คำ ผกา | นางงาม เรือนร่าง และชาติของเรา

คำ ผกา

ขอเกาะกระแสการประกวดนางงามบ้าง หลังจากที่คำว่า real size beauty กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ศัพท์แสง” เก๋ๆ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในฐานะที่นางงามคนไทยลูกครึ่งออสเตรเลียใช้ประเด็นนี้เป็นจุดแข็งในการเข้าประกวดของเธอ

สำหรับฉันที่เรียนประวัติศาสตร์มาเห็นว่าก่อนจะเข้าใจกระแส real sized beauty มันสำคัญมากที่เราจะเข้าใจว่า standard beauty นั้นคืออะไร และถูกสร้างมาอย่างไร? และเวทีประกวดผู้หญิงสวย ผู้ชายหล่อนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทอะไรบ้าง?

ความสวย ความหล่อ มีทั้งส่วนที่รับรู้ได้ตามธรรมชาติ เช่น คนที่มีหน้าตาสมมาตร ได้สัดส่วน เมื่อเราเห็นปุ๊บ เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้น่ามอง

เหมือนเราเห็นดอกไม้สวย เรารู้ว่ามันสวยโดยไม่ต้องมีใครสอน เดินๆ อยู่เห็นดอกไม้บานอยู่ริมทาง เราก็เห็นว่ามันสวยโดยธรรมชาติ หรือสัญชาตญาณ

แต่ถ้าเราเห็นว่ามันสวย และมันสามารถนำมาประกอบอาหารได้ด้วย แสดงว่ามีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ความสวยหรือความหล่อก็เช่นกัน ในยุคหนึ่งของอียิปต์ ผู้ชายที่ถือว่าหล่อต้องมีหนวดเครา และเป็นเรื่องสำคัญถึงกับมีการสร้างเครื่องประดับศีรษะให้มีเครา (สำเร็จรูป)

ในยุคหนึ่งก็แปรเปลี่ยนไปว่า ต้องหน้าเกลี้ยงไม่มีหนวดเครา เพราะหนวดเคราเป็นจุดอ่อนเวลาออกไปต่อสู้กับศัตรูอาจโดยกระชากเคราให้ตกเป็นรองหรือเพลี่ยงพล้ำได้

ดังนั้น ความสวยความหล่อ จึงมีสองส่วนคือส่วนที่เรารับรู้แบบดิบๆ ตามธรรมชาติ

กับส่วนที่เกิดจากการล่อมเกลาของสังคม/อำนาจ/การเมือง/เศรษฐกิจ

ถ้าจะยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคนไทยก็อย่างเช่น ยุคหนึ่งเราถือว่าฟันดำเพราะเคี้ยวหมากนั้นสวย

ต่อมาก็เปลี่ยนจากฟันดำมาเป็นฟันขาวเป็นประกาย

แต่ความสวยความหล่อที่เกิดจาก “สังคม/การเมือง” นั้นในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสาร อิทธิพลความสวยความหล่อตามแบบอียีปต์ก็ย่อมแพร่หลายไปอย่างจำกัดเฉพาะในดินแดนที่อียิปต์แผ่อิทธิพลทางการเมืองไปได้ และไม่อาจถือเป็น “มาตรฐาน” ของใครคนอื่นได้บนโลกใบนี้

ใดๆ ที่กลายเป็นมาตรฐานหรือ standardization นั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับการสร้าง “ชาติ” ด้วยเสมอ

ดังที่เรารู้ว่า “ชาติ” มันเป็น artifact หรือ สิ่งประดิษฐ์ มันไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง มันจึงต้องการองค์ประกอบที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ หลายประการมาร่วมสร้างสำนึกถึงการมีอยู่จริงของ “ชาติ”

เชื่อกันว่าสำนึกเรื่อง “ชาติ” นั้นเกิดขึ้นในยุโรปก่อนใครเพื่อน และในยุโรปที่มีกระบวนการสร้างชาติ และชาตินิยมนี้เองที่มี movement หนึ่งหรือขบวนการหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับ “รูปร่าง” หรือ “ร่างกาย” ที่ถูกต้องของพลเมือง

movement นี้คือ physical culture movement ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ขบวนการว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการดูแลเรือนร่าง อันเป็นต้นทางของทั้งวิชาพลศึกษา ธุรกิจฟิตเนส การดูแลสุขภาพ และมีส่วนที่ตกค้างอยู่ในเพลงที่เราร้องกันมาตั้งแต่เด็กๆ คือ “กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ ละกองกิเลส ทำคนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล…”

physical culture movement เกิดขึ้นในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การก่อกำเนิดของชาตินิยมในยุโรป การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมชนบทมาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สังคมเมือง และกำเนิดของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 19

