วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ขบวนการกระทิงแดง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ขบวนการกระทิงแดง

บ้านมืองยามสถานการณ์อยู่ในความหวาดระแวง ด้วยหวั่นกันว่าระบบโดมิโนอินโดจีน คือการเปลี่ยนการเมืองจากประชาธิปไตยเป็นคอมมิวนิสต์ จะเกิดกับประเทศไทย ดังที่เกิดขึ้นในสามประเทศ คือลาว กัมพูชา และเวียดนามในที่สุด ส่วนพม่าปลี่ยนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปก่อนหน้านานแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่แทรกเข้ามาระหว่างนั้น คือสหรัฐอเมริกาส่งเรือมายาเกรซเข้ามาที่อ่าวไทย เตรียมทหารบุกเข้ากัมพูชา ขับไล่ทหารเวียดนาม
คนไทยทราบเรื่องจัดการชุมนุมประท้วง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จึงขับไล่ให้ออกจากอ่าวไทย พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องให้ทหารสหรัฐถอนฐานทัพและทหารออกจากประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
การเดินขบวนขับไล่ทหารอเมริกัน เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันหนึ่งขณะนั้น ระหว่างขบวนเดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านถนนอังรีดูนังต์ เลี้ยวเข้าถนนพระราม 1 หน้าสยามสแควร์ ปรากฏว่ามีระเบิดปาลงมาจากดาดฟ้าศูนย์การค้าสยามสแควร์
เป็นเหตุให้มีผู้เดินขบวนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

ปี2518 ก่อน เหมา เจ๋อ ตุง จะถึงแก่อสัญกรรม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มี นายอานันท์ ปัณยารชุน เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประธานเหมา เจ๋อ ตุง
ยังเป็นขณะที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิสนิสต์ใช้ มิได้ยกเลิกแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายความมั่นคง ไม่ค่อยพอใจนัก
เมื่อมีการประสานสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน แนวทางความคิดหนึ่งทางการเมืองฝ่ายสังคมนิยมมีความหวังในทางการเมืองมากขึ้น
แต่ฝ่ายนิยมขวาจัดไม่ค่อยพอใจนัก จึงมีการโจมตีรัฐบาลว่าจะนำพาประเทศไทยไปสู่แนวทางสังคมนิยม ซึ่งอาจจะถึงการนำระบบคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้ในประเทศไทย

เหตุรุนแรงเกิดขึ้นแทบว่าตลอดเวลา เช่น กรณีนักศึกษาอาชีวะบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้หลายคณะได้รับความเสียหาย ด้วยข้อกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซ่องสุมอาวุธสงคราม
หลังจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หัวหน้าพรรคกิจสังคม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ สอบตกในเขตดุสิต พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มี นายพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ก่อนหน้านั้น พรรคประชาธิปัตย์ใช้นโยบายหาเสียงไปในแนวทางสังคมนิยม ที่ นายพิชัย รัตตกุล ซึ่งเป็นผู้ที่พรรคประชาธิปัตย์วางตัวให้เป็นรัฐมนตรีว่ากากระทรวงการต่างประเทศ ประกาศว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยจะนำระบบสังคมนิยมอ่อนๆ มาเป็นนโยบายในทางการเมือง ด้วยขณะนั้นประเทศเพื่อนบ้านล้วนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีนโยบายประสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องกลายเป็นโดมิโนล้มระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
การต่อสู้ทางการเมืองในขณะนั้น นัยว่ามีการแบ่งฝ่ายชัดเจนระหว่างผู้ไม่นิยมแนวทางสังคมนิยม กับผู้ที่หวังว่าการเมืองไทยจะไปสู่ระบบสังคมนิยมดังที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงไว้
ช่วงนั้น จึงมีการโจมตีนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์โดยผู้ไม่ปรากฏนามแขวนป้ายติดไว้กลางถนนราชดำเนิน ความว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น”

