ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ยุทธภูมิที่ยอมกันไม่ได้ การทับซ้อนของ 3 อำนาจ…ในพื้นที่ กทม./หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

ยุทธภูมิที่ยอมกันไม่ได้

การทับซ้อนของ 3 อำนาจ…ในพื้นที่ กทม.

 

ยุทธภูมิทางการเมืองในพื้นที่ กทม.มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจาก

ในการเมืองระดับชาติเป็นเขตที่มีจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ถึง 33 คน

ในการเมืองท้องถิ่นมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครถึง 50 คน

ที่สำคัญยังมีตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งจะเป็นผู้บริหารเมืองหลวงอันเป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อการเมืองในระดับชาติ ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.ถึง 3 พรรค

ดังนั้น การช่วงชิงอำนาจในพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงเป็นไปอย่างตึงเครียด ไม่มีการประนีประนอมในระหว่างพรรคแนวร่วม ยิ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามยิ่งดุเดือด

แม้รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่จะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุด แต่มีคนถ่วงเวลาไว้ การดึงอำนาจไว้ที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งเป็นเวลากว่า 5 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มส่งเสียงเรียกร้องขึ้นมาบ้างแล้วเพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นในทั่วประเทศได้เกิดขึ้นจนครบทุกแห่ง ยกเว้น กทม.กับพัทยาเท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่เลื่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ออกไปเรื่อย ก็น่าจะเป็นเพราะว่าฝ่ายรัฐบาลคิดว่า…แพ้แน่… แต่ยิ่งยืดระยะนานออกไปน่าจะยิ่งเป็นผลเสีย เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่

ที่เห็นออกมาเต้น มาเตรียมหาเสียง… ถือเป็นการเร่งรัฐบาลให้เลิกถ่วงเวลา เพราะ กกต.ก็พร้อมแล้ว

ทุกพรรคสู้เพื่อชนะ และรักษาฐานคะแนน

 

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ใหม่ที่จะถึงนี้ วิธีดูคะแนนย้อนหลังถ้าวิเคราะห์ตามสถานการณ์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปตามเวลา จะต้องดูคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 เป็นหลัก

1. พรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส.แค่ 22 เขตเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มา 9 คน คะแนนรวม 604,699

2. พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง ส.ส. 30 เขต ไม่ชนะเลย แต่ยังได้คะแนนรวม 474,820

3. พรรคพลังประชารัฐ ส่ง ส.ส. 30 เขต ได้ ส.ส.มากที่สุด 12 คน คะแนนรวม 791,893

4. พรรคอนาคตใหม่ ส่ง ส.ส. 30 เขต ได้ ส.ส. 9 คน คะแนนรวมมากที่สุด 804,272

การวิเคราะห์การเมืองจากคะแนน

จะพบว่า คะแนนของฝ่ายค้านเมื่อรวมเพื่อไทยกับอนาคตใหม่ จะได้คะแนนประมาณ 1.4 ล้าน

ส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อรวมพลังประชารัฐรวมกับประชาธิปัตย์ ได้ประมาณ 1.26 ล้าน

เนื่องจากเพื่อไทยส่งเพียง 22 เขตจึงได้คะแนนเพียงแค่ 6 แสน เมื่อไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนก็ไหลไปให้กับอนาคตใหม่บางส่วน จึงมีคะแนนรวมมากที่สุด 800,000 แต่มีหลายเขตที่ไม่ได้ที่ 1 จึงได้ ส.ส.แค่ 9 คน

แม้คะแนนของเสียงตามความนิยมทางการเมือง 2 ฝ่าย ห่างกันไม่มาก แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ไม่เหมือนปี 2556 ที่เป็นการดวลเดี่ยวของเพื่อไทยกับ ปชป. และมีน้ำหนักของสีเสื้อทางการเมืองแรงกว่านโยบาย

แต่ครั้งนี้จะเป็นการตะลุมบอนของ 4 กลุ่มหลัก ต่างฝ่ายก็มีการตัดคะแนนกันและช่วงชิงคะแนนคนเป็นกลาง โอกาสแพ้ชนะยังต้องรอดูช่วงกลางของการหาเสียง ที่สำคัญคือตัวบุคลที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

แต่ดูความสำเร็จของวางฐานคะแนนพรรคตามพื้นที่ ต้องดูคะแนนของ ส.ก.ซึ่งชาวบ้านอาจเลือก ส.ก.กับผู้ว่าฯ คนละกลุ่มกัน

 

