‘ราษฎร์รัฐ’ ร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย 2476 : ความทรงจำที่หายไปในปรัตยุบัน | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ราษฎร์รัฐ’ ร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย 2476

: ความทรงจำที่หายไปในปรัตยุบัน

 

“การที่รัฐบาลทำการปราบกบฏได้เป็นผลสำเร็จย่อมถือว่าเป็นความสามารถอันควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เรายังคาดกันไม่ถูกจนบัดนี้ [2478] ว่า หากกบฏกระทำการเป็นผลถึงแก่กำชัยชะนะไว้ได้แล้ว ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญยังจะคงเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติไทยอยู่หรือไม่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจกลับมีชีวิตขึ้นอีกก็ได้ ใครจะรู้!”

(ฮ.ยนตรรักษ์, 2478)

ในปรัตยุบัน การหายไปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ในกลางดึกคืนวันที่ 27 ต่อ 28 ธันวาคม 2561 โดยมีตำรวจและทหารควบคุมการขนย้าย พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ด้วย จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลไม่สามารถตอบประชาชนได้ว่าอนุสาวรีย์ดังกล่าวไปอยู่ที่ใด

ครั้งอดีตเคยมี “ราษฎร์รัฐ” ร่วมปราบกบฏบวรเดชอันเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรตระหนักดีว่า เหตุการณ์นี้จะมีความสำคัญต่อไป จึงจัดทำสัญลักษณ์แจกจ่ายข้าราชการและประชาชนก่อนที่เหตุการณ์จะจบสิ้นลง

โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้จ้างร้านห้องศิลป์ทำเข็มกลัดรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาล จำนวน 5,000 อัน

และภายหลังเหตุการณ์จบสิ้นลง รัฐบาลแถลงการณ์ขอบคุณ เจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ให้การสนับสนุนการปราบกบฏของฝ่ายรัฐบาล พร้อมมอบเข็มกลัดรัฐธรรมนูญต่อเจ้าแก้วนวรัตน์เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติด้วย

ถัดมารัฐบาลจัดทำเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้น โดยลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญทรงสีเหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้ามีภาพสมุดรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น อยู่ภายในวงพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล

ด้านหลังมีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ยืนลอยอยู่เหนือตัวอักษรตามขอบล่างว่า “ปราบกบฏ พ.ศ.2476” ภายใต้ห่วงอันมีอักษรว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แพรแถบสีธงไตรรงค์ ห้อยบนแพรแถบมีเข็มโลหะทองแดงรมดำ จารึกอักษรว่า “สละชีพเพื่อชาติ”

การปราบปรามกบฏบวรเดชสำเร็จลงได้ด้วยน้ำใจและความกล้าหาญของพลเมืองจำนวนมาก ทั้งประชาชน พ่อค้า กรรมกร ลูกเสือ สตรีอาสาสมัคร รวมทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนล้วนได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

มีการประกาศรายชื่อพลเมืองที่ได้รับเหรียญลงในราชกิจจานุเบกษา

อีกทั้งรัฐบาลออกใบคู่มือประจำตัวที่รับรองประชาชนคนนั้นว่า เป็นที่ได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบกบฏ ถือได้ว่าเป็นผู้รักชาติ และรัฐธรรมนูญ

ภายหลังเหตุการณ์จบสิ้นลง รัฐบาลมีความสำนึกในทางประวัติศาสตร์ที่ต้องการให้สังคมสยามได้จดจำเรื่องดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ มีการเตรียมโครงการจัดทำหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์การปราบกบฏขึ้น

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และหลวงวิจิตรวาทการขอ ทำจัดทำสมุดตำนานเหตุการณ์ขึ้นเพื่อยึดถือเป็นหลักแห่งการศึกษาและการเรียนประวัติศาสตร์ในภายหน้า

โครงการนี้มีแนวคิดในการจัดทำ 3 เล่ม ดังนี้

เล่มแรก บันทึกเหตุการณ์

เล่มที่สอง บันทึกถ้อยคำประจักษ์พยานบุคคล

และเล่มที่สาม เป็นประมวลเอกสารของรัฐบาล เช่น แถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งต่างๆ โดยมีบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ จำนวน 9 ฉบับเข้าร่วมจัดทำ

เหตุการณ์กบฏครั้งนี้ มีผลกระทบต่อสำนึกของพลเมืองอย่างกว้างขวาง พวกเขาพยายามช่วยเหลือรัฐบาลเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเลี้ยงอาหาร การบริจาคเงิน ฯลฯ

หรือแม้กระทั่งกรณีของนางส้มจีน รักภาระพิทักษ์ เจ้าของร้านสหธัญญาพานิช ขออนุญาตรัฐบาลอัดรูปถ่ายพวกกบฏจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการจับกุมบุคคลเหล่านั้นมารับโทษความว่า

“ดิฉันจะพยายามจำหน่ายให้ถูกที่สุด แม้จะเสียเวลาหรือขาดทุนบ้าง ดิฉันก็ยอม เพราะดิฉันเห็นแก่ชาติมากกว่า”

เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว รัฐบาลได้นำศพของทหารผู้เสียชีวิตจัดพิธีฌาปนกิจอย่างสมเกียรติบนท้องสนามหลวงในฐานะวีรชนของชาติ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2476

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการฌาปนกิจสามัญชนบนท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นทุ่งพระเมรุสำหรับเจ้านายตลอดประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2552)

จากนั้น รัฐบาลจัดหาสถานที่เพื่อการบรรจุอัฐิวีรชน จำนวน 17 คน ที่หลักสี่ บางเขน

สามัญชนผู้ประดับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่อกเสื้ออย่างภาคภูมิ

อนุสาวรีย์ดังกล่าว ถูกออกแบบให้เป็นเสาคล้ายกระสุนปืนใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต 8 เหลี่ยม มีกลีบบัวประดับซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น ยอดของกลีบบัวมีพานรัฐธรรมนูญ อันสะท้อนถึงการสละชีพเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้สถิตสถาพรชั่วกาลนาน

ผนังด้านหน้าของอนุสาวรีย์ มีจารึกรายชื่อทหารและตำรวจวีรชน ผู้เป็นบุรุษแห่งชาติ 17 นาย ตั้งแต่นายทหารชั้นพันเอกจนถึงนายสิบ ที่ร่วมกันพลีชีพพิทักษ์ประชาธิปไตย

ผนังด้านทิศใต้เป็นรูปครอบครัวชาวนา ประกอบด้วยสามีถือเคียว ภริยาถือรวงข้าว และบุตรถือเชือกมนิลา ผนังด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักร สะท้อนความสงบสุขของชาติ ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นโคลงจารึกพระราชนิพนธ์สยามานุสสติของรัชกาลที่ 6 เพื่อสติคนไทยให้มีความสามัคคี

จากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีพระดำรัสเปิดอนุสาวรีย์ กองทหารแสดงความเคารพและมีการวางพวงมาลา

แม้ว่าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจะเป็นสถาปัตยกรรมอันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะเหนือฝ่ายกบฏของรัฐบาล แต่หากพิจารณาคำกราบทูลเปิดอนุสาวรีย์ ตลอดจนพระดำรัสตอบของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่างให้ความสำคัญในเรื่องความสามัคคี ความปรองดอง เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ

ประชาชนมาชุมนุมต้อนรับทหารฝ่ายรัฐบาลที่มีชัยเหนือกบฏบวรเดชที่หัวลำโพง

ดังพิจารณาจากคำกราบทูลของจอมพล ป.ว่า

“อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจผู้กล้าหาญ ซึ่งประดิษฐานอยู่เฉพาะพระพักตร์และต่อหน้าท่านผู้รักชาติทั้งหลาย ด้วยความจริงใจของเกล้ากระหม่อมแล้ว ไม่มีความยินดี เพราะเป็นอนุสาวรีย์ที่ต้องสร้างขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์อันเสร้าสลดที่สุด ที่คนไทยต่อคนไทยแตกความคิดความเห็นและจับอาวุธเข้าประหัตประหารกันเองจนถึงกับต้องเสียชีวิต… กระทรวงกลาโหมขออุทิศอนุสาวรีย์นี้ไว้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องสติเตือนใจชาวไทยว่าอย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูดและการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสะเทือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดกาล” (ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2556)

จากเหตุการณ์นั้น เราสามารถเข้าใจความวิตกกังวลของพลเมืองผ่านหนังสือการเมืองเล่มเล็กในช่วงเวลานั้น

ดังความว่า “การที่รัฐบาลทำการปราบกบฏได้เป็นผลสำเร็จย่อมถือว่าเป็นความสามารถอันควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เรายังคาดกันไม่ถูกจนบัดนี้ [2478] ว่า หากกบฏกระทำการเป็นผลถึงแก่กำชัยชะนะไว้ได้แล้ว ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญยังจะคงเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติไทยอยู่หรือไม่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจกลับมีชีวิตขึ้นอีกก็ได้ ใครจะรู้!” (ฮ.ยนตรรักษ์, 2478)

พิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในปี 2479

เมื่อขั้วอำนาจการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดหมุดคณะราษฎรได้สูญหาย (เมษายน 2560) และอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชหายไปเช่นกัน (ธันวาคม 2561)

ติดตามด้วยการตั้งชื่อห้องที่อาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกว่า “บวรเดช” และ “สิทธิสงคราม” (ตุลาคม 2562)

และในปี 2564 “จากบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับดังกล่าว เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้นอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนรัตนโกสินทร์” (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 10 พฤศจิกายน 2564)

คำถามที่ตามมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยและประวัติศาสตร์ของไทยในปรัตยุบัน

เนาวรัตน์ ศรีจามร ช่างภาพหนุ่ม ผู้ไปเยือนอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชในครั้งนั้น
ตำรวจและทหารที่พลีชีพพิทักษ์ประชาธิปไตย