ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“เจ้ามิใช่นักรบ ที่เคยประสบริ้วรอย รูปร่างก็น้อยน้อย เพราะเรียนหนังสือหลายปี
แม่รู้ว่าลูกรัก นั้นมีความภักดี กตัญญูแผ่นดิน พ่อก็รู้ว่าลูกมี
แต่ใครเขาจะรู้ เพราะเขามิใช่พระอินทร์ มนุษย์อาจได้ยิน แต่อำนาจมาบังตา…”
สุจิตต์ วงษ์เทศ (16 ตุลาคม 2516)
ไม่น่าเชื่อเลยว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยที่ก่อร่างสร้างตัวในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีอายุขัยสั้นมาก และจบลงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการสังหารหมู่และการรัฐประหารของฝ่ายขวาจัด
ผลของการสิ้นสุดของกระบวนการดังกล่าวยังมีประจักษ์พยานอีกส่วนคือ การที่นักศึกษาและประชาชนจำนวน 18+1 คน ได้กลายเป็น “นักโทษการเมือง” ชุดแรกหลังชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2516
การเป็นนักโทษการเมืองของพวกเราเช่นนี้ อาจต้องถือเป็นประเด็นใหม่ในการเมืองไทย
เพราะแต่เดิมนั้น การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจมักจะเกิดในหมู่ผู้มีอำนาจเป็นด้านหลัก
การต่อสู้เช่นนี้ในอดีตจึงมีความรุนแรง เพราะไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลจะมีอาวุธแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ฝ่ายตรงข้ามรัฐก็มีอาวุธเช่นกัน และสามารถตอบโต้การล้อมปราบด้วยกำลังอาวุธ หรืออย่างน้อยพวกเขาเป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
แต่ส่วนหลักของพวกเราเป็นนิสิต-นักศึกษา กล่าวคือพวกเราเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็น “นักโทษ” เต็มตัวเมื่อก้าวเข้าบางขวาง
ฉะนั้น พวกเราจึงเป็นดัง “กบฏคนรุ่นใหม่” หรือบางทีอาจจะต้องเรียกว่าเป็น “กบฏนักศึกษา”
และที่ต้องเป็นกบฏ เพราะในข้อกล่าวหาที่ฝ่ายรัฐบาลได้จัดให้นั้น พวกเรามีข้อหากบฏทุกมาตรา อั้งยี่และซ่องโจรทุกมาตรา อีกทั้งข้อหาใช้อาวุธต่อสู้เจ้าพนักงานด้วย
ตลอดรวมถึงข้อหาเรื่อง “ล้มล้างการปกครอง”
และเมื่อผนวกเข้ากับการปลุกระดมต่อต้านนักศึกษาที่ดำเนินอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้ต้องส่งตัวพวกเราเข้าบางขวาง เพราะเรือนจำกลางบางขวางมีสถานะเป็น “คุกมหันตโทษ”
และมหันตคุกเช่นนี้คือ สัญญาณทางการเมืองว่าเราน่าจะต้องใช้ชีวิตที่นี่อีกนาน
ยิ่งมองนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่บางขวางแล้ว มองไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลฟาสซิสต์จะปล่อยให้เรากลับไปใช้ชีวิตปกติที่มีเสรีภาพได้อย่างไร
ชีวิตคนคุก
นักโทษการเมืองอาจจะมีข้อดีประการหนึ่งคือ พวกเราถูกแยกออกจากนักโทษปกติ ในด้านหนึ่ง ทางเรือนจำอาจจะกล่าวอ้างได้ว่า เพราะไม่ต้องการให้เราถูกทำร้ายจากนักโทษอื่นๆ
แต่อีกส่วนเป็นความกังวลของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างมากว่า พวกเราจะเข้ามาเปิดการปลุกระดมครั้งใหญ่ในบางขวาง จนอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบในเรือนจำได้
เพราะภาพลักษณ์ของผู้นำนักศึกษาถูกสร้างให้เป็น “นักปลุกระดม” ผลเช่นนี้ทำให้เราถูกแยกออกมามีพื้นที่ของตนเอง และเตรียมตัวเริ่ม “ชีวิตคนคุก”
บางขวางแยกการควบคุมออกเป็นส่วนๆ และเรียกว่า “แดน” ตามด้วยหมายเลขของพื้นที่ และแดนที่สำคัญคือ “แดน 1” ซึ่งเป็นแดนของนักโทษประหาร
อีกส่วนหนึ่งพ่วงเอาเรือนจำกลางจังหวัดนนทบุรีเข้ามาด้วย การเดินทางของพวกเราคือ ต้องเดินผ่านศูนย์กลางของบางขวาง หรือ “ศาลานกกระจอก” เลี้ยวขวาไปตามทาง เข้าเขตเรือนจำนนทบุรี และจึงเข้าสู่แดนพิเศษซึ่งเป็นนิวาสสถานของพวกเรา
หากคิดเล่นๆ ก็เหมือนมีบ้านของพวกเราเองในบางขวาง (55!)
