ระบบยุติธรรม ยังไม่มีคำตอบ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ระบบยุติธรรม

ยังไม่มีคำตอบ

 

ปาณา-ติปาตา-เวระ-มะณี-สิกขา-ปะทัง-สะมา-ทิยามิ

เว้นจากการฆ่าและประทุษร้ายต่อกัน คือศีลข้อแรกจาก “ศีลห้า” ที่ไทยพุทธคุ้นเคย

แต่ “ศีล” บรรลุได้ด้วยการปฏิบัติมิใช่ท่องจำ

ในสังคมไทยนับจากบนสุดยันล่างสุด ขวาสุดยันซ้ายสุด แค่แนวคิดการเมืองไม่เหมือนกันยังถึงกับต้อง “ฆ่า” กัน

พฤติกรรมแบบนี้มีมาชั่วอายุคน-ยังไม่เปลี่ยน!

 

ในหนังสือชื่อ “เบื้องหลังคดีเลือด-ยุคอัศวินผยอง-คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี” ของ “สมบูรณ์ วรพงษ์” (สำนักพิมพ์สายธาร) ได้บันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“คืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2492 จอมพลกล่าววาทะนั้นออกมา นั่นคือ เลือดเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้”

การฆ่าคนที่ไม่มีปืนอยู่ในมือจะไปยากอะไร!

ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเลือด

แต่ก่อนกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซากก็ต้องป่าวประกาศสาดโคลน เช่น ช่วงที่ “ควง อภัยวงศ์” เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพให้คณะรัฐประหาร 2490 นั้น “เตียง ศิริขันธ์” กับพวกอีก18 คนถูกจับ ข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ทั้งที่มีแค่เคียว คันไถ วัว ควาย ไร่นา กับคนแก่ชราสนับสนุน

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตผู้นำเสรีไทย (รัฐมนตรียุคปรีดี) นายถวิล อุดล (รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ยุคปรีดี) นายจำลอง ดาวเรือง อดีตเสรีไทยและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยุคปรีดี เสนอตัวว่าความสู้คดีให้ “เตียง ศิริขันธ์” กับพวก

ใครจะไปคิดว่าอึดใจต่อมาคณะรัฐประหารไล่ “ควง” ลงจากเก้าอี้ “จอมพล ป.” กลับมาพร้อมกับการกวาดล้างปรปักษ์ชนิดสิ้นซาก

เตียง ศิริขันธ์ กับคนสนิท ถูกฆ่าทิ้ง ทองอินทร์, ถวิล, จำลอง กับทองเปลว ชลภูมิ 4 อดีตรัฐมนตรีถูกจับ แยกกันขัง แต่ไม่นานก็มีตำรวจมาเบิกตัวไปในยามวิกาลแล้วพาขึ้นรถขนย้ายผู้ต้องหา คืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 นั้น ทั้งหมดถูกสาดกระสุนใส่ร่างพรุนตายคากุญแจมือ ที่บริเวณถนนพหลโยธิน ก.ม.14-15 บางเขน

เหตุผลประกอบการฆ่าคือ มีโจรมลายูมาแย่งชิงตัว!

ยุคนั้นแม้แต่ตำรวจด้วยกันก็ไม่เว้น พ.ต.อ.บรรจง ชีพเป็นสุข มือปราบตงฉิน ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยมากกว่าระบอบทมิฬ ถูกยิงตายคาบ้านพักในซอยเสนานิคม บางเขน

เหตุผลประกอบการฆ่าคือ ต่อสู้ขัดขืน!

 

การฆ่าฝ่ายตรงข้ามทุกครั้งจะต้องให้เหตุผล

เช่น ก่อนจะฆ่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็มีวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”!

