ปี 2565 : บทเรียนจะนะ ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระอนาคตของไทย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ปี 2565 : บทเรียนจะนะ

ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระอนาคตของไทย

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

พี่น้องชาวจะนะ จังหวัดสงขลา เพิ่งบอกลาเมืองกรุงได้กลับบ้าน หลังจากขึ้นมาทวงสัญญาขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรม (จนเป็นข่าวดัง) ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ไปเมื่อวันก่อน มาวันที่ 16 มิถุนายน 2564 มีพี่น้องจังหวัดภาตใต้ ชาวบ้านนาบอน จ.นครศรีธรรมราช บุกขึ้นมาเรียกร้องใน กทม. ขอให้ “Save นาบอน” ทั้งที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และที่บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN)

ดังนั้น การต่อสู้ของชาวบ้านจะนะรวมทั้งนาบอนจนทำให้รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องโดยเฉพาะเรื่อง SEA ย่อมมีบทเรียนมากมายมิควรให้มันหยุดแค่เป็นประเด็นจะนะ (รวมทั้งนาบอน) อำเภอเล็กๆ

สำหรับคำว่า SEA หรือ Strategic Environmental Assessment แปลตรงๆ ว่า การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์

แปลให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ เป็นการศึกษาภาพกว้างว่า สมควรดำเนินโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าควรสร้างควรจะสร้างที่ไหน เมื่อระบุคร่าวๆ แล้วว่าควรจะสร้างและสร้างที่ไหน จึงค่อยมาศึกษา EHIA หรือ EIA เพื่อลงรายละเอียดต่อไป

เนื้อหาเป็นไปตามข้อเรียกร้องที่พี่น้องจะนะ (รวมทั้งนาบอน) เสนอต่อรัฐบาลนั้นหัวใจสำคัญ คือ ทุนและรัฐ ต้องคืนอำนาจให้พี่น้องจะนะ การพัฒนาจะนะจะต้องมีรูปแบบที่หลากหลาย SEA “การประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแสวงหารูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรอำเภอจะนะเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่นำไปสู่การกระจายและเป็นธรรมต่อประชาชนโดยรวมของอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียง”

และที่สำคัญประเทศนี้หลังจากนี้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาหมดสมัยที่กลุ่มทุนจะมาชี้นิ้วสั่งการอีกต่อไป

อะไรคือข้อเสนอ

ข้อเสนอนี้ผู้เขียนมิได้คิดเองเออเอง แต่มันคือบันทึกการปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาแนวทางการจัดทำ SEA จะนะ จากมุมมองนักวิชาการ

1. SEA จะนะ ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระอนาคตของประเทศไทยและอนาคตโลก

แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment (SEA) ของจะนะ ควรได้รับการสถาปนาให้เป็นอนาคตของประเทศไทยและเป็นวาระของโลก กลุ่มนักวิชาการมีประเด็นเสนอต่อกระบวนการในการดำเนินการ SEA จะนะ และทิศทางที่เหมาะสม ดังนี้

1.1 ร่วมกันเขียน TOR

สภาพัฒน์เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเขียน TOR ตั้งแต่ต้น ถือเป็นกระบวนการสำคัญก่อนเริ่มทำ SEA จะนะ

กระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจขอบเขตของการจัดทำ SEA จะนะ ตรงกัน

นักวิชาการเห็นว่าการเขียน TOR ไม่ควรเป็นหน้าที่ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพียงหน่วยงานเดียว บทบาทของสภาพัฒน์ควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) โดยนำทุกภาคส่วน ได้แก่ นักวิชาการในระดับท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นายทุน ประชาชน และชาวบ้าน

นักวิชาการเห็นพ้องว่า กระบวนการร่วมเขียน TOR นี้ จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าการทำ SEA จะนะ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงควรเริ่มตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมร่าง TOR สภาพัฒน์ควรเสนอแนะทำความเข้าใจต่อรัฐบาลว่า แนวทางเช่นนี้ เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายได้พัฒนาความสัมพันธ์ในทิศทางบวก

โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้กระบวนการจัดทำ SEA จะนะ เป็นไปได้โดยราบรื่น

2. เปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ (Repositioning) เพื่อทำ SEA จะนะ

