ผี พราหมณ์ พุทธ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ว่าด้วยเทพเจ้าจีน : ระบบราชการในศาลเจ้า

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ว่าด้วยเทพเจ้าจีน

: ระบบราชการในศาลเจ้า

 

ผมยังสนุกกับเรื่องเทพเจ้าจีนอยู่ครับ เพราะได้ความรู้มาจากปราชญ์ทางจีนมา โดยท่านไม่ปิดบังอำพรางความรู้แต่อย่างใดเลย จึงขอขอบคุณและขออนุญาตเอ่ยชื่อ คุณณัฐนนท์ ปานคง ไว้ ณ ที่นี้

คราแรกเมื่อคิดจะเขียนเรื่องจีนๆ ผมออกจะเก้อเขินอยู่เพราะภาษาจีนนั้นไม่กระดิกเอาเสียเลย แม้ตัวจะมีบรรพชนเป็นจีนและนามสกุลก็ยังเป็นภาษาจีนอยู่ก็ตาม

แต่พอนึกถึงผู้รู้สมัยก่อนอย่างท่านเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธนซึ่งเขียนหนังสือทั้งเรื่องวัฒนธรรมจีน อินเดียและไทยไว้มาก ทั้งที่ท่านไม่ได้มีความรู้ในภาษาจีน แต่ความรู้อันมหาศาลของท่านได้จากการไต่ถามชนิดที่ร่ำลือกันว่าท่านถามเก่งกว่าใครๆ

ผมจึงคิดได้ว่า ในเมื่อเราไม่รู้ เราก็อ่านในภาษาเท่าที่เราอ่านได้และถามไถ่ผู้รู้เสีย ถ้าเราผิดเดี๋ยวคนอื่นเขาก็แก้ให้เอง แต่เขาจะด่าบ้างบ่นบ้างก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา หากเราเห็นด้วยเราก็แก้ไขเสีย มันก็แค่นั้น

   วันนี้จึงจะมาชวนคุยกันต่อถึงเรื่องเทพเจ้าจีน โดยเฉพาะเรื่อง “ระบบราชการ” ในศาลเจ้าหรือที่เกี่ยวกับเทพเจ้าจีน โดยที่ระบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นแกนกลางของศาลเจ้าจีนทั้งในแง่รูปแบบ ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติเลยทีเดียว

ศาสนาขงจื่ออันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมจีน ทั้งราชสำนักและชาวบ้าน มีหลักสำคัญคือมุ่งเน้น “มนุษยธรรม” (เหริน) อันหมายถึงคุณธรรมที่เกิดจากตัวอารมณ์ความรู้สึกภายใน จากความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการขัดเกลาดีแล้ว เช่น ความกตัญญู ความเที่ยงธรรม ฯลฯ

คุณธรรมเหล่านี้จะแสดงออกอย่างเหมาะสมในสังคมมนุษย์ด้วย “ขนบจารีต” (หลี่, ลี่) อันเป็นรูปแบบที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นไปอย่างราบรื่น

วิญญูชนหรือปราชญ์ในทัศนะของขงจื่อจึงต้องรู้ทั้งธรรมเนียมปฏิบัติตามขนบจารีตและมีความรู้สึกละเอียดอ่อน คือมีทั้งหลี่และเหริน “” จึงกลายเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนให้เข้าถึงทั้งสองสิ่งนั้น สำนักขงจื่อจึงมีข้อแนะนำเกี่ยวกับพิธีกรรมไว้ค่อนข้างมาก ทำให้สังคมจีนตั้งแต่ราชสำนักถึงชาวบ้านปฏิบัติพิธีกรรมกันมากอย่างวิจิตรพิสดาร

เราจึงเห็นคนจีนเขาเซ่นไหว้กันอยู่เสมอไงครับ มีทั้งสารทต่างๆ ที่ต้องทำพิธีกรรมตามกำหนดเวลา หรือพิธีกรรมภายในครอบครัวตั้งแต่เกิดจนตาย

เดิมชาวบ้านกราบไหว้เทพเจ้าหรือผีสางตามความนึกคิดของตนอย่างง่ายๆ เมื่อวัฒนธรรมขงจื่อเข้มแข็งแพร่หลายแล้ว ทำให้ขนบจารีตและรูปแบบราชสำนักแพร่ออกไป

  และสถานที่ซึ่งรับเอารูปแบบทางวัฒนธรรมราชสำนักหรือราชการจากแนวคิดขงจื่อไปมากที่สุดคือศาลเจ้านั่นเอง

 

การกราบไหว้ ลำดับพิธีการ ข้าวของเครื่องใช้ (เช่น เกี้ยว ฉัตร) ภาษาในพิธีการ หรือขบวนแห่เจ้า ฯลฯ ในศาลเจ้า ล้วนเลียนแบบมาจากรูปแบบของทางราชการจีนโบราณทั้งสิ้น

