โลกแห่งเทคโนโลยี 2022 จะพาเราไปถึงไหน/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

โลกแห่งเทคโนโลยี 2022

จะพาเราไปถึงไหน

 

ถ้าลองให้คุณผู้อ่านนึกถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่มีคนพูดถึงเยอะในปี 2022 ที่ผ่านมา เทรนด์ที่ปรากฏขึ้นมาในหัวเป็นเทรนด์แรกๆ ก็คงจะต้องหนีไม่พ้น WFH หรือ Work From Home ที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนจำนวนมากไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และอีกเทรนด์ที่กวาดความสนใจของคนทั่วโลกในช่วงครึ่งปีหลังก็คือคำว่า Metaverse (เมตาเวิร์ส) ที่ราชบัณฑิตยสภาเพิ่งจะบัญญัติศัพท์คำนี้ให้เป็นภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งฉันคิดว่าไพเราะเพราะพริ้งไม่หยอก

นอกจากสองเทรนด์นี้ที่คาดกันว่าคงจะยังไม่ได้หายไปไหนในปี 2022 ก็ยังมีอีกหลายเทรนด์ที่น่าจะมาเปลี่ยนชีวิตเราไปอีกในปีหน้า

เริ่มจากเทรนด์เนื้อที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าเนื้อทางเลือก

เนื้อทางเลือกจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้าโดยมีผู้ผลิตสองรายใหญ่ๆ เป็นผู้นำตลาด ก็คือ Beyond Meat และ Impossible Foods ที่ผลิตเนื้อแบบแพลนต์เบสหรือเนื้อที่ไม่ได้ได้มาจากการฆ่าสัตว์

นับตั้งแต่มีการเปิดตัวเนื้อประเภทนี้ออกมาก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ทั้งรูปสัมผัสและรสชาติมีความใกล้เคียงกับเนื้อวัวหรือเนื้อหมูมากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกันราคาก็ลดลง ทำให้คนสามารถเข้าถึงเนื้อทางเลือกได้มากขึ้น

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนหันมาสนใจบริโภคเนื้อทางเลือกแทนเนื้อสัตว์จริงมาจากความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นอาหารคนนั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.5 ล้านตัน

ดังนั้น เทรนด์รักสิ่งแวดล้อมจึงมาควบคู่กับเทรนด์รับประทานเนื้อสัตว์ทางเลือก

ปี 2022 จึงน่าจะเป็นปีที่มีตัวเลือกอาหารประเภทโปรตีนจากพืชมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา และอาจจะกลายเป็นอาหารระดับแมสเลยก็ได้

 

ถัดจากเทรนด์โปรตีนจากพืช ก็น่าจะเป็นเรื่องเว็บ 3.0 และคริปโตค่ะ

อินเตอร์เน็ตในเฟสแรกเกิดขึ้นหลักๆ จากการสร้างเว็บไซต์และบล็อกซึ่งก็ทำให้เว็บไซต์อย่าง Yahoo, eBay หรือ Amazon แจ้งเกิดขึ้นมาได้ ตามมาด้วยเว็บ 2.0 ที่ถูกนิยามด้วยโซเชียลมีเดียและเนื้อหาที่ผู้ใช้งานร่วมกันสร้าง ก็ทำให้เราได้เห็นการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ของ Facebook และ YouTube โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ใช้หลักการคือเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นคนหาเงินและควบคุมแพลตฟอร์มของตัวเอง แล้วปล่อยให้ยูสเซอร์เข้ามาใช้งานได้ตามกฎระเบียบที่ตัวเองวางเอาไว้

แต่เว็บ 3.0 จะเปลี่ยนรูปแบบไป ก็คือผู้ใช้งาน ผู้สร้างคอนเทนต์ และนักพัฒนาทั้งหลายจะมีสิทธิมีเสียงในการร่วมโหวตว่าอยากจะให้แพลตฟอร์มเป็นไปทางไหน คล้ายๆ กับการทำงานกลุ่มร่วมกัน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ก็อาจจะต้องมีเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ช่วยรองรับด้วย

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซี่หรือสกุลเงินคริปโตเกิดและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า NFTs ที่ทำให้เราสามารถเป็นเจ้าของวัตถุดิจิตอลได้ อย่างเช่นภาพวาด หรืองานศิลปะต่างๆ

