โกฐจุฬาลัมพา (1)/สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

โกฐจุฬาลัมพา (1)

 

ข่าวโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสกำลังถูกกล่าวถึงทั้งไทยและในระดับโลก จึงยืนยันได้ว่าเราจะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้กันไปอีกนาน อาจและจะมีสายพันธุ์ย่อยๆ ตามมาอีก

การเรียนรู้ความรู้อย่างรอบด้านจึงเป็นประโยชน์โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีการพูดถึงมาระยะแล้ว

ข่าวการใช้โกฐจุฬาลัมพาในการรักษาโควิด-19 มีประเด็นที่ค่อนข้างร้อนแรง ฮือฮามาก

เนื่องจากในแอฟริกามีการประกาศว่าจะส่งเสริมให้มีการใช้โกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia annua L. เป็นยารักษาโควิด

แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังไม่ให้การรับรอง เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ และยังไม่มีการศึกษาขนาดการใช้ที่เหมาะสม

เหตุที่แอฟริกามีการปลูกโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia annua L. เป็นพื้นที่ใหญ่มากก็เพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาไข้มาลาเรีย แต่สำหรับโควิด-19 ในปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า โกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia annua L. สามารถต้านโควิด-19 ได้ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาลงลึกและต้องวิจัยถึงขนาดที่เหมาะสมในการใช้รักษาโควิดด้วย

ขอให้สังเกตว่า เขียนระบุเป็นโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia annua L. เนื่องจากโกฐจุฬาลัมพามีหลายชนิด โดยเฉพาะในตลาดเครื่องยาไทย แต่ละชนิดมีสรรพคุณแตกต่างกันออกไป

เรามาดูกัน

สมุนไพรที่อยู่ในสกุล Artemisia ซึ่งในเมืองไทยมีรายงานว่าพบ 9 ชนิด คือ

1) ชนิด Artemisia annua L. มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า แซเห่าหรือคิงเห่า มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sweet annie, Sweet sagewort, Sweet wormwood นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีการกระจายพันธุ์ในบัลแกเรีย อินเดีย ตุรกี เวียดนาม

2) ชนิด Artemisia dubia Wall. ex Besser มีการกระจายพันธุ์ในไซบีเรียจนถึงญี่ปุ่นและอินโดจีน รวมทั้งไทยด้วย

3) ชนิด Artemisia japonica Thunb. หรืออาจเรียกว่าโกฐจุฬาลัมพาญี่ปุ่น มีการกระจายพันธุ์ในอัฟกานิสถานจนถึงรัสเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทยด้วย

4) ชนิด Artemisia lactiflora Wall. ex DC. หรือในเมืองไทยเรียกว่า “จิงจูฉ่าย” ที่นิยมนำมาต้มกับเลือดหมู มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Duck foot vegetable, White mugwort มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อัสสัมจนถึงไต้หวัน และเวียดนาม ชวา เวลานี้ก็มีปลูกในไทย

5) ชนิด Artemisia pallens Wall. ex DC. หรือโกฐจุฬาลัมพาอินเดีย มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Davana มีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย

6) ชนิด Artemisia roxburghiana Besser ในเมืองไทยเรียกว่า “หญ้าขี้ทูด” มีการกระจายพันธุ์ในอัฟกานิสถานจนถึงตอนกลางของจีนและอินโดจีน

7) ชนิด Artemisia scoparia Waldst. & Kit. ในเมืองไทยเรียกว่า “เทียนเยาวพาณี” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Chinese wormwood, Red-stem wormwood มีการกระจายพันธุ์ในยูเรเชีย

8) ชนิด Artemisia vulgaris L. Mugwort ในเมืองไทยเรียกว่า พิษนาศน์หรือโกฐจุฬาลัมพาจีน มีการกระจายพันธุ์ในยูเรเชียจนถึงอินโดจีน ตอนเหนือของแอฟริกา

9) ชนิด Artemisia indica Willd. ในเมืองไทยเรียกว่า คอเหี้ย (จันทบุรี ภูเก็ต) ผักเหี่ย (ทั่วไป) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Common wormwood, Mugwort

มีการกระจายพันธุ์ในอนุทวีปอินเดียจนถึงญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์

ในท้องตลาดเครื่องยาไทยพบว่าโกฐจุฬาลัมพา เป็นเครื่องยาแห้งที่มาจากโกฐจุฬาลัมพาหลายชนิด เช่น Artemisia annua L., Artemisia argyi H.L?v. & Vaniot, Artemisia pallens Wall. ex DC., และ Artemisia vulgaris L. จึงยังต้องศึกษาแยกแยะชนิดให้ชัดขึ้น

สำหรับโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia annua L. คือสมุนไพรที่ใช้เป็นยาลดไข้มาอย่างยาวนาน Artemisia annua L. หรือในภาษาจีนเรียกว่าหวงฮวาเฮา ตำรายาแผนโบราณจีนเรียกส่วนตากแห้งว่า ชิงเฮา เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย เมื่อแก่หลุดร่วงไป ใบมีต่อมน้ำมัน ดอกช่อสีเหลืองหรือเหลืองเข้ม

พบในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ทางเหนือของแอฟริกาและทวีปเอเชีย

ในประเทศจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทางที่รกร้างหรือตามชายป่า

เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยพบว่าขึ้นได้ดี

โกฐจุฬาลัมพา เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทยหลายตำรับ ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” ซึ่งโกฐจุฬาลัมพาเป็นตัวยาใน โกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก

ตำรายาไทยยังใช้แก้หืด แก้ไอ ขับเหงื่อ แก้ไข้เจลียง (คือไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ดีซ่าน

ตำรายาจีนใช้แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆ ที่ไม่มีเหงื่อ และแก้ไข้จับสั่น แก้ริดสีดวงทวาร

โกฐจุฬาลัมพามีสารอาร์ติมิซินิน (ชิงเฮาซู่) ที่สามารถต้านเชื้อไข้จับสั่นได้ดี และอาร์ทีมิซินิน (Artemisinin) ยังเป็นสารที่อยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อใช้รักษามะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่ เต้านม และปากมดลูก

นอกจากนี้ โกฐจุฬาลัมพายังเป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาหลายตำรับในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เช่น ใน “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” สรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ในยาแก้ไข้ที่กำลังโด่งดัง ตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู

และในตำรับ “ยาเลือดงาม” ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

สําหรับงานวิจัยเกี่ยวกับการต้านโควิด-19 หรือที่ทางวิชาการเรียกว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-COV-2) พบว่าสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาชนิด (Artemisia annua L.) มีสารหลายชนิด เช่น กรดอาร์เทลลินิก (artellinic acid) อาร์เตียนูอิน บี (arteannuin B) อาร์ตีซูเนต (artesunate) และสารอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการขัดขวางการเข้าสู่เซลล์และการแบ่งตัวของไวรัส

ยังพบว่าสารสำคัญเหล่านี้ยังช่วยลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ด้วย

แสดงให้เห็นว่าโกฐจุฬาลัมพาจีน มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นยาต้านโควิด-19 ได้

รอผลการศึกษานี้ให้แจ่มชัดเพื่อประโยชน์ต่อชาวโลกต่อไปอีกสักพัก