วิรัตน์ แสงทองคำ/ดีล TRUE-DTAC (3)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com/

ดีล TRUE-DTAC (3)

 

ดีลสำคัญ ก่อให้เกิดการพลิกโฉมธุรกิจสื่อสาร สู่โครงสร้างที่มีการแข่งขันน้อยลง

ข้างต้น มาจากข้อพิจารณาเบื้องต้นที่ว่ากันเป็นการทั่วไป จากภาวะการแข่งขัน (อย่างจริงจัง) ที่มีผู้เล่น 3 ราย กำลังจะเหลือเพียง 2 ราย

ที่วงเล็บไว้ก็เพราะมีอีก 2 รายซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐ (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT) เป็น “ผู้เล่น” ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ถือว่าอยู่ในเกมการแข่งขัน จากข้อมูลของ กสทช.ล่าสุด (สิ้นปี 2563) ทั้งสองรายมีส่วนแบ่ง (พิจารณาจากจำนวนผู้ใช้เลขหมาย) รวมกันมีสัดส่วนไม่ถึง 3%

บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสังคมไทย ผ่านมา 3 ทศวรรษ โครงสร้างขยับปรับเปลี่ยน สู่การหลอมรวม “ผู้เล่น” และรวมศูนย์ “ผู้กำกับ”

 

ทศวรรษแรก (2533-2542) ประเดิมด้วยคู่แข่งขันทางธุรกิจ 2 ราย เปิดฉากโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ AIS (ก่อตั้งปี 2529) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2533 จากสัมปทานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ต่อมาคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT) ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ คลื่นความถี่ 900 MHz

ตามมาอย่างกระชั้นชิดโดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ TAC (ปัจจุบันคือ DTAC) ในปี 2534 ในระบบ AMPS 800 MHz ได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT)

ช่วงเวลานั้น มีกรณีหนึ่งเกี่ยวข้องและน่าสนใจ เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจีในปัจจุบัน) ตัดสินใจขายกิจการหนึ่งออกไป (ปี 2533) – บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC กิจการเก่าแก่ราวศตวรรษ จากผู้แทนจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐ ช่วงมาอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย (ปี 2527) คาบเกี่ยวได้เป็นผู้แทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ Nokia รายเดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ชื่อ Mobira ก่อนกลายเป็น Nokia โทรศัพท์เคลื่อนที่ขายดีที่สุดในโลกในช่วงปี 2540-2550

IEC ภายใต้เจ้าของรายใหม่ (สนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเอ็มกรุ๊ป) เป็นคู่ค้าสำคัญของทั้ง AIS กับ TA แต่ดูจะมีความสัมพันธ์กับ TAC เป็นพิเศษ ด้วย IEC เป็นผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ รับช่วงจาก TAC ด้วย จากนั้นไม่นานตั้งบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ WCS ขึ้น เพื่อซื้อและโอนสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz จากการสื่อสารฯ ที่อยู่ในมือ TAC เตรียมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะถือเป็น “ผู้เล่น” รายใหม่ เป็นรายที่ 3 แต่เผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เสียก่อน จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้

 

ทศวรรษที่สอง (2543-2553) เปิดฉากด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ

ช่วงเวลาเดียวกันที่ TAC เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (ปี 2543) เครือข่ายธุรกิจสื่อสารต่างชาติเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” กรณีแรกในโครงสร้างและระบบสื่อสารไทย Telenor Group กลุ่มธุรกิจสื่อสารระดับโลก ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยรัฐบาลนอร์เวย์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และมีอำนาจบริหารอย่างเต็มที่ใน TAC (ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น DTAC)

ในปีเดียวกัน (ปี 2543) “ผู้เล่น” รายใหม่ รายที่ 3 เปิดตัวขึ้นจริงๆ เครือข่ายธุรกิจสื่อสารของซีพี กระโดดข้ามจากระบบโทรศัพท์พื้นฐานมาสู่ระบบเคลื่อนที่ ด้วยแบบแผนที่ตื่นเต้นและซับซ้อนพอควร

เข้าซื้อกิจการบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ WCS ขณะเดียวกันตั้งบริษัทใหม่รูปแบบธุรกิจร่วมทุน กับ Orange Plc. UK ถือเป็นกรณีชักนำเครือข่ายธุรกิจสื่อสารต่างชาติเข้ามา เป็นกรณีที่ 2 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในปี 2544

Orange Plc. UK อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนเช่นกัน จากเครือข่ายธุรกิจแห่งฮ่องกง-Hutchison Whampoa เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนมาเป็น Mannesmann AG แห่งเยอรมนี (ปี 2542) เพียงปีเดียว (ต้นปี 2543) Vodafone เครือข่ายสื่อสารแห่งสหราชอาณาจักร เข้ามาซื้อกิจการ Mannesmann AG แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของสหภาพยุโรป Vodafone จึงตัดใจขาย Orange ออกไปให้ France Telecom ในปลายปีเดียวกันนั้นเอง