เป้าหมายการต่อสู้ของแต่ละกลุ่ม

ประชาธิปัตย์ต้องทวงคืนคะแนน

จากพลังประชารัฐ

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้พรรคประชาธิปัตย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องลงสมัครผู้ว่าฯ กทม และ ส.ก. เพื่อทวงคืนฐานเสียงเดิม เพราะประเมินว่าความนิยมต่อพรรคพลังประชารัฐในกรุงเทพฯ เสื่อมลงและคิดว่าผู้สนับสนุนก็ไม่ไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าการลงผู้ว่าฯ ครั้งนี้จะแพ้หรือชนะ อย่างน้อยก็มีผลในการฟื้นฐานเสียงของพรรคเอาไว้เตรียมรับการเลือกตั้งใหญ่ ที่จะมาถึงในระยะเวลาไม่นานนี้

ถ้าหากพลาดอีกครั้ง จะเป็นการตกต่ำของ ปชป. ที่อาจทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ของพรรคก็ว่าได้ การได้ส่ง ดร.เอ้ (ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) ที่เป็นคนเด่น ลงสมัครแข่งก็คือเทคนิคการใช้คนเด่นคนดังลงไปเสริมภาพพรรคที่กำลังตกต่ำ เพราะตอนนี้ก็ไม่สามารถขายอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือภาพนักบริหาร นโยบายเด่นก็ไม่มี ส่วน ดร.เอ้ ที่จริงแล้วคุณสมบัติส่วนตัวเด่น แต่เมื่อมาลงสมัครในนามพรรคที่กำลังตกต่ำ แม้ว่าได้ฐานเสียงพรรค แต่ก็มีด้านลบมาให้แบกรับ

ไม่รู้ว่า ตกลงอะไรกันบ้าง ถ้าเลือกตั้งแล้วไม่ชนะ พรรคจะให้ไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะมีตำแหน่งอะไรให้

คะแนนของ ดร.เอ้ครั้งนี้ ยังไงก็ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 เพราะคะแนนของ ปชป.รวม 30 เขต ปี 2562 คือฐานที่เป็นขาประจำ มีถึงกว่า 470,000

และถ้าได้ต่ำกว่า 600,000 ก็แสดงว่าเข้าสู่วงการเมืองลำบาก ควรกลับไปทำงานด้านอื่น

 

พลังประชารัฐควรใช้…ผู้ว่าฯ อัศวิน

รักษาฐานเสียงเมืองหลวง

พปชร.ถ้าไม่สู้ก็เท่ากับยอมรับว่าคนเมืองหลวงไม่เอารัฐบาล

เพราะได้ ส.ส.กทม.ถึง 12 คน ดังนั้น ยิ่งจำเป็นต้องส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อรักษาฐานเสียงที่เพิ่งได้มา ที่จริงแล้วคนที่เหมาะสมที่สุดก็น่าจะเป็นผู้ว่าฯ อัศวิน ที่ คสช.แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ อยู่นานถึง 5 ปีกว่า

ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐไม่ออกแรงสู้ การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปอาจไม่ได้ ส.ส.ในกรุงเทพฯ แม้แต่ที่นั่งเดียว แต่ปัญหาคือผู้ว่าฯ อัศวินรู้ว่าความนิยมนายกฯ ประยุทธ์และรัฐบาลตามโพลเชลียร์ทั้งหลายไม่เป็นจริง แต่จะกล้าลงอิสระหรือไม่

แต่จะลงแบบไหนภาพก็ไม่เปลี่ยน ลงในนาม พปชร. น่าจะมีแรงขับเคลื่อนดีกว่า และในความเป็นจริง พปชร.จะไปหาคนนอกวงการที่ไหนมารับหน้าเวลาถูกด่าตอนหาเสียง

การสู้ครั้งนี้จะมีข้อดีคือ พปชร.จะรู้กำลังจริงจากคะแนน ส.ก.ของแต่ละเขตเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งใหญ่

 

พรรคก้าวไกล

ต้องสู้เพื่อขยายฐานใน กทม.

