โอ…ไม่ ซานตาครอน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

โอ…ไม่

ซานตาครอน

 

เทศกาลคริสต์มาส

น่าจะเป็นเรื่องของความสุขที่ต่อเนื่องไปถึงปีใหม่

โดยเฉพาะของขวัญของซานตาคลอส ดูเป็นสิ่งที่หลายคนในโลกตั้งตาคอย

แต่พลันที่ซานตา “ครอน” แห่งเหล่ากลายพันธุ์ ออกมา “แย่งซีน” แจกจ่ายเชื้อโควิด-19 โอไมครอนออกไปทั่วโลกแทน

“ของขวัญ” ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของคนทั้งโลกไปทันที

และดูเหมือนจะปฏิเสธไม่รับยากเสียด้วย

เพราะโควิด-19 โอไมครอน ติดต่อง่าย ระบาดเร็ว ดื้อวัคซีน

ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างมากในทุกประเทศ กระจายไปกว่า 90 ประเทศ ทั้งทางยุโรป และอเมริกา

ผู้ป่วยบางประเทศมีสูงมากถึงต้องฟื้นการล็อกดาวน์มาใช้อีกครั้ง

 

สําหรับประเทศไทย ก็อยู่ในภาวะที่ไม่แตกต่างจากทั่วโลก

ซึ่งหากไม่มีโควิด-โอไมครอน เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ น่าจะชื่นมื่นกว่านี้หลายเท่า

อย่างเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-I-cha น่าจะถือเป็นของขวัญกล่องใหญ่

โดย พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ข้อความว่า แม้สงคราม (โรคระบาด) ในครั้งนี้ จะยืดเยื้อและเรายังไม่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด

แต่ในวันนี้ (20 ธันวาคม 2564) ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่เราบรรลุเป้าหมายสำคัญ

นั่นคือ สามารถฉีดวัคซีนทะลุยอด 100 ล้านโดสได้สำเร็จภายในปี 2564 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

นับตั้งแต่ “โดสแรก” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ใช้เวลารวม 265 วัน หรือเฉลี่ยวันละ 377,358 โดส เป็นเข็มแรกมากกว่า 50 ล้านโดส ครอบคลุม 70% ของประชากรไทย เป็นเข็มสองมากกว่า 44 ล้านโดส ครอบคลุม 61% ของประชากรไทย เป็นเข็มสามมากกว่า 5 ล้านโดส ครอบคลุม 6% ของประชากรไทย

เมื่อรัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายนี้ หลายคนอาจคิดว่า เป็นเป้าหมายที่… เป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย

จนกระทั่งวันนี้ เราสามารถทำภารกิจที่เหมือนเป็นไปไม่ได้…ให้เป็นไปได้

 

พิจารณาเพียงเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส

อย่างที่กล่าวในตอนต้น หากไม่มี “เรื่องอื่น” มาแทรก

พล.อ.ประยุทธ์และฝั่งฟากรัฐบาล น่าจะบลั๊ฟฟ์กลับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้อย่างสบายๆ

โดยเฉพาะวาทกรรมของโทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เคยปรามาสรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านรายการ CARE TALK บนเฟซบุ๊กไลฟ์และคลับเฮาส์ว่า

“วัคซีนนี่ บอกว่าสิ้นปีนี้ถึงร้อยล้านโดส… ผมบอกได้เลยนะ ไม่มีทาง ไม่มีทางเลย ผมยังไม่แน่ใจว่าแค่สั่งวัคซีนมากองในประเทศไทยให้ครบร้อยล้านโดส จากวันแรกจนถึงวันสิ้นปีนี้ ไม่รู้จะได้หรือเปล่า เอามากองนะ แล้วไอ้เรื่องจะฉีดให้ครบร้อยล้านโดสนี่ บอกแกสิ ผมไม่มั่นใจเลย ถ้าบริหารแบบนี้นะ แล้วยังคิดวิธีแบบรวมศูนย์ คิดรวมศูนย์ มันเป็นไปได้หรือครับ…”