นอกจากนี้ คนจีนมีความนึกคิดว่า ปรโลกหรือโลกวิญญาณก็ไม่ได้ต่างจากโลกของมนุษย์ ดังนั้น หากในมนุษยโลกมีการปกครอง หรือระบบราชการอย่างไร โลกของเทพเจ้าหรือวิญญาณก็เป็นอย่างนั้น

เช่น มีเทพผู้ปกครองตั้งแต่ระดับบ้านเรือน หมู่บ้าน เมือง ไปจนถึงระดับจักรพรรดิ เช่นเดียวกันกับโลกของเรา

เทพเจ้าของจีนจึงมีลำดับชั้นยศตามระบบราชการ เช่น ไท่จู้ (ราชกุมาร), หงวนโส่ย (แม่ทัพ), อ๋อง (เจ้าประเทศราช), ไต่เต่ (จักรพรรดิ) ส่วนเทพฝ่ายสตรีก็ใช้ชั้นยศอย่างฝ่ายในเช่นกัน และยังมีการจัดเทพเป็น “เจ้าหน้าที่” ฝ่ายต่างๆ แบบเดียวกับข้าราชการ เช่น เทพส่งสาร เทพตุลาการ เป็นต้น

ตัวชั้นยศของเทพเหล่านี้ก็จะเข้าไปกำกับรูปแบบที่ปรากฏในศาลเจ้าอีกที เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม อย่างเช่น เจ้าระดับไหนจะนั่งเกี้ยวแห่แบบไหน เสื้อคลุมสีอะไร เครื่องเซ่นอะไร ฯลฯ รวมทั้งไปกำกับตัวสถาปัตยกรรมและเครื่องประดับศาลด้วย เช่น ฉากหลังจะเป็นมังกรหรือกิเลน เครื่องบนของหลังคาจะเป็นอย่างไร อาคารจะเป็นอย่างไร เป็นต้น

  ดังนั้น ศาลเจ้าก็คือ “จวน” หรือ “ศาลาว่าการ” ของเทพเจ้าที่เป็นประธาน (จู่ตั๋ว) ของศาลนั้นๆ โดยมีเทพบริวารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ลดหลั่นกันไปนั่นเอง

 

เมื่อราชสำนักจีนเห็นความสำคัญของเทพในท้องถิ่นชาวบ้านตามเมืองต่างๆ จึงเกิดระบบที่เรียกว่า “เทกห่อง” (ภาษาฮกเกี้ยนแปลว่าแต่งตั้ง) คือการแต่งตั้งยศให้เทพเจ้าโดยราชสำนักขึ้นมา ผมคิดว่านี่เป็นนโยบายที่สำคัญที่จะยึดโยงความศรัทธาของชาวบ้านให้เข้ากับราชสำนัก หรือเป็นกุศโลบายในการสร้างขวัญกำลังใจยามศึกสงคราม โดยราชสำนักถือว่า ฮ่องเต้เป็นโอรสสวรรค์ ย่อมจะมีสิทธิในการตั้งยศเทพได้

เจ้าแม่ทับทิมหรือพระม่าจ้อโป๋คือตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ ท่านกำเนิดเป็นหญิงชาวบ้านแซ่หลิมในหมู่บ้านชาวประมงบนเกาะบี่จิวมณฑลฮกเกี้ยน สมัยราชวงศ์ซ่ง ต่อมาชาวบ้านเคารพนับถือจึงสร้างศาลไว้กราบไหว้ ราชสำนักทราบถึงคุณงามความดีจึงตั้งยศให้ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าซ่งเกาจง ในลำดับ “ฮูหยิน” แล้วค่อยๆ เลื่อนยศขึ้นมาเป็น “เจ้าหญิง”

การตั้งยศเทพีองค์นี้มีเรื่อยมาจนถึงสมัยหยวน หมิง จนถึงชิงอันเป็นราชวงศ์สุดท้าย เพราะทางราชการได้รับรายงานว่ามักปรากฏเทพีองค์นี้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านและราชการเสมอ เช่น ช่วยกองเรือของเจิ้งเหอ (ปรากฏเป็นนิมิตที่พอตีความได้ว่าเป็นเทพองค์นี้) ยศสุดท้ายที่ท่านได้รับคือพระชนนีแห่งสวรรค์ (เทียนสย่งเซ่งโบ้) ซึ่งได้รับในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง

ดังนั้น เมื่อมีพระยศเป็นถึงพระชนนีแห่งสวรรค์ ศาลเจ้าของท่านจึงเท่ากับเป็น “พระที่นั่ง” หรือตำหนัก เครื่องแต่งกาย สัญลักษณ์ต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนไปตามยศที่ได้รับด้วย รวมทั้งการคำนับกราบไหว้ ซึ่งเป็นไปตามชั้นยศของเทพ