การขยายอำนาจของนโปเลียนไปในเดนมาร์ก สวีเดน เยอรมนี นั้นไปพร้อมกับแนวคิดเรื่องการเตรียมความพร้อมของร่างกายพลเมืองให้พร้อมรบพร้อมเป็นทหารได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น หนึ่งในคุณสมบัติของพลเมืองที่ดีของชาติคือต้อง “ฟิต” ร่างกายต้องแข็งแรง

นักชาตินิยมไทยอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะราษฎรก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดนี้มาด้วย จะเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรนั้นให้ความสำคัญกับเรือนร่าง รูปร่าง และสุขภาพของพลเมืองอย่างมาก

ภาพแกะสลักนูนต่ำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล้วนแต่เสนอภาพพลเมืองไทยที่มีรูปร่างกำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อชัดเจน ไม่ใช่อรชรอ้อนแอ้นในแบบของพระเอกในวรรณคดี

การรณรงค์ให้กินข้าวน้อยๆ กินกับเยอะๆ การส่งเสริมให้เลี้ยงไก่เพื่อกินไข่ เสริมโปรตีน การให้ความรู้เรื่องอาหารห้าหมู่ ฯลฯ

พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการสร้างร่างกายของพลเมืองให้แข็งแรง เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ

ชาติจะเข้มแข็งไม่ได้ ถ้าพลเมืองเต็มไปด้วยคนขี้โรค ผอมกะหร่อง อ่อนแอ พร้อมๆ ไปกับการสร้างสำนึกรักชาติ ปกป้องชาติจากศัตรู การทำสงคราม ถ้าพลเมืองของชาติอ่อนแอ เกิดมีศึกสงครามกะทันหัน จะเอาอะไรไปสู้รบกับเขา

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติที่ต้องกินอาหารดี ออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมถูกเรียกไปเป็นทหารกองหนุนได้ทุกเมื่อ ส่วนผู้หญิงก็ต้องมีสุขภาพดี เพื่อพร้อมจะเป็น “แม่ของชาติ” พร้อมแต่งงาน ตั้งครรภ์ มีลูก

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยยุคจอมพล ป. จึงมีประกวดทั้งนางงามรัฐธรรมนูญ ประกวดชายงาม (วัดกันที่รูปร่างกำยำล่ำสัน) ประกวดแม่ลูกดก

หลายๆ ชาติที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวมาในยุคสมัยต่างๆ ที่อิงอยู่กับกำเนิดของชาตินิยมในยุโรปจึงมีการสร้าง “เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์” และอัตลักษณ์ของชาติ ความภูมิใจของชาติที่มีตัวละครเป็น “พลเมืองที่ปกป้องชาติไว้ด้วยความแข็งแกร่งทางกาย” เช่น ไทยเรามีนายขนมต้ม นักมวย เป็นต้น

คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่ง physical culture movement” ชื่อ Friedrich Guts Muths (1759-1839) เป็นชาวเยอรมัน-ปรัสเซีย เขียนหนังสือชื่อ “Gymnastic for Youth” เป็นการวางพื้นฐานท่าออกกำลังกายแบบยิมนาสติก 29 ท่า และเขายังได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งยิมนาสติกสมัยใหม่อีกด้วย

นาย Muths นี้จุดเด่นของเขาคือ holistic approach หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กายและใจต้องมาพร้อมกัน

เขาเชื่อว่า ยิมนาสติกคือหัวใจของการดูลทั้งสุขภาพกาย ความแข็งแรง จิตใจ สมาธิ อารมณ์ วุติภาวะทางปัญญา

และในฐานะที่เป็นนักการศึกษา เขาจึงเป็นผู้มีอิทธิพลทำให้การเรียนยิมนาสติกการเรียน/ฝึกเด็กในโรงเรียนเป็นหลัก

และเรายังเห็นร่องรอยนี้ชัดเจนสำหรับโรงเรียนในอเมริกาที่วิชายิมนาสติกมีบทบาทสำคัญมาก

ส่วนไทยมีร่องรอยคือวิชา “ยืดหยุ่น” (ซึ่งเรียนกันไปแบบไม่มีใครมาอธิบายให้เราฟังเลยว่าเรียนไปทำไม)

ขอเล่าอย่างกระชับว่านักประวัติศาสตร์แบ่ง physical culture movement ออกเป็น 3 ระลอก

