ธนาคารใหญ่ใหม่ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

ธนาคารใหญ่ใหม่

 

ธนาคารพาณิชย์ใหญ่แห่งใหม่ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปีที่แล้ว

เป็นเหตุการณ์ซึ่งผู้คนอาจไม่สนใจมากนัก อีกทั้งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่รู้กันมากว่า 2 ปี จากกรณีใหญ่ ได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานั้น

“เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) ระหว่าง ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ING Groep N.V., บริษัท ทุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต” (สาระสำคัญ สรุปความจากถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต)

การดำเนินการผ่านกระบวนการต่างๆ ตั้งต้นตั้งฐานไว้ที่ธนาคารทหารไทย จนมาถึงเป้าหมายเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้ประเดิมประกาศเปลี่ยนชื่อธนาคาร “ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ได้มีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อของธนาคารจาก “ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน)” เป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)” หรือ TMBThanachart Bank (TTB)

จนในที่สุด “ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) หรือธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า การรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตได้เสร็จสมบูรณ์เป็นธนาคารเดียวกันเรียบร้อยแล้ว” (ตามหนังสือลงนามโดยผู้บริหาร ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เรื่อง แจ้งผลการรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต เรียน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ที่สำคัญนับเป็นประสบการณ์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารทั้งสองได้เคยผ่านกระบวนทำนองข้างต้น โดยเฉพาะการควบรวมกิจการมาหลายครั้ง ทั้งเป็นดีลที่มีความสัมพันธ์กับธนาคารระดับโลก เป็นมาตั้งแต่สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540

 

ธนาคารทหารไทย ชื่อบอกที่มา ก่อตั้งเป็นธนาคารของทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2499) ด้วยบริบทและสถานการณ์ที่เป็นไป ต่อมาจำต้องใช้มืออาชีพ การปรับโครงสร้างธนาคารไทยครั้งใหญ่ ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก (ปี 2547) ควบรวมกับธนาคารไทยทนุ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ไอเอฟซีที)

ธนาคารไทยทนุ มีความสัมพันธ์กับตระกูลผู้ดีเก่ากับราชนิกุล มีพัฒนาการอย่างเรียบๆ เงียบๆ เรื่องราวตื่นต้นขึ้นมา เมื่อทนายประจำตระกูลผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายธนาคารด้วย แอบซื้อหุ้นอย่างเงียบๆ จนเป็นถือหุ้นใหญ่อย่างไม่คาดคิด จนสามารถเข้าบริหารธนาคารได้ช่วงหนึ่ง (2536-2540) ครั้นเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ก็สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ในปี 2541 ธนาคารไทยทนุได้ขายหุ้นข้างมากให้ DBS ธนาคารอันดับหนึ่งแห่งสิงคโปร์ เปลี่ยนชื่อเป็นดีบีเอสไทยทนุ

ส่วนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมหรือไอเอฟซีที ก่อตั้งในยุคอิทธิพลธุรกิจญี่ปุ่น ยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจไทย เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย บ้างก็ว่า มีส่วนสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจใหญ่บางแห่งเป็นพิเศษ

การควบรวมครั้งนั้น กระทรวงการคลังเข้ามามีอิทธิพลแทนกองทัพ มีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น TMB (ปี 2548) ทว่าภาษาไทยก็ยังคง “ทหารไทย”

ครั้งที่สอง (ปี 2550) มาจากแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง ธนาคารทหารไทยต้องเพิ่มทุนหลายครั้ง เป็นภาระกระทรวงการคลังค่อนข้างมาก จึงเจรจาให้ธนาคารต่างชาติเข้าถือหุ้น

จนมาลงตัวที่ ING Bank N V ธนาคารแห่งเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นประมาณ 30% มีบทบาทบริหารธนาคารด้วย

 