ไม่นานจากนั้น เมื่อกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง โดยเฉพาะสนับสนุนกลุ่มแรงงานอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเองเริ่มมีความเคลื่อนไหว และแข็งแรงขึ้น อาทิ สหภาพแรงงานรถไฟ สหภาพแรงงานการประปานครหลวง สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯลฯ ทำให้เกิดสหภาพแรงงานของภาคเอกชนขึ้น การนัดหยุดงานเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน และยืดเยื้อ
มีการเรียกร้องขึ้นค่าแรงเนื่องในวันแรงงาน การเรียกร้องสวัสดิการด้านแรงงาน ที่สำคัญ คือมีปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมาอีกทางด้านชาวนา มีการทำร้ายชาวนาและสังหารผู้นำชาวนา เป็นเหตุให้มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายจังหวัด มีผู้นำนิสิตนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้อง
“ฝ่ายขวา” ขณะนั้น ต้องการขัดขวางการเติบโตของฝ่ายนิสิตนักศึกษา จึงใช้หนามยอกเอาหนามบ่งด้วยการใช้กำลังของนักศึกษาอาชีวะมาเป็นกองกำลังขัดขวาง มี พลตรีสุตสาย หัสดิน เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม นักศึกษาอาชีวะใช้ชื่อว่า “กระทิงแดง”
เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มนิสิตนักศึกษา “กระทิงแดง” จะเข้าไปก่อกวน หลายครั้งใช้กำลังรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธ
ยิ่งมีความเคลื่อนไหวของฝ่าย จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศ กลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการและทรราชออกมาชุมนุมผลักดันให้กลับออกนอกประเทศ หลังจากนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร เดินทางเข้าไทยอ้างว่าเพื่อมารักษาอาการป่วยที่ดวงตา แต่ถูกขัดขวางประท้วงขับไล่ จนต้องล่าถอยกลับไต้หวัน

ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักข่าวห้วงเวลานั้น ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ ทั้งมีการกล่าวหาหนังสือพิมพ์บางฉบับว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” เช่น หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
การนำเสนอข่าวและบทความคณะบรรณาธิการต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะงานเขียนของนักวิชาการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย บางคนขนาดถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปโน่น
ยิ่งเมื่อมีการเผยแพร่หนังสือปกแดงของ เหมา เจ๋อ ตุง และมีการจัดพิมพ์หนังสือที่เรียกว่าวรรณกรรมก้าวหน้าซึ่งเคยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์สมัยหนึ่งออกมามากขึ้นเท่าไหร่ การอ่านก็ยิ่งกระจายออกไป โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา แนวทางความคิด และความรู้เรื่องสังคมนิยมแพร่หลายออกไป ทำให้มีการชุมนุมทั้งเป็นกระบวนการ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นิสิตนักศึกษา “ฝ่ายขวา” ยิ่งรุกคืบลุกขึ้นขัดขวางยิ่งขึ้น
การต่อสู้ระหว่างขบวนการนิสิตนักศึกษาและผู้ประกาศตนต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยขยายวงออกไป การเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ยิ่งต้องระมัดระวังไม่เอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ค่ำวันหนึ่ง หลังจากกองบรรณาธิการปิดข่าวเรียบร้อย ฝ่ายช่างเรียงซึ่งมี หาญ ทองนิ่ม ดูแลใกล้เสร็จงานเช่นกัน ช่างเรียงจะออกไปล้างมือทำความสะอาดเนื้อตัวบริเวณด้านหลังห้องเรียงพิมพ์ เสียงระเบิดดังสนั่นเกิดขึ้น
แม้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตราย แต่ด้านข้างอาคารได้รับความเสียหายจากสะเก็ดระเบิด
รวมทั้งรถในโครงการรณรงค์ “มีลูกมากจะยากจน” ของ คุณมีชัย วีระไวทยะ ถูกสะเก็ดระเบิดเสียหายหลายคัน