หรืออาจเรียกว่าเป็นทั้งห้องเรียนและหอพักของ “มหาวิทยาลัยบางขวาง” สำหรับนักศึกษารุ่น 1 ของยุคหลัง 14 ตุลาฯ และมีคำนำหน้าว่า “ผู้ต้องขังชาย” (ผช.)
การเป็นนักโทษการเมืองทำให้พวกเราทั้งหกมีผู้คุมถึง 4 คน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงต้น พวกเขาออกจะมีอาการเกร็งๆ ที่จะมีความสัมพันธ์กับพวกเรา
ดังที่กล่าวแล้ว ผลของการปลุกระดมของฝ่ายขวาจัดมักจะทำให้ “เงา” ใหญ่กว่าตัวตนที่เป็นจริงของพวกเราเสมอ
แต่พี่ผู้คุมท่านหนึ่ง มีอดีตเป็นผู้คุมนักโทษการเมืองชุดสุดท้ายของยุคก่อน 14 ตุลาฯ คือ คดี ส.ส.อุทัย พิมพ์ใจชน และพวก (รวม 3 ส.ส.) ฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร ว่า การรัฐประหาร 2514 เป็นกบฏ… สุดท้ายแล้ว คดีนี้จบลงด้วยการที่จำเลยจับโจทก์ลงโทษ 10 ปีด้วยคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารในปี 2515 และทั้งสามได้รับการปล่อยตัวในปี 2517
ผู้คุมท่านนี้กล่าวเสมอว่า อย่าไปทำอะไรกับนักศึกษา และใครเลยจะรู้ว่าวันหนึ่งคนเหล่านี้จะเป็นอะไรในทางการเมือง เพราะเรื่องทั้งหมดเป็น “คดีการเมือง” ดังนั้น ใครเลยจะคิดว่าในปี 2519 อดีตนักโทษชายอุทัยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นตำแหน่งระดับสูงสุดของสายนิติบัญญัติ…
คำพูดของพี่ผู้คุมท่านนี้น่าคิดอย่างมาก เพราะต่อมาสุธรรมเมื่อเข้าสู่ถนนการเมือง ก็มีตำแหน่งในระดับสูงเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นนักโทษประเภทไหน ชีวิตในคุกไม่ได้แตกต่างกัน (อาจจะยกเว้นคนที่เรียกว่าพวก “ขาใหญ่” ในคุก) และเรื่องพื้นฐานของสภาวะไร้เสรีภาพคือ การต้องปรับตัว-ปรับใจที่จะต้องอยู่ให้ได้
ซึ่งด้านหนึ่ง พวกเราทำได้ง่ายกว่าพี่นักโทษบางส่วน เพราะเราไม่มีครอบครัวให้ต้องพะวง เช่น ปัญหา “เมียทิ้งลูกและหนี” ไปมีครอบครัวใหม่ (เป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตของนักโทษหลายคน)
พวกเราห่วงแต่พ่อ-แม่ เพราะกลัวว่าจะถูกคุกคาม แต่ดูพ่อ-แม่จะห่วงพวกเรามากกว่า
ผมจำได้ดีถึงพี่ผู้คุมที่เตือนว่า หกเดือนแรกในคุกเป็นเหมือน “นรกใหญ่” ในทางความรู้สึกของผู้ที่ถูกขัง เพราะจะรู้สึกทนไม่ได้กับสภาวะแวดล้อม และอาจตัดสินใจจบชีวิตตนเอง
ห้องสุขาและที่อาบน้ำจึงต้องเปิดโล่ง ไม่ใช่สถานที่ปิดลับส่วนตัว และจะต้องไม่ถูกใช้เป็นที่สุดท้ายของชีวิต จนต้องถือว่า ไม่มีมุมลับของชีวิตในคุก
คนที่เคยติดคุกมาแล้วกล่าวกับผมว่า ถ้าความตายเป็นจุดร้ายที่สุดของชีวิต ติดคุกก็เป็นอันดับถัดมา ดังนั้น ชีวิตในคุกจึงมีประการเดียวคือ จะต้องมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ เมื่อไหร่ที่ความมุ่งมั่นหมดลง เมื่อนั้นชีวิตในคุกจะหดหู่และสิ้นหวังเป็นอย่างยิ่ง พวกเราจึงพยายามที่คิดถึงวันข้างหน้า