นอกจากนี้ นายทักษิณกล่าวว่า “โอ้โห วันนี้ท่านมั่นใจว่าร้อยล้านโดสมาแน่นอนสิ้นปีนี้ ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว สิ้นปีนี้ไม่มีร้อยล้านโดสฉีดให้ประชาชน”

 

วาทกรรม “ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว” ของนายทักษิณนี้ ถูกฝ่าย “ติ่งลูงตู่” หยิบขึ้นมาบี้นายทักษิณ ว่า เมื่อรัฐบาลฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสตามที่ประกาศ อย่างนี้นายทักษิณจะว่าอย่างไร

จะเอาขี้หมากองเดียวอย่างที่พูดหรือไม่

ซึ่งในทางการเมือง สามารถนำไปบลั๊ฟฟ์กลับได้สบายๆ

แต่กระนั้น กรณีโรคระบาดโควิด-19 ก็มิได้จบที่การฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส

หากแต่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรก

แทรกจนน่าสังเกตว่า ในการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-I-cha

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ขอให้ทุกคนได้ร่วมภาคภูมิใจกับ “ชัยชนะ”

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุแบบออกตัวว่า เป็นชัยชนะ “ของศึกย่อยในสงครามครั้งนี้ ที่ยังไม่จบสิ้น”

ไม่จบสิ้น อันเนื่องมาจากเชื้อโอไมครอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า กำลังก่อปัญหาในหลายประเทศ และรวมถึงประเทศไทยด้วยนั่นเอง

 

สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า ระหว่างวันที่ 11-19 ธันวาคม พบผู้ป่วยสายพันธุ์โอไมครอนในไทยแล้ว 63 ราย

แม้ส่วนใหญ่ยังเป็นการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ

แต่ นพ.ศุภกิจรับว่า

1. เราพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มค่อนข้างเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก อย่างเช่นอังกฤษ เพิ่มขึ้นวันละแสนราย

2. ขณะนี้ทุกรายยังมีความเชื่อมโยงจากการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองโรคระบาด ระบุในเวลาต่อมาพบการติดในประเทศแล้ว 1 รายเป็นคู่สามีภรรยา ที่สามีเป็นนักบิน สัญชาติโคลัมเบีย เดินทางจากไนจีเรียเข้าไทย ปรากฏว่า สามีติดเชื้อโอไมครอน และมาแพร่ให้ภรรยาที่เป็นคนไทย

จึงถือว่าภรรยารายนี้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศเป็นรายแรก

ซึ่งเมื่อมีรายแรกแล้ว ย่อมจะมีรายอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับหลังจากนั้นไม่ทันข้ามวัน ว่าล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 97 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสายพันธุ์ว่าเป็นโอไมครอนหรือไม่

ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังขั้นสูงสุด

 

และนี่เอง ทำให้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) (ศบค.) เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

ท่ามกลางการประกาศเตือนจาก นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า ขณะนี้มีหลักฐานที่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า โอไมครอนกำลังแพร่ระบาดไปด้วยความรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลต้า

“พวกเราทุกคนรู้สึกรำคาญใจกับการแพร่ระบาด เราทุกคนต้องการใช้เวลาร่วมกับเพื่อนและครอบครัว เราทุกคนต้องการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่วิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำอย่างนั้นได้คือต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบากเพื่อปกป้องตัวเราและคนอื่นๆ มันจะดีกว่าถ้าเรายกเลิกการเฉลิมฉลองปีใหม่ในขณะนี้และไปเฉลิมฉลองในเวลาให้หลัง มากกว่าที่จะเฉลิมฉลองในขณะนี้แล้วค่อยไปเสียใจทีหลัง” นายกีบรีเยซุสกล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.สมยา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไม่ฉลาดเลยถ้าเราจะเร่งสรุปจากข้อมูลเบื้องต้นว่าโอไมครอนเป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับตัวก่อนหน้า