ตามมาอย่างกระชั้นชิด ด้วย “ผู้เล่น” รายใหม่ รายที่ 4 มีเครือข่ายธุรกิจระดับโลกเกี่ยวข้อง มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับรายที่ 3 อยู่บ้าง นั่นคือ ธุรกิจสื่อสารในเครือข่าย Hutchison Whampoa แห่งฮ่องกง ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจสื่อสารเมื่อ 2 ทศวรรษมานี้เอง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากกว่า 80 ล้านคน ทั้งในฮ่องกงและมาเก๊า ส่วนในต่างประเทศ มีทั้งภูมิภาคเอเชีย ที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และศรีลังกา กับอีกหลายประเทศในยุโรป

ตอน Hutchison เข้ามาลงทุนในไทยเมื่อปลายปี 2545 เป็นข่าวครึกโครม และดูเหมือนบริษัทแม่ให้ความสำคัญ แฟ้มข่าวยังปรากฏอยู่ (http://www.hutchison-whampoa.com/)- CAT joins hands with Hutchison to launch “Hutch” as a marketing service brand for CDMA 1X /BANGKOK, November 29, 2002) ต่อด้วยการเปิดตัวกิจการการร่วมทุนกับการสื่อสารฯ และเปิดบริการเมื่อต้นปี 2546 ภายใต้ชื่อ “ฮัทช์ (Huch)”

ช่วงท้ายทศวรรษที่สอง มีข่าวครึกโครม เกี่ยวกับดีล SingTel-AIS (ต้นปี 2549) เป็นกระแสกว้างอย่างเหลือเชื่อ ประหนึ่งเป็นครั้งแรกเครือข่ายสื่อสารต่างชาติเข้ามาเมืองไทย ในเวลานั้น ในแง่ธุรกิจ AIS ก้าวไปไกลกว่าคู่แข่ง ท่ามกลางการขยายตัวของการสื่อสารแบบไร้สายในสังคมไทย 15 ปีจากยุคก่อตั้ง (2533-2548) AIS มีผู้ใช้บริการทะลุ 10 ล้านคนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเคียงกับอีกทศวรรษต่อมา จากการมาบริหารของ Singtel แห่งสิงคโปร์ AIS มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 4 เท่า ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 40 ล้านราย

ปิดท้ายจริงๆ ในทศวรรษที่สอง ปีเดียวกับดีล Singtel-AIS ธุรกิจสื่อสารในเครือซีพี ปรับโครงสร้างเป็นทรู (TRUE)

 

ทศวรรษที่สาม (2553-ปัจจุบัน) ภายใต้ผู้กำกับใหม่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่เดียว-กสทช. ขณะธุรกิจระบบบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ เกิดกระบวนการหลอมรวม ค่อยๆ กลายเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันลดลงเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาจำนวน “ผู้เล่น” และดูเหมือนได้ก่อกำแพงขวางกั้นการเข้ามาของรายใหม่ อย่างที่เรียกว่า Barrier to entry

การหลอมรวมที่ว่าอย่างน่าสังเกต มีแกนอยู่ที่ TRUE ทั้งดีลที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซื้อและผนวกรวมผู้ใช้บริการของธุรกิจในเครือข่าย Hutchison Whampoa และกรณีล่าสุดกำลังเกิดขึ้น จะมีผลทำให้ “ผู้เล่น” ในธุรกิจเหลือเพียง 2 ราย อย่างที่ว่ากัน กลับไปเท่ากับยุคต้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว

กสทช.ผู้กำกับใหม่ เกิดขึ้นในปี 2553 ชื่อเต็มๆ – คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (The National Broadcasting and Telecommunication Commission หรือ NBTC) ว่ากันว่า “เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”

ผลงานสำคัญเท่าที่จับต้องได้ และเกี่ยวข้อง คือการประมูลคลื่นความถี่ มีครั้งหนึ่งตื่นเต้นเป็นพิเศษ

ถือเป็นประวัติศาสตร์การประมูลที่ยาวนานถึง 4 วัน (15-18 ธันวาคม 2558) ด้วยปรากฏโฉมว่าจะมีผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่มาแทนที่รายที่ 4-บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่จริงเป็นเครือข่ายธุรกิจสื่อสารอีกรายที่เกิดขึ้นในทศวรรษแรก (บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS) สามารถชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ราคาสูงลิ่วถึง 75,000 ล้านบาท แต่อีก 3 เดือนต่อมา (21 มีนาคม 2559) ถึงกำหนดชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท กลับตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต 4 G และยอมให้ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท

ไม่ว่าจะวิเคราะห์กันยกใหญ่เพื่อหาเหตุผลและกลใดเกี่ยวกับ JAS แต่ภาพใหญ่สะท้อนโครงสร้างธุรกิจสื่อสาร ซึ่งยากจะมี “รายใหม่” เข้ามา และเมื่อมีการประมูลอีกครั้งสองครั้งต่อจากนั้น ก็ไม่ปรากฏโฉม “รายใหม่” ดังคาด

กทสช.กับบทบาท ไม่ใช่แค่ “จัดสรร” หาก “กำกับ” ด้วย ซึ่งไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่าอย่างหลังเกี่ยวข้องกับ “คุณภาพบริการ” และ “ราคา” หรือไม่