทัพญี่ปุ่นเคยจับ หม่า ฮาน ซาน ได้ เขาบอกทุกอย่างที่เป็นความลับของทางการให้กับกองทัพญี่ปุ่นแถมยังส่งมอบดาบของราชวงศ์เช็งให้กองทัพญี่ปุ่นด้วย โดยดาบเล่มนี้เมื่อกองทัพญี่ปุ่นหมดอำนาจแล้ว หม่าฯ ได้มาเอาคืนไปจากบ้านของเธอ

แม้จะตกใจในความจริงข้อนี้ แต่ ไต้ ลี่ ยังคงเก็บความรู้สึก เขาสั่งให้หม่าฯ ดูแล โยชิโกะ คาวาชิม่า ให้ดี หม่าฯ และ ไต้ ลี่ พบกันในวันที่ 16 มีนาคม ที่สนามบินเทียนสินก่อนเครื่องบินตกหนึ่งวันทั้งคู่ยิ้มให้กันอย่างเป็นมิตร ที่นั่นเองที่หม่าฯ ส่งสัญญาณให้ หลิว ยู ซู- Liu Yuzhu ผู้รับใช้ของเขาซ่อนระเบิดไว้ในเครื่องบิน โดยหลิวฯ ได้ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยาน

โดยหม่าฯ ซ่อนมันไว้ในกล่องไม้ที่ส่งถึงซานไห่และหลังจากเครื่องบินออกจากซิงเต่า ระเบิดก็ทำงานทันที

เจียง ไค เช็ก ได้สั่งให้ทำการสอบสวนเรื่องนี้ในทางลับ และหลังจากได้ผลว่าเป็นจริง เขาสั่งให้จับทั้ง หม่า ฮาน ซาน และ หลิว ยู ซู ในเดือนมิถุนายน ปี 1948 ทั้งคู่รับสารภาพ และในวันที่ 27 กันยายน 1948 หม่า ฮาน ซาน และ หลิว ยู ซู ก็ถูกประหารชีวิต

วีรกรรมของ ไต้ ลี่ จนกระทั่งถึงความตายของเขาเป็นสิ่งที่ถูกเปิดเผยทีละน้อยดังการปอกเปลือกหัวหอม

ไต้ ลี่ นั้นมีเครือข่ายด้านกิจการลับหรือสปายเป็นจำนวนมาก น่าสนใจว่าเขาได้จับกุมสายลับหรือผู้ที่ทำงานใต้ดินจำนวนมากที่มาเคลื่อนไหวในจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และหนึ่งในนั้นคือบุคคลจากเมืองไทยนาม จำกัด พลางกูร