และเรามักปลอบใจพวกเรากันเองว่า สักวันหนึ่งประชาชนจะมาเปิดประตูคุกให้อิสรภาพแก่เรา
หลังถอดตรวน
พวกเราทั้งหกถูกตีตรวนในวันแรกที่ถูกส่งตัวเข้าบางขวางเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และในวันที่ 23 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช ผู้บัญชาการเรือนจำมีคำสั่งให้ถอดตรวนออก…
12 วันที่มีชีวิตพร้อมกับสายโซ่ที่ข้อเท้า เป็นประสบการณ์แรกของชีวิตคุก ต้องเรียนรู้การเดินพร้อมตรวน การใส่กางเกงผ่านตรวน
และที่สำคัญคือ การนอนพร้อมตรวนที่จะพลิกตัวไม่ได้เลย
และไม่น่าเชื่อว่า พอเอาโซ่ออกจากข้อเท้าเราวันแรกนั้น ยืนแทบไม่อยู่ ขาสั่นไปหมด ต้องยืนและเดินสักพักใหญ่จึงจะเป็นปกติ
และตอนใส่ตรวนจะน่ากลัวมาก เพราะต้องเอาข้อเท้าเราใส่ไปในห่วงเหล็ก และพี่นักโทษจะเอาค้อนทุบห่วงเหล็กนั้นให้กระชับกับข้อเท้าเรา ตอนเอาออกก็ต้องเอาค้อนทุบออกเช่นกัน…
ผมยังรู้สึกขอบคุณพี่นักโทษที่สอนเราให้ใช้ชีวิตกับตรวน และที่พยายามจะหาโซ่ที่ไม่ใหญ่ให้
หลังจากนี้อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการถูกนำตัวพวกเราบางคนออกไปสอบเพิ่มเติมเป็นระยะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรงแยกศรีอยุธยา จนบางทีก็คิดว่าจะสอบอะไรกันนักหนา เพราะอย่างไรก็ถูกขังแล้ว
ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งในชีวิตคือ พอถึงมื้อกลางวัน พนักงานสอบสวนเอาอาหารที่เป็น “ข้าวขาว” มาให้รับประทาน ผมเริ่มรู้สึกว่าข้าวสวยอย่างนี้ไม่มีรส เพราะเริ่มคุ้นกับ “ข้าวแดง” ในคุก
พวกเราเริ่มรับประทาน “ข้าวคุก” ได้เหมือนนักโทษอื่น แต่ก็มีอาหารที่ญาติและเพื่อนเอามาเยี่ยม และพวกเราเองก็เริ่มจัดชีวิตกับระบบอาหาร เพื่อให้มีอาหารกินได้ในช่วงวันหยุด
ไม่แปลกเลยที่กำลังใจอย่างสำคัญจะมาจากการเยี่ยมของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งในภาษาคนคุกแล้ว เรียกว่า “เยี่ยมญาติ” ไม่ใช่ “ญาติเยี่ยม” ซึ่งเราได้เวลาในช่วงบ่ายๆ เพื่อไม่ให้เจอกับนักโทษปกติ โดยจะมีผู้คุมพาเราออกจากแดน
ชีวิตในเรือนจำจะต้องเดินแถวเรียงหนึ่งเสมอ
เราได้เวลา 30 นาทีในการคุย และเป็นเวลาที่เรามีความสุขอย่างมากที่จะได้พบกับพ่อ-แม่ พี่-น้อง และยังได้พบเพื่อนๆ ที่มาพร้อมกับข่าวจากโลกภายนอก
เราจึงเริ่มรับรู้ถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของคนหนุ่ม-สาว สงครามในชนบทไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว
สงครามปฏิวัติและการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่เคยเป็นภาษานามธรรม ได้กลายเป็นรูปธรรมสำหรับเพื่อนเราหลายคน จนบางครั้งอดกังวลถึงชีวิตของพวกเขาไม่ได้
