ตำนาน – ที่มา ดอยเชียงดาว ที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน! | ล้านนาคำเมือง

ภาพประกอบจาก : https://www.hellowinter.60เส้นทางความสุข.com

ล้านนาคำเมือง  ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ดอยเจียงดาว

หมายถึง ดอยเชียงดาว

สมัยก่อนดอยเชียงดาวถูกเรียกว่า “ดอยอ่างสลุง” หรือ “ดอยหลวงเพียงดาว” จนกระทั่งกลายมาเป็น “ดอยหลวงเชียงดาว” หรือ “ดอยเชียงดาว” ในปัจจุบัน

ดอยเชียงดาวเป็นเขาหินปูนเกิดจากตะกอนทะเลและซากสัตว์ที่มีหินปูนเป็นโครงสร้าง เช่น เปลือกหอย และปะการัง ดังมีการพบซากดึกดำบรรพ์คตข้าวสาร ปะการังและเปลือกหอย บนดอยเชียงดาวที่แสดงว่าดอยเชียงดาวเคยเป็นภูเขาใต้ทะเลมาก่อน

ต่อมาเมื่อมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก มีการบีบอัดและดันตัวขึ้นเกิดเป็นเขาสูงชันหลายยอด มียอดสูงสุดคือ ดอยหลวงเชียงดาว 2,225 เมตร สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก

ดอยเชียงดาวมีรูปลักษณ์เป็นภูเขาสูงโดดจากพื้นที่โดยรอบ ตรงกลางเป็นแอ่งเกิดจากรอยทรุดตัวในแนวดิ่ง เรียกว่า “อ่างสลุง”

โดยรอบเป็นหน้าผาชัน มีการยกตัวและทรุดตัวสลับกันไป มองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปเกือกม้าที่หันหน้าไปทิศตะวันออก ปลายเกือกหันสู่ทิศตะวันตก กว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาว 24 กิโลเมตร สูงตั้งแต่ 350-2,225 เมตร

ดอยหลวงตั้งอยู่บนปลายเกือกม้าด้านทิศใต้ พื้นที่มีความลาดเอียง ตั้งแต่ 45 องศาขึ้นไป เมื่อถูกน้ำฝนกัดกร่อนทำให้เกิดสวนหิน การระบายน้ำเป็นระบบภายใน มีอ่างสลุงรองรับน้ำแล้วซึมลงตามรอยแตกของหินปูนเกิดเป็นหลุมยุบเป็นโพรงของถ้ำเชียงดาว

บนดอยจึงไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำห้วยจะมีปรากฏที่ระดับต่ำกว่า 900 เมตรลงไป ซึ่งมีน้ำตลอดปีไหลลงสู่แอ่งที่ราบเชียงดาวและน้ำปิงด้านทิศตะวันออก

 

ทรัพยากรสัตว์ป่า พบว่ามีสัตว์ป่า 340 ชนิด จาก 223 สกุล ใน 97 วงศ์ ในจำนวนนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์สงวน 2 ชนิด ได้แก่ เลียงผา และกวางผา สัตว์ป่าหายาก เช่น เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว บ่าง ค่างแว่นถิ่นเหนือ เป็นต้น

นกที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์หรืออยู่ในภาวะถูกคุกคาม อาทิ นกกก นกแก๊ก กางเขนดง นกตั้งล้อ พญาไฟใหญ่ เป็นต้น

นกที่หายากที่สุดที่พบในพื้นที่ คือ ไก่ฟ้าหางลายขวาง และนกกินแมลงเด๊กแนน

สัตว์เลื้อยคลานมีไม่มากนัก เช่น เต่าปูลู ตะพาบน้ำ เป็นต้น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ กระท่าง ปลาน้ำจืดพบไม่น้อยกว่า 25 ชนิด

แมลงที่หายากและเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ ด้วงกว่างดาว ด้วงกว่างห้าเขา ด้วงกว่างคีมยีราฟ ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ และผีเสื้อที่พบเฉพาะดอยเชียงดาวและคาดว่าสูญพันธุ์แล้ว คือ ผีเสื้อภูฐาน หรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว

พรรณพืชประกอบด้วยพืชเขตร้อน กึ่งเขตร้อน และเขตอบอุ่น กระจายตามความสูงต่างๆ โดยพบมากกว่า 2,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณพืชที่พบในประเทศไทย เป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชหายาก (rare species) และพืชถิ่นเดียว (endemic species) โดยเฉพาะบริเวณสันเขาและยอดดอยที่ความสูงเกิน 1,900 เมตรขึ้นไป

ซึ่งเป็นสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์ (sub-alpine)

 

ยอดดอยที่ระดับความสูง 1,900-2,190 เมตร มียอดแหลมของหินปูนโผล่อยู่ทั่วไป ประกอบด้วยพรรณไม้ป่าละเมาะเขาสูง ซึ่งเป็นป่าที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นพื้นที่เปราะบางของดอยเชียงดาว

ตามสันเขาจะไม่ปรากฏชั้นดินชัดเจน มีพืชพรรณของเขตอบอุ่นหลายชนิด

พืชเด่นเหล่านี้เป็นพืชล้มลุก และไม้พุ่มเตี้ย ที่ขึ้นตามซอกหิน หรือรอยแตก ปรากฏความสวยงามในแบบสวนหินธรรมชาติ อันเป็นรูปแบบของสังคมพืชเขตอัลไพน์และกึ่งอัลไพน์ของเขตอบอุ่นในพื้นที่สูงที่มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันรุนแรงของสภาพแวดล้อม เช่น มีเมฆปกคลุมตลอดเวลา ฝนตก น้ำค้างแรง ลมแรง และอากาศเย็นจัดส่งผลให้พื้นที่เปิดโล่งเอื้อให้พืชกึ่งอัลไพน์และอัลไพน์ขึ้นอยู่ในความสูงระดับนี้ได้

ไม้เด่นบนยอดดอย คือ ค้อเชียงดาว (TrachycarpusoreophilousGibbons & Spanner พบขึ้นกระจายทั่วไปบนสันเขาและหน้าผาหินปูน พืชล้มลุกและไม้พุ่มเตี้ย เช่น แอสเตอร์เชียงดาว (Aster ageratoidesTurcz. ssp.alatopetiolataKitam., แสงแดง (Colquhouniacoccinea Wall. var.MollisPrain, ฟ้าคราม (CeratostigmastapfianumHosseus), พิมพ์ใจ (Luculiagratissima (Wall.) Sweet) และชมพูเชียงดาว (PedicularissiamensisP.C.Tsoong)

เป็นต้น

 

จากภูมิประเทศโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เป็นเขาหินปูนและความสูง 2,225 เมตร ทำให้พรรณพืชส่วนหนึ่งเป็นแบบเฉพาะถิ่น อาทิ ก่วมเชียงดาว (Acer chiangdaoenseSantisuk), เหยื่อเลียงผา (Impatiens kerriaeCraib), กุหลาบขาวเชียงดาว (Rhododendron ludwigianumHosseus), ม่วงเชียงดาว (ThalictrumsiamenseT.Shimizu), ผักหนอกเชียงดาว (Hydrocotylechiangdaoensis Murata) และผักอีเปา (PeucedanumsiamicumCraib) เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เองทำให้ดอยเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโกในปีนี้

ใครจะขึ้นไปศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงต้องติดต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเท่านั้น ปีนี้เปิดเฉพาะวันที่ 2 ธันวาคม 2564-15 กุมภาพันธ์ 2565 รับเพียงวันละ 100 คน ให้เข้าพักค้างได้ 1 คืน ปิดทุกวันพุธ และให้จองทางเว็บไซต์ในวันที่ 10-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเพียง 10 วัน

การขึ้นดอยหลวงมีเพียงวิธีเดียว คือต้องเดินเท้าขึ้นไป เป็นทางขึ้นเขา ประมาณ 6 ชั่วโมง จึงเหมาะกับผู้ที่ฟิตซ้อมร่างกายมาอย่างดีเท่านั้น

 

ดอยเจียงดาวสูงเตียมฟ้า

แปลว่า ดอยเชียงดาวสูงเทียมฟ้า