พร้อมกับเตือนว่าเมื่อตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขทั้งหมดก็จะต้องตกอยู่ในภาวะตึงมือ

ไม่ต่างจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ระบุว่า ขณะนี้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนได้กลายเป็นไวรัสกลายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในประเทศ โดยพบในผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นสัดส่วนถึงกว่า 73% ของผู้ติดเชื้อที่พบในสหรัฐ

ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่ง

 

นี่เองทำให้ผลการประชุม ศบค.ออกมาเข้มข้นไปด้วย

โดยมีมติสั่งปิดรับนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมเป็นต้นไป

ส่วนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในระบบ 200,000 รายและลงทะเบียนเข้ามาประเทศแล้ว 110,000 คน ให้เข้มงวดควบคุมตามมาตรการการแพร่ระบาดที่ สธ.บังคับใช้

ส่วนการจัดงานปีใหม่ยังคงจัดได้เหมือนเดิมแต่ต้องเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.เห็นควรให้ยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบระบบเข้าประเทศระบบไม่กักตัว (Test & Go) หรือเทสต์แอนด์โก ยกเว้นผู้ที่ลงทะเบียนมาล่วงหน้าอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศโดยระบบ Test & Go ตามปกติ

ส่วนมาตรการควบคุมโรคภายในประเทศ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แม้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นเรื่องสายพันธุ์โอไมครอนยังมาจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่ก็ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ นายอนุทินขยายความเพิ่มเติมว่าการปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไว้ชั่วคราว จะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2565 จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังปีใหม่

สำหรับคนที่ลงทะเบียนขอเข้าประเทศ มีตัวเลขจนถึงวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ประมาณ 2 แสนคน ได้รับอนุมัติแล้วกว่า 110,000 คน รอการอนุมัติกว่า 90,000 คน

“เรื่องล็อกดาวน์จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะพิจารณา ขอย้ำว่าเราจะป้องกันให้มากที่สุด และต้องทำให้ประเทศไทยปลอดภัย” นายอนุทินระบุ

 

แม้ตอนนี้ ไทยจะยังไปไม่ถึงจุดล็อกดาวน์ประเทศ

แต่การสั่งปิดรับนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าประเทศก็ถือว่าก้าวไปสู่ระดับเข้มข้น

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศ โดยหวังว่าช่วงคริสต์มาสและปีใหม่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะจากยุโรปและสหรัฐ เข้ามาเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แต่ที่สุดแล้วกลับเดินหน้าไปได้ไม่เท่าไหร่ ต้องมีการ “ทบทวน” และย้อนกลับไปในภาวะกึ่งล็อกดาวน์

ซึ่งรัฐบาลดูจะไม่มีทางเลือก เพราะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าเชื้อกลายพันธุ์เป็นโอไมครอนจะร้ายแรงขนาดไหน

แม้ในเบื้องต้นอาการป่วยจะไม่รุนแรง

แต่ก็ปรากฏเค้าลางที่น่ากลัวด้วยโอไมครอน เปรียบเป็นประหนึ่ง “ซานตาครอน” ที่แจกของขวัญอันไม่พึงประสงค์ให้กับชาวโลกรวมถึงคนไทยอย่างรวดเร็วฉับไวจนต้องรีบรับมืออย่างเร่งด่วน ฉับพลัน

ทั้งนี้ นอกจากเพื่อไม่ให้การฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสที่เป็น “ชัยชนะของศึกย่อย” ในสงครามโรคระบาดครั้งนี้ ตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงความสูญเปล่า

ยิ่งกว่านั้น ยังต้องรีบออกมาตรเข้มมาคุม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรมและธุรกิจ ที่ทรุดอยู่แล้ว ไม่ให้ทรุดลงไปอีก

เป็นของขวัญแห่งความเจ็บปวด ที่ “ซานตาครอน” ยัดเยียดให้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้