ซึ่งนับว่า 2021 เป็นปีที่มีการพูดถึงทั้งคริปโต และ NFT กันอย่างกว้างขวาง และก็น่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

 

อีกเทรนด์เป็นเทรนด์ที่ไม่ได้น่าเฝ้ารอคอยแต่จะเกิดขึ้นมากกว่าเดิมแน่นอนก็คือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือแรนซัมแวร์

การโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่และข้อมูลที่รั่วไหลเกิดขึ้นบ่อยครั้งในปี 2021 และจะไหลไปสู่ปี 2021 ด้วยแน่นอน เราได้ยินข่าวเครือข่ายเน็ตเวิร์กของหน่วยงานต่างๆ ถูกโจมตี เข้ารหัสข้อมูลและเรียกค่าไถ่กันบ่อยครั้ง

สิ่งที่ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับการโจมตีในรูปแบบนี้ก็คือความนิยมของคริปโตเคอร์เรนซี่ที่แฮ็กเกอร์มักใช้เป็นวิธีในการจ่ายเงินค่าไถ่ของเหยื่อ และการที่เหยื่อมีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายเงินค่าไถ่เพื่อปลดล็อกข้อมูล ไปจนถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ง่ายๆ

SonicWall บริษัทที่ทำงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่าปี 2021 ที่ผ่านมา มีการโจมตีเรียกค่าไถ่ไปแล้วมากถึง 495 ล้านดอลลาร์ ทำให้ปี 2021 นี้นับเป็นปีที่อันตรายที่สุดและแพงที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว

และหากจะมองไปข้างหน้าในปี 2022 ทางบริษัทก็มองว่าการเรียกค่าไถ่วิธีนี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวิธีการหากินที่ทำเงินได้อย่างงดงามสำหรับแฮ็กเกอร์

 

ปิดท้ายด้วยเทรนด์ของการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยมีใครกล้าฟันธงว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในปีหน้า แต่เราก็เริ่มเห็นความพยายามที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่เกินควบคุมทั้งหลายต้องยอมมาอยู่ใต้กฎกันเสียที

ในปีหน้าเราก็น่าจะยังได้เห็นเคสหรือกรณีการฟ้องร้องที่อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง อย่างที่ในปีนี้เราได้เห็นคนที่ออกมาเปิดโปงการทำงานของบริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่อย่าง Facebook ที่อ้างว่าผู้บริหารล้วนรู้ดีอยู่แล้วว่าแพลตฟอร์มของตัวเองก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวงแค่ไหนแต่ก็เลือกที่จะไม่ลงมือแก้ปัญหาหรือป้องกันอะไรเลย

Apple เองก็ต้องลงสมรภูมิต่อสู้กับบริษัท Epic Games ผู้ผลิต Fornite ในข้อกล่าวหาว่า App Store ของบริษัทมีความเป็นโมโนโปลีแบบไม่ชอบธรรม แต่ก็หลุดรอดไปได้อย่างเฉียดฉิว

เราอาจจะได้เห็นกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมาในรูปแบบของความพยายามที่จะควบคุมไม่ให้บริษัทเหล่านี้ทรงพลังมากจนเกินไป และหากจะกฎเหล่านี้จะเริ่มบังคับใช้ที่ไหนก่อนสักที่ ก็น่าจะต้องเป็นในสหภาพยุโรปนี่แหละ เพราะก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า EU เข้มงวดมากขนาดไหน

เราน่าจะได้เห็นเทรนด์ทั้งหมดที่พูดมาอย่างครบถ้วนในปีหน้าที่กำลังจะมาถึง แซมด้วยเทรนด์ใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างที่โควิดได้ทำให้เทรนด์การทำงานที่บ้านบูมขึ้นมาได้ในระยะใกล้มาแล้ว

ฉันคิดว่าดูจากแนวโน้มเทรนด์ต่างๆ ผู้บริโภคน่าจะมีทางเลือกมากขึ้น มีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดได้มากขึ้นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เราใช้บริการทุกวันนี้มีสิทธิในข้อมูลของเรามากแค่ไหน และเทคโนโลยีก็น่าจะเอื้ออำนวยให้เราตรวจสอบกันได้มากขึ้นด้วย

ส่วนจักรวาลนฤมิตรจะพาเราไปได้ไกลขนาดไหนก็เป็นเรื่องตื่นเต้นที่น่ารอดูเหมือนกัน