เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /ดับทุกข์กายไม่ใช่ดับทุกข์ใจ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ดับทุกข์กายไม่ใช่ดับทุกข์ใจ

 

บทมรณานุสติที่เป็นคาถาภาษาบาลีนี้ฟังกันคุ้นหูจนแทบไม่รู้สึกลึกซึ้งอะไร แถมจะดูเป็นพิธีกรรมธรรมเนียมการทอดผ้า รับผ้าบังสุกุลเพียงเท่านั้น

ลองอ่านลองฟังดู

 

๐ อนิจจา วะตะ สังขารา   อุปปาทะวะยะธัมมิโน

อุปปัตชิตวา นิรุธฌันติ     เตสัง วูปะสะโม สุโข

สัพเพ สัตตา มรันติ จะ     มะริงสุ จะ มะริสสะเร

ตะเถวาหัง มะริสสามิ      นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย ฯ

 

ทุกวรรคจะนับได้แปดพยางค์พอดี ราวกับจะเป็นต้นแบบกลอนแปด ซึ่งดูสมจริงด้วย บทคาถาบาลีนั้น ที่เป็นบทสวดทั้งหลาย รวมทั้งบทสุภาษิตส่วนใหญ่ล้วนกำหนดได้แปดพยางค์ หรือวรรคละแปดพยางค์ทั้งนั้น

เช่น บทสวดปฐมพุทธภาษิตที่เริ่มว่า

 

๐ อะเนกะชาติสังสารัง     สันธาวิสสัง อนิพพิสัง

คะหะการัง คะเวสันโต    ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง ฯ

 

แม้กระทั่งบทสวดคุ้นชินคือ

๐ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

หรือบทภาษิตทั้งหลาย เช่น

สุขาสังฆัสสะสามัคคี เป็นต้น

นี้กระมังจึงมีคาถากวีว่า

กะวิคาถา นะมาสะโย

แปลว่า กวีเป็นที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลาย

 

กลับมาที่บทมรณานุสติที่ยกมาข้างต้น ใจความโดยสังเขปนี้ยืนยันสัจธรรมแห่งคาถาแจ่มชัดยิ่งคือ

 

อนิจจา วะตะ สังขารา      สิ่งปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง

อุปปาทะวะยะธัมมิโน      มีความเสื่อมไม่เป็นธรรมดา

อุปปัตชิตวา นิรุธฌันติ     เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

เตสัง วูปะสะโม สุโข       ความรำงับดับไปเป็นความสุข

สัพเพ สัตตา มรันติ จะ     สัตว์ทั้งหลายที่ตายอยู่นี้

มะริงสุ จะ มะริสสะเร     ที่ตายเบื้องหน้าก็ดี

ตะเถวาหัง มะริสสามิ      ตัวเราก็จะเป็นเช่นนี้

นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย   ไม่พึงสงสัยในเรื่องนี้

 

แปลโดยสังเขปความประมาณนี้

พระท่านชักผ้าบังสุกุลหน้าศพก่อนประชุมเพลิงจะสวดบทนี้ เพื่อให้เป็นมรณานุสติ คือ คำเตือนให้สติรำลึกถึงความตาย หรือความดับสิ้นแห่งสังขาร

 

พึงรำลึกรู้ด้วยว่า คำ “สังขาร” นั้นมิได้หมายแค่ “ร่างกาย” ดังความหมายทั่วไปที่รับรู้กัน หาก “สังขาร” นี้แปลว่า “ปรุงแต่ง”

ตรงนี้สำคัญนัก ด้วยหมายรวมสรรพสิ่งทั้งหมดแทบจะไม่ยกเว้นอะไรเลย เรียกว่าไม่มีอะไรเลยที่เกิดขึ้นโดยไม่ปรุงแต่ง

รวมหมดทั้งสรรพวัตถุ สรรพสิ่ง จนถึงจักรวาลล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทั้งที่รู้ได้และมิอาจรู้ได้ด้วยกันสิ้น เรียกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเองลอยๆ โดยไม่มีสาเหตุ

แม้จิตเราเองก็อาศัยเหตุปัจจัยนานามากำหนดด้วยกันสิ้น ดังศัพท์วิทยาศาสตร์สังคมว่า “วัตถุกำหนดจิต” นั้น หมายความว่า เซลล์ที่ประกอบอยู่ในกายนี่แหละที่ทำให้เกิด “จิต” คือการรับรู้ทั้งหลาย และเซลล์ก็คือวัตถุ

ภาษาพระเรียก “มโนธาตุ” คือธาตุ ซึ่งก็คือวัตถุอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการ “รู้” หรือ “ธาตุรู้”

ดังอธิบายความหมายใน “ขันธ์ห้า” โดยแยกเป็น “รูปกับนาม” ซึ่งคือ “กายกับจิต” นั่นเอง

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป คือ กาย

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ จิต

วิญญาณ คือตัวจิต หรือมโนธาตุ ดังศัพท์ญาณแปลว่า รู้ วิหรือวิญแปลว่า ยิ่ง วิญญาณจึงแปลว่า “รู้ยิ่ง” อันเป็นมโนธาตุ เป็นตัวจิต

ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร สามอย่างนี้เป็นคุณสมบัติหรือบทบาทของจิต คือ

เวทนา หมายถึง การรับรู้ทางสัมผัสทั้งห้า มีตา หู จมูก ลิ้น กาย

สัญญา หมายถึง จำได้ หมายรู้

สังขาร หมายถึง การปรุงขึ้นเป็นความคิด

เวทนา สัญญา สังขาร แปลเป็นคำไทยง่ายๆ ก็คือ รู้สึกนึกคิดนั่นเอง

และในสามบทบาทของจิตนี้ มีกาละ คือ ช่วงเวลา กำหนดอยู่ด้วย คือ รู้สึกเป็นปัจจุบัน นึกเป็นอดีต คิดเป็นอนาคต

นี้คือทั้งหมดในกระบวนการทางจิตของมนุษย์

เพราะฉะนั้น คำสังขารคำเดียวจึงครอบคลุมหมดทุกสรรพสิ่ง แทบจะไม่เว้นอะไรเลย ทั้งวัตถุและจิต

 

ที่ว่า แทบจะไม่เว้นอะไรเลยนั้น ในทางธรรมถือว่า “การไม่ปรุงแต่ง” นั่นเอง คือ “สิ่งยกเว้น”

นี้ดูจะเป็นเหตุผลแบบตรรกะ หากนี่เองคือสัจธรรมสูงสุดในพุทธศาสนาด้วย การรำงับดับซึ่งสังขารคือการปรุงแต่งในจิต นี้แหละเป็นการ “ดับทุกข์”

ดับทุกข์ คือ สภาวะแห่งนิพพาน

นิพาน คือ ความดับเย็น

นิพพานในความหมายดั้งเดิมของอินเดียใช้กับเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ถ่านร้อนเมื่อดับเย็นแล้วก็เรียกว่าถ่านมันนิพพาน วัวเชื่องใช้งานได้แล้วก็เรียกวัวมันนิพพานแล้ว

จิตเป็น “ปกติ” ไม่ปรุงแต่งไปตามกิเลสแล้ว จึงเรียกว่าจิตได้ถึงแล้วซึ่งสภาพของ “นิพพาน”

ความตายเป็นการดับสังขาร คือ ดับปรุงแต่งทางกาย เป็นความดับทุกข์ทางกาย ถ้าจะเรียกโดยศัพท์ก็อาจว่าเป็นนิพพานทางกาย คือการระงับดับความปรุงแต่งทางวัตถุที่ปรุงขึ้นมาเป็นกาย

บทมรณานุสติ เตือนให้ผู้ยังมีชีวิตครองกายครองจิตอยู่ พึงมีสติรำลึกถึงสภาวะแห่ง “ปกติจิต” ว่านี้คือ

ความดับทุกข์แท้จริง

 

มรณานุสติ

 

สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง

มีความเสื่อม ความเสี่ยง ความดับสูญ

เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เพิ่มพูน

ไม่สมบูรณ์ ไม่จีรัง ไม่ยั่งยืน

 

ความระงับดับซึ่ง ความปรุงแต่ง

ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปไม่อาจขืน

หมดเหตุหมดปัจจัย ให้คงคืน

ย่อมกลมกลืนกับความเป็นธรรมดา

 

ท่านผู้ละสังขาร การปรุงแต่ง

ละหลักแหล่งทั้งหลายในโลกหล้า

เข้าถึงความดับซึ่ง สังขารา

ทั้งเบื้องหน้า เบื้องนี้ ทุกชีวิต

 

ตัวเราก็จักเป็นเหมือนเช่นนี้

ไร้ชีวี รำงับ ดับสนิท

ดับรูป ดับนาม ความปรุงคิด

ความตายคือเข็มทิศ อันเที่ยงแท้

 

ความพะวงสงสัยในเรื่องนี้

ย่อมไม่มีแก่ผู้ รู้แจ้งแน่

สำนึกในสังขาร อันปรวนแปร

จงมีแก่เราทั้งหลาย ในที่นี้ ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์