ขอแสดงความนับถือ (ฉบับประจำวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2564 ฉบับที่ 2152)

ขอแสดงความนับถือ

 

คงไม่ต้องไปร่วมวงซุบซิบนินทา

ว่าสุนทรพจน์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ไปประกาศกลางวงประชุมว่าด้วยการลดโลกร้อน COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ว่าไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

ได้ “ยืม” คำพูดของบัน คี มูน หรือบารัก โอบามา มาใช้แล้วอ้างอิงหรือไม่

 

แต่สิ่งที่ “ทวีศักดิ์ บุตรตัน” จี้ถามในคอลัมน์ “สิ่งแวดล้อม” มติชนสุดสัปดาห์นี้

นอกเหนือจากประโยคข้างต้นแล้ว

วจีต่อมาคือ “ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน”

น่าหาคำตอบมากกว่า ว่าเป็นสัญญาลมๆ แล้งๆ หรือไม่

นี่ไม่ใช่การกล่าวหา ด้วยอคติหรือไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์

หากแต่ในเวทีเดียวกันนั้นแหละ เราได้เห็นการกระทำสวนทางกับสิ่งที่พูดชัดเจน

เมื่อผู้นำทั่วโลก 133 ประเทศได้ร่วมลงนามในคำประกาศให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ภายใน 9 ปีข้างหน้า หรือปี 2573

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย ทั้งๆ ที่เป็นข้อตกลงใหญ่ของการประชุม COP 26

 

“ทวีศักดิ์ บุตรตัน” ชี้ว่า การไม่ลงนามในข้อตกลงหยุดโค่นป่าครั้งนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลกต่ำต้อยลง

ถูกมองเป็นประเทศล้าหลัง

ไม่ต่างกับลาว เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย

ขณะที่อินโดนีเซียเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับมีภาพลักษณ์ดีขึ้นมาทันทีที่เข้าร่วมเซ็นสัญญา

ทั้งๆ ที่ก่อนนี้อินโดนีเซียเจอนานาประเทศรุมประฌามว่าปล่อยให้บริษัทผลิตปาล์มทำลายสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์อย่างมโหฬาร

ปล่อยให้มีการจุดไฟเผาป่า ปล่อยควันพิษสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

กระทบถึงภาคใต้ของไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมกับรัฐบาล

มีข่าวในเวลาต่อมาว่า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มาแสดงจุดยืนว่าไทยเห็นด้วยในหลักการลงนามหยุดตัดไม้ภายใน 2573

เนื่องจากสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580

ขณะที่ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุถึงขั้นตอนการเข้าร่วมปฏิญญาในส่วนของประเทศไทย ว่าจะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน

จากนั้น สผ.จึงจะประสานแจ้งต่อสหราชอาณาจักร ในการเข้าร่วมปฏิญญาอย่างเป็นทางการต่อไป

 

สรุป ตามรายงานข่าวชิ้นนี้ ไทยอยู่ในขั้นตอน “จะร่วม”

แต่ยังไม่ร่วม

ซึ่งก็หวังว่าไทยจะไม่ตกขบวนรถไฟโลก ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ทั้งที่ผู้นำอุตส่าห์เดินทางไปโชว์ตัวและประกาศโครมๆ ไปทั่วโลกแล้ว

ยังไงๆ อย่าให้อาย BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ป 4 สาวเคป๊อประดับโลก ที่พวกเธอทำคลิปวิดีโอเนื่องในวาระการประชุม COP 26

เรียกร้องในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ให้บรรดาผู้นำโลกลงมือแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

ในคลิปนั้น ลิซ่าประกาศด้วยภาษาไทยชัดเจน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้น พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ร้ายแรงต่อธรรมชาติ สภาพอากาศทั่วโลก และอากาศที่หายใจ…การเปลี่ยนแปลงที่เรากลัวนั้น กำลังเริ่มที่จะส่งผลกระทบกับโลกของเราแล้ว”

 

น้องลิซ่า ในฐานะคนไทย พูดไทย กรุยทางไว้ให้แล้ว

ผู้นำไทยจึงอย่าให้มีพฤติกรรมเป็นดังชื่อเรื่องในคอลัมน์สิ่งแวดล้อมของทวีศักดิ์ บุตรตัน (หน้า 27)

“สัญญา ‘ประยุทธ์’ ลมๆ แล้งๆ”