ตามข่าวว่าได้ผู้สมัครแน่นอนแล้ว แต่ยังไม่บอก

2562 ตอนเลือก ส.ส.ได้คะแนนรวมมามากที่สุดถึง 8 แสน ดังนั้น จำเป็นจะต้องส่งคนลงแข่งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในนามก้าวไกล ถ้าแพ้ก็ไม่เป็นไรเพราะยังมีส่วนแบ่งเป็นผู้สมัคร ส.ก. ซึ่งต้องส่งทั้ง 50 เขต

แต่การมีคะแนน 8 แสนมากที่สุด และได้ ส.ส. 9 คนนั้น ถ้าย้อนไปดู จะพบว่ามี 6 เขตที่ไม่มีผู้สมัครจากเพื่อไทยมาลงแข่ง แต่ถ้าดูภาพรวมถือว่าคะแนนดีทุกเขต อาจได้ ส.ก.หลายคน

แต่ผู้ว่าฯ กทม. ถ้าอยากชนะ ตัวบุคคลต้องเก่งไม่น้อยกว่าชื่อพรรค

 

เพื่อไทยอาจถูกแย่งคะแนน

จากไทยสร้างไทย

เพื่อไทยนั้นน่าจะสบายที่สุด เนื่องจาก ดร.ชัชชาติประกาศตัวออกไปสมัครผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระมานาน 2 ปีแล้ว เพื่อไทยก็ตามหนุนไปเงียบๆ แต่ก็จำเป็นต้องส่ง ส.ก.ทุกเขตเพื่อเป็นการวางฐานเสียงให้แน่นอีกครั้งรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหญ่

แต่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากไทยสร้างไทย อาจส่งคนลงแข่ง

อย่างน้อยก็ต้องส่ง ส.ก.เพื่อเตรียมฐานก่อนเลือกตั้งใหญ่

 

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ ดีอย่างไร?

แม้เป็นอิสระ แต่เต็ง 1 น่าจะเป็นเพราะความตั้งใจอย่างแรงกล้า ออกตัวก่อนเตรียมตัวมา 2 ปี และประวัติพื้นฐานทางการศึกษา และการงานดี ลีลาการเมืองใช้ได้

การสมัครแบบอิสระมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

1. เมื่อสมัครอิสระและไม่ส่ง ส.ก. ก็จะทำให้ไม่มีผู้ช่วยหาเสียงประจำพื้นที่ทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง แต่ก็สามารถหาอาสาสมัคร ผู้สนับสนุนแทนได้ หรือเข้าไปขอให้ ส.ก.ที่รู้จักทั้งของพรรคและ ส.ก.ที่สมัครอิสระสนับสนุน แต่ถ้าส่ง ส.ก. ก็ต้องชนทุกพรรค

2. การคัดทีมบริหาร เช่น รองผู้ว่าฯ หรือที่ปรึกษาต่างๆ ผู้ว่าฯ อิสระ สามารถทำตามที่ตั้งใจได้ ไม่ต้องรอมติจากพรรคหรือคำขอจากผู้ใหญ่ในพรรคที่จะฝากฝังให้คนโน้นคนนี้มาเป็น

3. การคิดนโยบายก็ทำได้ค่อนข้างอิสระไม่ต้องผูกพันกับพรรค หรือโครงการของพรรค เอาความต้องการ ความจำเป็นของประชาชน เป็นหลักใหญ่

นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประชาชนในเขต กทม.ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่?

ซึ่งเรื่องนี้คนจะพิจารณาควบคู่ไปกับความสามารถของผู้ว่าฯ คนนั้นและทีมงานที่จะเข้ามาร่วมงานบริหาร กทม. แม้ว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.จะไม่มีสิทธิ์ขาดในหลายๆ เรื่อง แต่ด้วยแรงสนับสนุนของประชาชนในเมืองหลวงก็ยังสามารถสร้างกระแสให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ได้

4. ถ้าผู้สมัครมีความสามารถและมีความเด่นพอ ก็ไม่ต้องไปกังวลกับการขึ้นลงของคะแนนเสียงพรรคการเมือง ที่ผ่านมาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น้ำหนักส่วนใหญ่ยังให้กับตัวผู้สมัครเป็นหลัก พรรคยังเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมัคร สุนทรเวช ดร.พิจิตต รัตตกุล หรือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ตัวผู้ว่าฯ กทม.เองจึงจะต้องมีลักษณะที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะขอความสนับสนุนให้โครงการต่างๆ ได้บรรลุเป้าหมาย

ต้องเป็นคนที่ยืดหยุ่นและพลิกแพลงได้เพราะต้องประสานงานกับทั้งรัฐบาล ส.ส. และ ส.ก.ของทุกพรรค

ถ้าส่งครบทุกกลุ่ม คะแนนของผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องถึง 1 ล้านก็ชนะได้แล้ว ถ้าเกินล้านก็เรียกว่าได้รับความนิยมจากคนหลายกลุ่ม ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกันเร่งให้มีเลือกตั้ง…ก่อนฝนจะมา