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้หยิบฉวยเหตุจากการเอารัดเอาเปรียบ ความยากจน การกดขี่ขูดรีดและข่มเหงรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐมาโฆษณาหาพวก จนเป็นที่หวั่นระแวงแก่ทางราชการ คราวนี้พอเห็นใครต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ใครวิจารณ์รัฐบาล ด่าทหาร ด่าตำรวจ พูดถึงความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้านายทุนก็ยัดข้อหาเป็น “คอมมิวนิสต์” กันสะดวก

รัฐสู้รบกับ “พคท.” ศัตรูหมายเลข 1 ด้วยความโง่อยู่หลายปี ใช้ทั้ง “การปราบ” และ “ปลุก” เช่น สร้างภาพยนตร์ หมู่บ้านพังโพน กับไฟเย็น โหมประโคมว่าคอมมิวนิสต์ล้มเจ้า ฆ่าพระ บังคับคนไถนา ปลุกให้คนกลัว บิดเบือนให้ชิงชัง สร้างผลงานด้วยยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏ หมิ่นพระบรมฯ ทำให้คอมมิวนิสต์เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐเริ่มเพลี่ยงพล้ำจึงจัดตั้งองค์กรและกลุ่มพลังขึ้นมา มอบอาวุธ จัดฝึกอาวุธให้ ใช้วิธีมวลชนไล่ล่ามวลชน เช่น นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ภักดีบดินทร์ อาสาสมัครป้องกันตนเอง

มีการฆาตกรรมผู้นำชาวไร่ชาวนา นักศึกษา กรรมกร ครูในชนบท มีการลอบสังหารนักวิชาการอย่าง ดร.สนอง บุณโยทยาน

และพอใกล้เหตุการณ์วันสังหารหมู่ “6 ตุลาคม 2519” พนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคที่นครปฐม ก็ถูกจับแขวนคอตาย 2 ศพ ขณะออกปิดใบประกาศประท้วง “จอมพลถนอม” กลับประเทศ

ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ลางสังหรณ์ แต่เป็นลางบอกเหตุแห่งการฆ่าต่อมา เช่น มีการโหมประโคมผ่านสถานีวิทยุเครือข่ายทหารว่า มีอุโมงค์ มีคลังแสงอาวุธสงคราม มีปืนกลหนัก ปืนกลเบา มีระเบิด และมีคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองธรรมศาสตร์

ทำให้ย้อนนึกไปถึงวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของภิกษุสงฆ์นาม “กิตติวุฒโฑ”

ก่อนรุ่งสางวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ พร้อมกองกำลังพลเมืองที่รัฐจัดตั้งได้เข้าปิดล้อมแล้วสาดกระสุนใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตลอดทั้งคืน พอสว่างก็กรูเข้ารุมขยี้อย่างกระเหี้ยนกระหือรือราวผู้ชุมนุมไม่ใช่คน

ไม่มีอุโมงค์ ไม่มีอาวุธหนักร้ายแรงในธรรมศาสตร์

พบแต่ “เหยื่ออาชญากรรมทางการเมือง” ที่ถูกทุบตีจนตาย ถูกจับมาเผานั่งยาง ถูกจับแขวนคอกับต้นมะขามสนามหลวง ถูกยิงบาดแผลเหวอะหวะ

ทุกคนตายฟรี ไม่มีการเอาผิดจากโฆษณาชวนเชื่อ การให้ร้าย บิดเบือน และการยุยงให้ฆ่า

 

“การฆ่า” ซึ่งเป็นส่วนควบติดมากับรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในประเทศไทย เช่น พฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งมาจากเหตุ “รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534” ของ รสช.

“10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553” ที่มาจากเหตุ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ของ คมช. ซึ่งในที่สุดเมื่อไม่เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ก็ต้อง “แบ่งแยกแล้วทำลาย” โจมตีพรรคการเมืองจนยินยอมให้จัดตั้ง “รัฐบาลในค่ายทหาร” เป็นเหตุนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้ “ยุบสภา” แล้ว “เลือกตั้งใหม่” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้อง “ปกติ” ที่ทุกคนคาดคิดไม่ถึงว่า คำตอบที่ได้รับคือ “กระสุนจริง” กับ “สไนเปอร์” ที่เป็นบาดแผลเรื้อรังมายังทุกวันนี้

ความจริงแล้วไม่เพียงแต่ผู้นับถือพุทธเท่านั้นที่สอนให้ “เว้นจากการฆ่า” ทุกศาสนาก็ถือว่าการฆ่าคนนั้นเป็นบาปร้ายแรง แต่คนก็ยังสามารถฆ่าคนด้วยกันได้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ในประเทศไทยฆ่าแล้วลอยนวล ไม่เคยถูกจับ ไม่ถูกดำเนินคดี

กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่ประเทศนี้ไม่เคยอินังขังขอบกับการฆ่าพลเมือง!?!!