เพราะน้องจากจุฬาฯ บางส่วนที่เดินทางเข้าสู่ชนบทนั้น เป็นนิสิตหญิงที่ผมต้องขอยกย่องถึงความกล้าหาญที่จะเดินทางเข้าสู่สนามรบ
แม้ตอนนั้นผมจะยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของสงครามอย่างจริงจัง แต่ก็ตระหนักเสมอถึงคำกล่าวเตือนใจของนายพลเชอร์แมน ที่เป็นผู้นำทัพฝ่ายเหนือในสงครามกลางเมืองอเมริกัน ว่า “สงครามคือนรก” (I tell you, war is hell!) แล้วพวกเราที่เข้าชนบททั้งชาย-หญิง ล้วนไม่เคยได้รับการฝึกทางยุทธวิธีของสงครามกองโจรในป่า ไม่ได้มีความรู้เรื่องอาวุธ และไม่เคยเรียนผ่านหลักสูตรการดำรงชีวิตในป่า
ผมจึงอดหวั่นใจกับชีวิตของหลายคนไม่ได้ เพราะรู้จักเป็นส่วนตัวมาก่อน แม้ตัวผมเองไม่เคยเข้าสู่ฐานที่มั่น แต่ก็รู้ดีว่าการใช้ชีวิตในป่าและการเผชิญกับการล้อมปราบของกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่ง่ายแบบที่เราดูในภาพยนตร์
แต่สิ่งนี้กำลังเป็นชีวิตจริงของพวกเราในสงคราม และหวั่นใจมากๆ ว่า สักวันหนึ่งอาจจะมีข่าวร้ายของน้องที่รู้จักสนิทถึงการเสียสละ เหมือนกับตอนที่เราชมภาพยนตร์ มีภาพแจ้งจากแนวหน้ามาถึงแนวหลังของการสูญเสีย…
สงครามโหดร้ายเสมอ เพราะสงครามเป็นเครื่องมือของความรุนแรงที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสงครามเช่นนี้อาจพาชีวิตของคนที่เรารู้จักสิ้นสลายไป
ชีวิตแรกของนิสิตจุฬาฯ
แล้ววันที่ผมหวั่นใจไว้ก็มาถึงจริงๆ มีเพื่อนรุ่นเดียวกันจากคณะนิเทศศาสตร์มาแจ้งข่าวว่า น้องนิสิตหญิงชื่อ “วิ” ที่เคยเข้ามาช่วยงานกิจกรรมที่ตึกจักรพงษ์เสียสละแล้วด้วยกับระเบิดในภาคใต้
สำหรับผมแล้ว เธอเป็น “วีรสตรีจุฬา” ในฐานที่มั่นคนแรก ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าวิยังมีชีวิตจนถึงวันนี้ เธอคงได้ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารที่ดีของสังคมไทย แต่เธอด่วนจากไปในวันที่ยังเยาว์วัยอย่างมาก… วิและเพื่อนอีกหลายคนที่เสียสละในฐานที่มั่นเป็นประจักษ์พยานของความมุ่งมั่นของคนหนุ่ม-สาวในสงครามปฏิวัติ
นอกจากนี้ มีน้องจากคณะมาแจ้งว่า นิสิตรัฐศาสตร์รุ่นน้องชื่อ “เปี๊ยก” ที่เป็นนักกีฬาถูกจับทุบตีและแขวนคอที่ต้นมะขาม สนามหลวงในวันที่ 6…
ไม่น่าเชื่อเลยว่าต้นมะขามที่อยู่ใจกลางเมืองหลวง จะถูกฝ่ายขวาจัดใช้เป็น “ศาลเตี้ย” เพื่อเอาชีวิตของเปี๊ยกไปอย่างที่ไม่มีทางต่อสู้ขัดขืนได้เลย ไม่ต่างจากชีวิตของกรรมการศูนย์นิสิตฯ จากธรรมศาสตร์ ชื่อ “จารุพงศ์” ที่ต้องเผชิญกับอำนาจของศาลเตี้ยที่สนามฟุตบอลอย่างไร้ความปรานี
ข่าวคราวต่างๆ จากเพื่อนที่มาเยี่ยมทำให้เรารับรู้มากขึ้นว่า สถานการณ์สงครามในชนบทได้ยกระดับสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2520
และสงครามขยายตัวจนกลายเป็นคำถามว่า ไทยจะเป็นโดมิโนต่อจากอินโดจีนหรือไม่!