E-DUANG : “เทคโนโลยี” ในสถานการณ์ “25 สิงหาคม”

สถานการณ์อันเนื่องแต่ “กรณี 25 สิงหาคม” สะท้อนปมในทางการ เมืองอันแหลมคมและร้อนแรงอย่างแน่นอน

เป็นการเมืองอันเกี่ยวกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กระนั้น เนื่องจากดำรงอยู่ในยุคแห่งศตวรรษที่ 21 การเมืองนี้จึงถูกครอบไว้ด้วยพัฒนาการในทาง”เทคโนโลยี อย่างมีนัยสำคัญ

ถามว่า “หลักฐาน” ในการจัดการกับ นายวัฒนา เมืองสุข ตาม “แผนกรกฎ 52” ได้มาจากไหน

คำตอบ คือ “เฟซบุ๊ค”

ถามว่า “หลักฐาน” อันสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือถึงกลาโหม มหาดไทย สตง.ได้มาจากไหน

คำตอบ คือ “เฟซบุ๊ค”

 

ตามความรับรู้แต่เดิมมองว่างานของสตง.ต้องสัมพันธ์กับเอกสาร ยึดถือกฎระเบียบการใช้เงินงบประมาณอย่างเป็นด้านหลัก

แต่ใน “กรณี 25 สิงหาคม” ไม่ใช่แล้ว

“มีคนโวยผ่านทางเฟซบุ๊คว่า มีการหลอกแม่เขาจะพาไปกราบพระบรมศพ ร.9 แต่สุดท้ายพาไปอยู่หน้าศาล”

นั่นคือ เบาะแสอันมากด้วย “น้ำหนัก”

ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังกระทรวง กลาโหม และกระทรวงมหาดไทย

นี่เป็นเช่นเดียวกับกรณีการจัดการกับ นายวัฒนา เมืองสุข

หลักฐานที่เจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลนำไปแจ้งความกระทั่งตกไปอยู่ในมือของกองบังคับการปราบปรามการทำผิดอาชญากรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี

คือ การโพสต์ข้อความลงใน “เฟซบุ๊ค”

 

นับจากนี้เป็นต้นไปบทบาทของกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคมจะต้องสูงขึ้น

บทบาทของศูนย์ไซเบอร์จะต้องเข้มข้น

บทบาทของกองบังคับการปราบปรามการทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะต้องเข้าไปร่วมอยู่ใน”แผนกรกฎ 52″อย่างขาดไม่ได้

เพราะการเคลื่อนไหวในสังคมสัมพันธ์กับพัฒนาการในทางเทคโนโลยีอย่างแนบแน่น

ทำให้ “โซเชียล มีเดีย” ยกระดับเป็น “พื้นที่” ใหม่ทางการเมือง