Repositioning โดยสร้างบทบาทของมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ สำหรับทำให้เกิดความไว้วางใจจากทุกฝ่าย และมหาวิทยาลัยควรนำเสนอทางเลือกในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และให้ความรู้กับสังคมสาธารณะผ่านกระบวนการจัดทำ SEA จะนะ

ตัวอย่างเช่น ถ้าใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นหัวขบวนในการทำ SEA จะนะ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ควรสร้าง “วิชาเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

มหาวิทยาลัยควรระดมสาขาวิชาที่มีความหลากหลายในมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองบทบาทและพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม ในการมีส่วนรับผิดชอบต่อประเด็นปัญหา โดยใช้จุดเริ่มต้นจากกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สู่ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น

มหาวิทยาลัยควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างความตระหนักและก่อให้เกิดความตื่นตัวของนักวิชาการที่มีอายุแตกต่างกัน

Repositioning การวางตำแหน่งใหม่ของสภาพัฒน์ นักวิชาการเสนอว่า บทบาทของสภาพัฒน์ควรสร้างพื้นที่ร่วมทางสังคม โดยการระดมสติปัญญาจากฝ่ายวิชาการ เพื่อให้ฝ่ายวิชาการได้นำเสนอทางเลือกและทางออกสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า มีกี่รูปแบบ แต่ละรูปแบบเป็นอย่างไรที่ชัดเจน นักวิชาการในมหาวิทยาลัยควรอธิบายว่า ทางเลือกแต่ละแบบมีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคอะไรบ้าง

เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ถูกต้องจนสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการผลักดันให้เกิดนโยบายสำหรับอนาคต สอดคล้องกับบทบาทของมหาวิทยาลัยและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. SEA จะนะ ควรเป็นหมุดหมายในระดับ “ภูมิภาค” คิดเป็นหน่วยนิเวศน์ท้องทะเล หรือติดกับท้องทะเล

กระบวนการทำ SEA จะนะ จะต้องมองให้ไกลและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาในระดับภูมิภาค ใช้มิติมุมมองทางนิเวศน์ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ SEA จะนะ ควรพิจารณาเป็นการเมืองระดับท้องทะเล ดังนั้น เมื่อทะเลเชื่อมโยงกันทั้งโลก การทำ SEA จะนะ ควรมีขอบเขตที่กว้างกว่าพื้นที่อำเภอจะนะ และจังหวัดสงขลา เพื่อไม่ให้ติดปัญหาในเชิงเทคนิค

หากนิยาม SEA จะนะ เช่นนี้ ความหมายของทะเลจึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างทะเลกับคนในภาคใต้ ทั้งที่ติดทะเลและไม่ติดทะเล เนื่องจากเมื่อเกิดผลกระทบจากปัญหาการพัฒนา จะเป็นผลกระทบสะสมไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่จะนะเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อพื้นที่วงกว้าง ดังนั้น

3.1 หน่วยของการวิเคราะห์ คือ คน สังคม พื้นที่ทะเล ภูเขา ในสัดส่วนที่ใหญ่ เนื่องจากจะมีการสะสมที่ยาวนาน

3.2 สร้างข้อสรุปใหม่ ที่ให้ความใส่ใจกับผลกระทบที่ยาวนานและต่อเนื่อง โดยจะต้อง trade of ทุกๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีตัวเลขที่ชัดเจน ในลักษณะผลกระทบเชิงซ้อนว่าโอกาสในการเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหนถ้ามีการสร้างและไม่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

3.3 ให้ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น บางทีในมุมวิชาการ อาจจะต้องนำเสนอให้ภาพเป็นขาว-ดำ เพื่อให้สื่อได้ชัดเจนถึงผลกระทบที่ตามมาหลังจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรม และให้สังคมตั้งคำถามโดยใช้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

3.4 การจัดการทะเลและชายฝั่ง เน้นแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและการกระจายอำนาจ การจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่สามารถวิเคราะห์และปรับโครงสร้างได้

4. มอง SEA จะนะ ในระดับนโยบาย

ถึงแม้ว่า การผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะถูกดำเนินการไปแล้ว เช่น การกว้านซื้อที่ดิน การเปลี่ยนแปลงผังเมือง

แต่กระบวนการจัดทำ SEA จะนะ จะต้องเริ่มเสมือนหนึ่งว่า ยังไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สมบูรณ์มากที่สุด