อีกฝ่าย ธนาคารธนชาต หนึ่งในธนาคารเกิดใหม่ (ปี 2547) จากโอกาสเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ตามแผนการปรับโครงสร้างท่ามกลางการล่มสลายและหลอมรวม อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ผู้ก่อตั้งคนสำคัญ มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน สามารถกอบกู้กิจการเงินเล็กๆ จนแข็งแรงและพัฒนาไป

ต่อมา The Bank of Nova Scotia ธนาคารชั้นนำของแคนาดา เข้าถือหุ้น (ปี 2550) ถึง 49% จากนั้นก้าวอีกขั้น เข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทย (ก่อตั้งปี 2484) ธนาคารไทยอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตำนานผ่านจากยุคธุรกิจครอบครัวอันซับซ้อน สู่ธนาคารซึ่งรัฐต้องโอบอุ้มด้วยเผชิญปัญหามาเป็นระยะๆ

ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของกลุ่มธนชาต จากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย ในสัดส่วนถึง 99.95% เป็นจังหวะสำคัญธนาคารเกิดใหม่ เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นธนาคารขนาดกลางของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

ผมเคยว่าไว้เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว (มติชนสุดสัปดาห์ 8 มีนาคม 2562) ว่า ดีลสำคัญเกี่ยวข้องธนาคารระดับโลก 2 แห่ง-ING Groep N.V แห่งเนเธอร์แลนด์ และ The Bank of Nova Scotia แห่งแคนาดา “…มีความเป็นไปไม่ได้เลย ธนาคารทั้งสองแห่งจะยังคงอยู่ด้วยกันในฐานะผู้ถือหุ้นในธนาคารซึ่งดูเหมือนจะใหญ่ขึ้น แต่มีขนาดเล็กเหลือเกินเมื่อเทียบกับเครือข่ายทั่วโลกของธนาคารทั้งสองแห่งนั้น”

ที่สำคัญในเวลานั้น ทั้งสองธนาคารมีมุมมองทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ING ย้ำว่าเมื่อดีลจบแล้ว “คาดว่าจะถือถือหุ้นมากกว่า 20% และคงเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป (committed shareholder)” ในภาพกว้าง ING มองเครือข่ายธุรกิจย่านเอเชียเป็น “ตลาดที่เติบโต” (Growth Markets)

ขณะ Scotiabank กล่าวถึงดีลในเมืองไทยด้วยว่า “จะลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ” และที่สำคัญหวังว่า “จะได้ผลตอบแทนทีดีในการขายหุ้น”

 

ภาพล่าสุดของธนาคารใหม่ที่ถือว่าเป็นธนาคารมีสินทรัพย์เป็นอันดับ 6 ของระบบในระดับมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะพบว่า ING BANK N.V. ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด 23.02% (ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 เมษายน 2564) ที่สำคัญ ประธานกรรมการบริหารคนปัจจุบัน คงเป็นคนของ ING

เป็นชิ้นส่วนสะท้อนภาพใหญ่ ว่าด้วยพัฒนาการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีการปรับตัวมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษ ปรากฏโครงสร้างทั้งระบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีธนาคารระดับโลกเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” มากขึ้น เปิดฉากเป็นไปอย่างคึกคัก

แต่พิจารณาอย่างลึกลง พบว่าเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับธนาคารขนาดเล็ก ในระยะต่อมามีธนาคารต่างชาติหลายแห่งทยอยถอนการลงทุนออกไป

โครงสร้างระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นเข้ามา เป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่าง โดยเข้ามาถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ ในธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กว่าทุกดีลที่ผ่านมา–ปลายปี 2556 MUFG กลุ่มธนาคารอันดับหนึ่งแห่งญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนข้างมาก (ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 8 กันยายน 2564 ระบุว่ามีสัดส่วนถึง 76.88%) ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่น่าสนใจแม้ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แต่เติมข้อสำคัญไว้ในโลโก้อย่างมีนัยยะว่า “A member of MUFG, a global financial group”

กรณี TTB จึงเป็นอีกดีลหนึ่ง สร้างแรงกระเพื่อมโครงสร้างธนาคารใหญ่ไทย