  เทพอีกหลายองค์ก็ได้รับการเทกห่องหรือแต่งตั้งเช่นนี้ โดยเฉพาะเทพฝ่ายบู๊ที่มักปรากฏตำนานว่าออกไปช่วยกองทัพของราชสำนัก เช่น พระห่อก๊กจุนอ๋องหรือซุนเจ่งหู้ไต่อ๋อง งักบู๊บกอ๋อง (งักฮุย) กวนเซ่งเต่กุน (กวนอู) เป็นต้น

 

เห็นได้ชัดครับว่าการแต่งตั้งเทพเจ้านี่เป็นเรื่องการเมืองโดยตรงทีเดียว คือแสดงให้เห็นว่าราชสำนักยกย่องคนที่คุณงามความดี ทำให้ชาวบ้านประทับใจพลอยชื่นชมราชสำนักไปด้วย มิหนำซ้ำ การมีตำนานว่าเทพเจ้าได้ช่วยราชการในโอกาสต่างๆ ก็เท่ากับว่าเทพอยู่ฝ่ายราชสำนักนั่นเอง

ราชสำนักจึงสามารถเลือกหรือไม่เลือกเทพองค์ไหนก็ได้ เช่น แต่เดิมเทพบู๊ที่ราชสำนักยกย่องคืองักบู๊บกอ๋อง (งักฮุย) ต่อมาในสมัยชิงเปลี่ยนมาเป็นเทพกวนอูแทน เพราะงักฮุยสู้รบกับพวกนอกด่านซึ่งคือพวกเดียวกับชิง (เช็ง) จะเอาคนที่สู้กับคนนอกอย่างตนมายกย่องคงไม่ดีนัก

ไม่เพียงตั้งยศของเทพอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ราชสำนักจีนยังมีการอวยยศด้วยสิ่งของพระราชทานต่างๆ เช่น ป้ายยศประจำศาลเจ้า ป้ายยศแห่ (ป้ายจิ๊บสู่) เครื่องยศต่างๆ เช่น หมวก เสื้อคลุม กระบี่ ฯลฯ ทุกวันนี้ศาลเจ้าที่เคร่งธรรมเนียมก็จะใช้ข้าวของพวกนี้เวลาแห่เจ้าอยู่ครับ

มีประเพณีอีกอย่างที่สะท้อนระบบราชการในศาลเจ้า คือเมื่อตั้งศาลเจ้าจะมีพิธี “เชี้ยหยกจี้” หรืออัญเชิญพระราชอาญาสิทธิ์จากฟ้า เป็นทำนองขอพระราชโองการสวรรค์ให้แก่ศาลเจ้านั้น เท่ากับสวรรค์รับรองว่าเป็นศาลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ศาลเถื่อน

แม้แต่คนทำพิธีในศาลเจ้าก็พลอยเข้าสู่ระบบราชการไปด้วย ในศาลเจ้าแบบฮกเกี้ยนจะมีผู้ประกอบพิธีที่เรียกว่า ฮวดกั๊ว คำนี้ตามรากศัพท์เดิมหมายถึงผู้พิพากษา คำว่ากั๊วหมายถึงขุนนาง ฮวดคือเวทมนตร์คาถา โดยเป็นการเลียนแบบระบบการตั้งยศนักพรตเต๋ามาใช้ในหมู่ชาวบ้าน

 

เมื่อสิ้นราชสำนักจีนไปแล้ว การแต่งตั้งเจ้าก็พลอยหมดลงไปด้วย ยศเจ้าทั้งหมดจึงมีเพียงเท่าที่เคยแต่งตั้งมาเท่านั้น ผมไม่รู้ว่าในเทวโลกหรือปรโลกเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ โดยมีเง็กเซียน (หยกอ๋อง) เป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่หรือเป็นระบบเดิมอยู่

แต่เรื่องปรโลกคงรู้ได้ยากจนกว่าจะไปอยู่เองนั่นแหละครับ เผลอๆ อาจไปยมโลกแทนด้วย

มีบางกลุ่มความเชื่อเช่นในไต้หวันเชื่อว่าอาจตั้งเจ้าขึ้นมาเองได้ หรือตั้งกันภายในลัทธินิกายต่างๆ แต่นี่เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่แพร่หลายทั่วไป

เรื่องเทพเจ้าจีนยังมีอะไรให้เล่าต่ออีก โดยเฉพาะเทพกลุ่มพิเศษบางกลุ่มอันเป็นเอกลักษณ์ของเทพฮกเกี้ยน

  โปรดติดตาม