ให้เกิดทางเลือกต่อทิศทางการพัฒนาอื่น เช่น หากนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะมีการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ให้มาช่วยกันวางว่า หากนำเงินในจำนวนเดียวกันไปพัฒนาอย่างอื่น จะทำอะไรได้บ้าง

เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ท้องทะเล ที่สอดรับกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

5. กระบวนการที่ควรทำควบคู่ไปกับการจัดทำ SEA จะนะ

5.1 กระบวนการสร้างแผนที่เศรษฐกิจ ในพื้นที่จะนะ จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เป็นแนวทางนำเสนอทางเลือกสำหรับการพัฒนาในอนาคต

5.2 ให้นักเศรษฐศาสตร์ทำ model ไว้ล่วงหน้า สำหรับเสนอเป็นแผนการลงทุนในอนาคต เช่น นำเสนอประเด็นที่เป็นรูปธรรมพร้อมคุณค่า ในงบฯ 10 ล้าน, 100 ล้าน หรือ 2,000 ล้านบาท ที่จะมาลงทุนในอำเภอจะนะ เป็นรายปี ให้มีนัยยะในการเชิงการสื่อสารกับสังคม

5.3 หาข้อมูลและช่องโหว่ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เช่น หาก TPIPP มีปัญหาเรื่องที่ดิน ให้เตรียมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งที่ดิน เช่น การคดโกง การออกเอกสารโดยใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมว่ามีกี่แปลง เพราะประเด็นเหล่านี้ถือเป็น “จุดตาย” และ “ลดความเข้มแข็ง” ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และลดความมั่นใจของ ศอ.บต.

5.4 ให้กรณีปัญหาความทุจริตและความไม่โปร่งใส เป็นตัวอย่างสำหรับการรวบรวมข้อมูลให้พื้นที่อื่นๆ หากมีโครงการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นอีกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คลองไทย โดยมอบหมายและให้ความหาร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยลาดกระบังชุมพร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และที่อื่นๆ เพื่อมาคิดร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร และเตรียมไว้สำหรับการทำ SEA ในพื้นที่ต่อไป

โดยกรอบเวลาการทำงานไม่จำเป็นจะต้องมีกรอบเวลาเดียวกัน หรือทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

6. แนวทางการจัดทำ SEA จะนะ ที่ไม่เหมาะสม

การทำ SEA จะนะ ที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การแบ่งให้กระทรวงต่างๆ หรือเฉพาะฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายมหาวิทยาลัย รับผิดชอบจัดทำ SEA จะนะ ในแต่ละด้าน

แนวทางเช่นนี้ไม่ได้สร้างการบูรณาการอย่างแท้จริง

เนื่องจากการทำ SEA จะนะ จะต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และให้พื้นที่มีส่วนในการตัดสินใจ

โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และระบบนิเวศน์โดยภาพรวม

7. ประเด็นที่ควรสนใจระหว่างกระบวนการจัดทำ SEA จะนะ

7.1 สนใจข่าวและข้อมูลในเชิงลบต่อกระบวนการจัดทำ SEA จะนะ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เช่น มองว่า SEA จะนะ เป็นการหลอกลวงรอบใหม่ของรัฐบาลหรือไม่ เพราะลงทุนไปสูงและยากเกินกว่าที่จะยกเลิก และการลบล้างภาพมายาคติเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมกับการจ้างงาน

7.2 ให้ดึงเยาวชนต้นแบบ “ไครียะห์” เข้ามาร่วมในการพูดคุยกับการจัดทำ SEA จะนะ เนื่องจากเยาวชนยังใช้ภาษาที่ไม่ใช่เล่นการเมือง และเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ว่า การท้วงติงและการทวงถาม ไม่ใช่การขัดขวางการพัฒนา แต่ควรให้สังคมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและตรงกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

7.3 ควรทำให้กระบวนการจัดทำ SEA จะนะ เป็นประเด็นสาธารณะ เวทีวิชาการ เน้นการสื่อสารต่อสังคม

7.4 ควรนำประเด็นการพูดคุยในมุมวิชาการและกระบวนการกับนายกสภามหาวิทยาลัย

7.5 ทำภาษา SEA จะนะ ให้เป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจได้ง่าย

นี่คือทางออกอย่างยั่งยืน สำหรับปี 2565 ซึ่ง SEA สำหรับชาวบ้านแล้ว จะนะคือต้นแบบของชุมชนที่ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง