เปิดใจลึกๆ จาตุรนต์ ฉายแสง ทำไมถึงกลับบ้านเก่า ‘พรรคเพื่อไทย’?/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

เปิดใจลึกๆ จาตุรนต์ ฉายแสง

ทำไมถึงกลับบ้านเก่า

‘พรรคเพื่อไทย’?

 

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดใจภายหลังตัดสินใจเข้าร่วมงานกับบ้านหลังเก่า “พรรคเพื่อไทย” อีกครั้งว่า ส่วนตัวใช้เวลาคิดอยู่ไม่นาน ประมาณ 2-3 เดือน ก็ดูทั้งเรื่องของสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป สภาพของบ้านเมือง-กฎกติกาที่เปลี่ยนไป รวมทั้งดูการปรับตัวของพรรคการเมือง

ส่วนตัวก็คุยกับคนที่เคยร่วมงานกันอยู่มีการแลกเปลี่ยนกันตลอด เพราะว่าการทำงานร่วมกัน ต้องมีอุดมการณ์ มีแนวความคิด มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เมื่อมาเจอสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปก็ต้องแลกเปลี่ยน หารือกันพอสมควร จนกว่าจะเห็นตรงเห็นพ้องต้องกัน

ซึ่งสถานการณ์นี้มันไม่ได้เป็นการตัดสินใจของตัวผมเองเพียงคนเดียว แต่ก็ถือว่าไม่ได้ใช้เวลานานมากนัก

สำหรับทีมงาน-คนที่เคยร่วมงานกันอยู่อย่างใกล้ชิด ก็ตัดสินใจมาอยู่ที่พรคเพื่อไทยด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากบางคนที่อาจจะไม่ได้ต้องการทำงานแบบเป็นตัวแสดง-นักการเมือง คือหมายความว่าไม่ได้ลงเลือกตั้งหรืออยากทำงานพรรคการเมืองเต็มตัว เขาก็อาจจะช่วยอยู่ห่างๆ หรือช่วยเป็นการส่วนตัวมากกว่าแบบนี้ก็มี

แต่ส่วนใหญ่ก็มาหมด และไม่มีการกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง

อดีตรองนายกฯ มองว่า จากสภาพทางการเมืองและปัญหาของประเทศ บวกกับความเสื่อมของรัฐบาลที่เกิดขึ้น พร้อมกับการที่พรรคเพื่อไทยปรับกระบวนทัพ โดยดึงเอาผู้ที่มีประสบการณ์หลากหลาย และผู้คนที่เคยทำงานการเมืองเคยทำงานบริหารประเทศมา ผนวกกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่หลากหลายเข้ามามากขึ้น

ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยมีศักยภาพที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่าครั้งไหนๆ

 

จาตุรนต์กล่าวอีกว่า ในภาคประชาชนเขาก็เฝ้าดูประเด็นทางการเมือง ที่หลังจากนี้มันจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คืออนาคตจะเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และบริหารประเทศที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้มันจะเชื่อมโยงไปกับการทำกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะจากสภาพที่ประชาชนต้องจำทนแบบนี้มันเกิดขึ้นมาจากกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเอาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ

พอกติกาเป็นปัญหา มันทำให้เราได้รัฐบาลแบบปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศเสียหาย ล้าหลัง แล้วก็ตกขบวนในการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ เมื่อคนเห็นปัญหานี้ชัดขึ้น พรรคการเมืองที่มีความชัดเจนและมั่นคงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยก็จะมีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งเวลานี้ปัญหาของประเทศมันหนักหนามากๆ แล้ว ดังนั้น การเป็นพรรคการเมืองที่มีผู้ที่มีประสบการณ์เข้ามาก็จะทำให้พรรคมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคร่วมรัฐบาลจะลดความได้เปรียบลง ประการสำคัญที่เห็นได้ชัดคือการที่รัฐบาลนี้จะไม่เหมือนช่วงปลาย คสช.ที่ไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นรัฐบาลรักษาการ คือตอนนั้นสามารถใช้งบประมาณได้มากมายหลายหมื่นล้าน และทำโครงการที่มีชื่อเดียวกันกับพรรคการเมือง รวมทั้งสามารถใช้อนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายอะไรสำคัญๆ ได้หมด เลยทำให้เขาได้เปรียบอย่างมาก

แต่หนนี้จะไม่มีอีกแล้ว อีกประการหนึ่งเมื่อรัฐบาลนี้ได้บริหารงานมาระยะหนึ่งแล้วเจอกับสถานการณ์โควิด และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้า ตกขบวน ความเสียหายที่มากเกิน และการเยียวยาที่น้อย+ล่าช้า ทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยมลงมาก

นอกจากนั้น ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ที่รักประชาธิปไตยและต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเขาก็ไม่สนับสนุนรัฐบาลนี้ พูดถึงภาพรวมก็มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงมากขึ้นหรือได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง อันนี้มีความเป็นไปได้อยู่มาก

ทีนี้ในพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตยมันก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าพรรคอื่นๆ มีความพร้อม มีการระดมคนได้มากกว่า แล้วจะนำเสนอนโยบายและเข้าตาประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน การทำงานทั้งในและนอกสภา ทำงานใกล้ชิดประชาชนได้ดีมากแค่ไหน ถ้าทำได้ดีโอกาสที่จะได้เสียงมากกว่าครั้งที่แล้วอย่างมากก็มีสูง

โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนเดิมก็มีโอกาสที่จะได้เสียงมากขึ้น

 

มองข้ามช็อตจากนี้ จาตุรนต์วิเคราะห์ถึงอนาคตการเมืองว่า ต้องเริ่มกันที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จะมากแค่ไหนก็ต้องว่ากันไปตามหน้างาน แต่ถ้าเกินกึ่งหนึ่งได้พอสมควร มันก็มีนัยยะสำคัญทางการเมืองแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะตั้งรัฐบาลก็ใช่ว่าจะราบรื่น แต่ถ้าหากเสียงเกินครึ่งแล้วฝ่ายนู้นยังสามารถเอาเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ เอาเสียง 2 ส่วนรวมกันมันก็จะเกิดสภาพที่เขาตั้งรัฐบาลได้ แต่ว่าลงมติไหนก็แพ้ ก็ต้องมาซื้องูเห่ากันใหม่อีก สภาพแบบนี้มันก็ไม่ค่อยดีนะ พวกเราก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า มันไม่ควรจะให้เกิดสภาพแบบนั้นอีก ด้วยการให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะให้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมี 250 ส.ว.อยู่ ก็ยังยากที่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้เป็นรัฐบาล และมองไปที่ 3 ป.ก็ดูเกี้ยเซียะ ประนีประนอมกันได้มากขึ้น ทำให้ ส.ว.ไม่แตกแถวยังเป็นไปได้สูง ดังนั้น พวกเขาก็ยังมีความได้เปรียบในส่วนนี้

แต่ผมเชื่อว่าถ้าหากเสียงประชาชนเกินครึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยเองได้เสียงมากจนทิ้งห่างพรรคอื่นๆ โอกาสที่รัฐบาลปัจจุบันจะรักษาเก้าอี้ต่อไปในทางการเมืองมันก็จะยากขึ้น แล้วก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะฉะนั้น โอกาสก็เปลี่ยนไป

แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร มันก็เป็นไปได้หลายแบบ จากนี้ซีเนริโอการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นไปได้หลายแบบมาก

แต่ขั้นต่ำเลยที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือฝั่งประชาธิปไตยได้เสียงมากขึ้นกว่าเดิม เกินครึ่งอย่างชัดเจน แล้วถ้ามากไปกว่านั้นก็คือจะตั้งรัฐบาลได้ จากสภาพที่สังคมไทยผจญสภาวะบางอย่าง ประชาชนเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญมากขึ้น แล้วเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนทั้งรัฐบาลและต้องเปลี่ยนกติกาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อที่ประเทศเราจะได้ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เศรษฐกิจไทยตามใครเขาไม่ทัน

อันนี้คือแนวโน้มที่ผมเองยังเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 5 ปี คสช. + 2 ปีกว่าที่ผ่านมาในรัฐบาลนี้ มันก็ได้ทำให้คนได้เห็นปัญหามากขึ้นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม จาตุรนต์บอกว่า หลังจากนี้คงต้องดูว่าจากนี้ไปเขาจะทำอะไรกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอีก โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย เพราะกติกาอย่างที่ออกมามันเป็นกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคใหญ่รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย บวกกับความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลและการปรับตัวของพรรคเพื่อไทยเองมันทำให้แนวโน้มชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยมีภาษีดีกว่าพรรครัฐบาลมากๆ มันทำให้เราเข้าใจได้ยากเหมือนกัน คอการเมืองนักวิเคราะห์เองก็ยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยอมให้เปลี่ยนกติกาเป็นแบบนี้ และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วเมื่อเขารู้ว่าเขาจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เขาก็จะมีวิธีการรับมืออย่างไร เราเองก็ยังไม่รู้

แต่ถ้ารอไปจนถึงขั้นชนะถล่มทลายแล้ว เขาคงไม่อยู่เฉยแน่ คงพยายามหาวิธี

แต่ถ้าชนะถล่มทลายจริง การจะมาจัดการกับพรรคการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปแล้ว และจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน หากจะยังใช้สูตรแบบเดิมๆ อีกมันก็จะยิ่งสะสมปัญหาความขัดแย้งในประเทศ เพราะการเมืองไทยมีพัฒนาการทางการเมืองสะสม ประชาชนได้เห็นประโยชน์จากการเลือกตั้งและเห็นประโยชน์จากการที่พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่ถูกใจพวกเขา และเอานโยบายมาบริหารประเทศ อันนี้มันอยู่ในใจประชาชนจำนวนมาก

แต่ขณะเดียวกันการจัดการกับพรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมชมชอบและถูกจัดการไปอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นหลายหน มันก็อยู่ในใจประชาชนเหมือนกัน หากการเลือกตั้งไม่สามารถที่จะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้

สภาพแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปในการที่จะบิดเบือนกติกา การที่ประชาชนจะพร้อมใจแสดงออกไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับสภาวะเช่นนั้นอีกต่อไปก็มีโอกาสสูง

 

จาตุรนต์ทิ้งท้ายว่า นิยามสำหรับปี 2565 ในมุมผม ก็ถือว่าใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกที เดิมมีคนวิเคราะห์ว่าจะมีเลือกตั้งแต่ต้นปี แต่เมื่อดูแนวโน้มการเกี้ยเซียะกันในพรรคร่วมรัฐบาล ดูเหมือนว่าเขาคงจะตั้งใจจะอยู่ยาวกว่านั้น มันก็มีจุดที่ต้องดูคือช่วงเดือนกรกฎาคม เพราะจะเป็นช่วงก่อนเดือนสิงหาคม ที่จะมีการตีความกันว่าตกลงแล้วประยุทธ์จะอยู่ถึงได้แค่สิงหาคมปีหน้า หรือจะอยู่ต่อไปอีกได้

ตรงนั้นจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเมืองไทย

หากการตีความเป็นประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลนี้ก็อาจจะต้องการอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยต้นๆ สิ้นปีงบประมาณ พ้นการแต่งตั้งโยกย้าย หรือถ้ายังจับมือกันแน่นแฟ้นก็อยู่ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น 2565 เป็นปีที่ไม่มีความแน่นอน ความขัดแย้งในรัฐบาลก็ยังไม่ลงตัวกันอีก ความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้รู้สึกว่าจะมีเลือกตั้งแน่ๆ ผนวกเข้ากับความเสื่อมถอยของรัฐบาลเอง เพราะปีหน้าจะเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงจัง แต่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ตกขบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ แล้วก็จะถูกทิ้งห่าง คือรถเขาไปไกลแล้ว แต่เรายังเดินตามรถอยู่เลย เพราะฉะนั้น ความเสียหายจะเกิดขึ้นมาก และจะทำให้คนเห็นความเสื่อมของรัฐบาลนี้มากขึ้นอีก

คนจำนวนไม่น้อยต้องรู้สึกว่าอยากให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเพื่อจะได้เปลี่ยนรัฐบาลเสียที!

ชมคลิป