ระลอกแรก เป็น European gymnastic เกิดขึ้นในต้นปี 1800s – นั่นคือความพยายามสร้างชาติผ่านการมีพลเมืองที่สุขภาพดี และหนึ่งในการสร้างพลเมืองที่มีสุขภาพดีคือการออกกำลังกาย และวิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ ยิมนาสติก

ยุคนี้เน้นการออกแบบท่าที่เป็น body weight และเริ่มรณรงค์เรื่อง “กีฬาคือยาวิเศษ” นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาตร์การกีฬา พลศึกษา กายภาพบำบัด

คนที่มีบทบาทสำคัญในยุคนี้คือ Turnen Franz Nachtigal, Pehr Henrik (บิดาแห่งการนวดแผนสวีดิช)

ระลอกที่สอง เกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 กระแสการออกกำลังกายเริ่มเน้นการสร้างกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงแบบนักยกน้ำหนัก อารมณ์ดัดเหล็กให้งอได้ด้วยมือเปล่า ถือเป็นการปูรากฐานไปสู่การยกน้ำหนัก body building การเพาะกาย

ไปจนถึงการเปิดสถานที่ออกกำลังกายในฐานะที่เป็นธุรกิจการค้า

คนที่มีความสำคัญในยุคนี้ เช่น Eugen Sandow (1867-1925) Bernas Macfadden (1868-1955)

ระลอกที่สาม เป็น Somatic Exercise ซึ่งขออธิบายอย่างหยาบๆ ว่า คือการเคลื่อนไหวร่างกายแบบผสานกายผสานจิตเข้าด้วยกัน บ้างก็เรียกว่า “เคลื่อนไหวบำบัด” หรือจะใช้สำนวนที่คนไทยคุ้นเคยกว่านั้นคือการใช้สติ สมาธิจดจ่อเฉพาะที่การเคลื่อนไหวของร่างกายเท่านั้น ไม่ปล่อยให้ตัวเองฟุ้งซ่าน เหม่อลอย

หรือในคลาสโยคะจะบอกว่าให้เคลื่อนไหวพร้อมกำหนดลมหายใจ

ต่อมาได้พัฒนามาเป็นการออกกำลังกาายในแนวที่เรียกว่า Callisthenic exercise เน้นการสร้างความแข็งแรงโดยใช้น้ำหนักของตนเองเป็นแรงต้าน เช่น การวิดพื้น โหนบาร์

หรือที่ฮิตกันมากในช่วงโควิดคือ Burpees

คนที่มีความสำคัญในพัฒนาของยุคนี้คือ Dr. Bess Joshep Pilates (1883-1967) ผู้ให้กำเนิดการออกกำลังกายแบบพิลาทิสนั่นเอง

ถามว่า physical culture movement เป็นฐานรากของอะไรบ้าง?

– วินัยในการรักษาสุขภาพ

– วิชาพลศึกษาในโรงเรียน

– การยกน้ำหนัก

– การแข่งขันยิมนาสติก

– การเพาะกาย

– การออกกำลังกายอย่างมีวินัยในฐานะที่เป็น “ยา” รักษาได้ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ

ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้อกับ “มาตรฐานความงาม/ เรือนร่าง” และ “ชาตินิยม” อย่างไร?

ทั้งการประกวดนางงาม และกีฬาโอลิมปิก สะท้อนการแข่งขันของ “ชาติ” ต่างๆ แทนการทำ “สงคราม” ความเกรียงไกรของ “ชาติ” ถูกป่าวประกาศผ่านความเข้มแข็ง ทักษะ ความแข็งแกร่ง และวินัยแห่งการ “ฝึกตน” ของพลเมืองชาตินั้นๆ ผ่านนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของแต่ละชาติ

เหรียญทองโอลิมปิก คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาติของเราไม่ได้ล้มเหลวในการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ

อันมีนัยว่า เกิดสงครามเมื่อไหร่ ชาติเราก็พร้อมรบทันที เพราะเราช่างมีควมพร้อมพรั่งในการเตรียมสร้างพลเมืองที่ “แข็งแกร่ง” และมี “วินัย”

การออกกำลังกายของฟิตเนสที่กลายเป็นธุรกิจการค้าไปแล้วจึงมีแนวการออกกำลังกายที่เรียกว่า Boot camp – ฝึกหนักเยี่ยงฝึกทหาร – คนที่ฝึกก็ฟินกับความสำเร็จแห่งการรักษาวินัย ฝ่าฟันความเหนื่อยยาก เปี่ยมไปด้วยความทรหด อดทน และรู้สึกว่าตนเองได้บรรลุซึ่งการเป็น “คนคุณภาพ”

ส่วนการประกวดนางงาม แม้นจะมีตำแหน่งแห่งหนที่ค่อนข้างประหลาด เช่น ในยุคหนึ่ง ลูก “คนดีๆ” ไม่มีใครเขามาเดินขึ้นเวทีประกวดให้กรรรมการดูและใส่คะแนนราวกับการประกวดหมู กระต่าย ในการเกษตรแฟร์หรอกนะ มันน่าอายจริงๆ

ในยุคหนึ่ง การประกวดนางงามก็สัมพันธ์กับการฉลองประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ วันแรงงาน เป็นความสนุกสนาน เป็นงานรื่นเริงที่เป็นของ “ประชาชน” จริงๆ และแต่ละท้องถิ่นก็เฟ้นหาผู้หญิงที่ “สวย” ที่สุด และนิยามของคำว่าสวยคือ สุขภาพดีนั่นเอง เช่น มีรูปร่างสมส่วน ฟันแข็งแรง ยิ้มสวย เดินสวย ผมสวย

ทั้งหมด มันคือเครื่องหมายของคนสุขภาพดี จะสุขภาพดี ผมสลวย ผมดก ปากแดง แก้มแดง ขา แขน ไหล่ ได้สัดส่วนก็แปลว่าต้องกินอาหารที่ดี และออกกำลังกาย

และนั่นยังหมายความว่า หญิงนี้จะเป็นแม่ที่ดีได้ในอนาคต

นี่คือที่มาของการกำหนด “มาตรฐานความงามของร่างกาย/เรือนร่าง” และการแข่งขันระดับชาตินั้นก็แข่งกันทั้งในรูปของกีฬา และการประกวดนางงาม (แน่นอนว่า ต้องพ่วงเอาความเป็นทุนนิยมเข้าไปด้วย)

การประกาศจุดยืน real size beauty – ในแง่หนึ่งต้องเอาให้ชัดว่า จะกบฏต่อ physical culture movement ที่มีกลิ่นอายฟาสซิสต์ การควบคุมเรือนร่างพลเมืองผ่านองค์ความรู้ทางการแพทย์ การกล่อมเกลาพลเมืองผ่านวิชาพลศึกษา และอุตสาหกรรมฟิตเนส หรือไม่?

นั่นคือ ประกาศว่า ฉันจะไม่คุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย และมีความสุขกับการเอาร่างกายออกจากการควบคุมของรัฐ ชาติ และทุนนิยม?

เพราะ real size beauty จะไม่ใช่แค่ “อ่อ เราก็ชอบตัวเราไง และฉันจะเป็นแรงบันดาลให้เธอทุกคนนะ”

และ real size beauty ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องการยอมรับเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว หรือความเป็น white supreamacy ที่เป็นประเด็น “การเมืองเรื่องอัตลักษณ์” โดยตรง

ส่วนเราในฐานะประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 ที่น่าจะหลุดพ้นจากยุคสร้างชาติมาตั้งนานแล้วแม้นจะไม่มีประชาธิปไตยเสียที ก็ควรเริ่มๆ ลด ละ เลิก การคิดว่า นางงามไทยคือตัวแทนของเราในฐานะคนไทย และเลิกคิดว่า ใดๆ บนเวทีนั้นเป็นตัวแทนแห่งความเป็นชาติ เป็นประเทศ เป็นความภาคภูมิใจอะไรของคนในชาติเถิด

จะดูก็ดูมันในฐานะเป็นความบันเทิง เพราะต่อให้เรามีนางงามปังที่สุด เกรียงไกรที่สุด มันก็ไม่ได้แปลว่า นางงามคนนั้น represent ความปังของชาวเราที่กำลังกะปลกกะเปลี้ยเสียสุขภาพจากการบริหารประเทศอย่างห่วยๆ

และมงกุฎนางงามก็ไม่ได้ช่วยล้างอายอะไรให้กับความยากจน อดอยากของคนกว่าครึ่งของประเทศ

และยิ่งประจานว่า ประเทศน่าอาย ตกต่ำ ในทุกมิติขนาดนี้ ยังมีหน้าจะส่งนางงามวิบวับๆ มาประกวดเหมือนในประเทศไม่มีเด็ก เยาวชนถูกจับไปขังอยู่เนืองๆ เพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล

สิ่งที่ real ที่สุดตอนนี้คือ ศักดิ์ศรีของชาติบนเวทีนางงามนั้นไม่จริง ก็เท่านั้นเอง