ตุลารำลึก (7) ลูกโป่งที่ลอยหายไปในอากาศ!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (7)

ลูกโป่งที่ลอยหายไปในอากาศ!

 

“ผมถูกหักหลัง ผมไม่ได้เข้ามามอบตัว แต่มาเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจระงับการปราบปรามประชาชนของฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง”

สุธรรม แสงประทุม

เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2519)

 

ความสำเร็จในการติดต่อเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นความหวังเดียวสำหรับพวกเราในรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะเข้ามาควบคุมการใช้ความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ การเดินทางไปบ้านนายกฯ ที่เอกมัย จึงเป็นการมองโลกในแง่ดีอย่างมาก และหากได้พูดคุยกับทางผู้นำรัฐบาลแล้ว สถานการณ์การโจมตีดังกล่าวน่าจะคลายตัวได้ อันจะเป็นโอกาสให้สามารถพาผู้ชุมนุมที่เหลือออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

แต่ความหวังเช่นนั้นล่องลอยหายไปทันที เมื่อพวกเราต้องออกจากบ้านนายกฯ โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมนายกฯ จึงไม่อนุญาตให้พวกเราพบ กลับได้รับการแจ้งว่าให้เราเดินทางต่อไปกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเป็นการเดินทางที่ไม่รู้เลยว่าจุดหมายปลายทางคือที่ใด?

นอกจากไม่รู้จุดหมายแล้ว เราไม่รู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ นับจากพวกเรา 6 คนก้าวเท้าออกทางด้านประตูท่าพระจันทร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมแล้ว?

สำหรับผมแล้ว มีความรู้สึกที่เหมือน “หัวตื้อมึน” ไปหมด เพราะจะนึกอะไรในขณะนั้นก็นึกไม่ออก และไม่รู้เลยว่านับจากนี้อะไรจะเกิดขึ้น แล้วการเจรจาที่เป็นดัง “ความหวังสุดท้าย” กับผู้นำรัฐบาลก็ไม่เกิดขึ้น การเดินทางออกจากบ้านเอกมัยจึงเป็นเสมือนกับ “ลูกโป่งที่หลุดลอย” ออกไปในอากาศ แล้วเราเด็กเกินไปกว่าจะเอื้อมมือคว้าเอาลูกโป่งนั้นกลับมา…

ลูกโป่งลอยคว้างออกไปแล้ว ไม่หวนกลับมา!

 

รัฐบาลหมดสภาพไปแล้ว!

รถตำรวจพาพวกเราทั้ง 6 คนออกจากเอกมัยไปตามเส้นทางปกติ ไม่ได้มีการเปิดสัญญาณไซเรน แต่ความผิดสังเกตคือ มีรถตำรวจพร้อมกำลังส่วนหนึ่งประกบท้ายรถเรา รถพาเรามาถึงกองปราบฯ สามยอดในช่วงราว 9 โมงเศษ และพบว่ามีอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นคือ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และนายตำรวจส่วนหนึ่งรออยู่

เมื่อรถจอดและพวกเราลงจากรถ ได้ยินเสียงท่านอธิบดีออกคำสั่งสั้นๆ แต่ชัดเจนมาก ผมจำคำสั่งดังกล่าวจนวันนี้ คือ “จับ” แล้วตำรวจส่วนหนึ่งก็กรูกันเข้าจับพวกเรา และนำตัวเข้าห้องควบคุม (ห้องขัง) ของกองปราบฯ โดยไม่มีการตั้งข้อหาในเบื้องต้น และชัดเจนว่า การเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลที่เราหวังนั้น น่าจะเป็นดัง “ลูกโป่ง” ที่ล่องลอยไปแล้วจริงๆ และยังพาเอาอิสรภาพของพวกเราไปด้วย

การเดินทางไปบ้านนายกฯ จบลงด้วยการถูกจับที่กองปราบฯ

สุธรรมมักจะเอามาพูดล้อเล่นในหมู่พวกเราเสมอว่า เป็นการเดินทางไปบ้านนายกฯ ที่อยู่ไกลแสนไกล คือเดินทางไปสองปีก็ยังไม่ถึง เพราะหลังจาก “คดี 6 ตุลาฯ” สิ้นสุดลง เราก็ไม่เคยมีโอกาสได้พบกับอาจารย์เสนีย์อีกเลย

เสียดายว่าอาจารย์เสนีย์ไม่ได้บันทึกอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบว่า เกิดอะไรขึ้นในทางการเมืองจากคืนวันที่ 5 ตุลาคม ต่อเนื่องเข้าเช้าวันที่ 6 ซึ่งถ้ามองย้อนหลังกลับไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นความผันผวนที่มากที่สุดช่วงหนึ่งในการเมืองไทย เพราะมีข่าวลือว่า เช้าวันนั้นที่อาจารย์เสนีย์ไม่สามารถพบกับผู้แทนของศูนย์นิสิตฯ ได้นั้น น่าจะเป็นเพราะอาจารย์ถูกควบคุมตัวในบ้านแล้วหรือไม่ ซึ่งผมไม่คิดว่าเป็นเพราะกระแสขวาจัดมาแรง จนอาจารย์ไม่ยอมพบกับพวกเรา แต่น่าจะมีบางอย่างเกิดขึ้นกับรัฐบาล

ในด้านหนึ่ง อดคิดไม่ได้ว่าจากดึกของคืนวันที่ 5 ต่อเข้าวันที่ 6 นั้น การต่อสู้เพื่อที่จะเป็นฝ่ายหลักของการเป็นผู้กุมอำนาจในการเมืองไทย น่าจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะกลุ่มการเมืองบางส่วนมีความพยายามในการขยับกำลัง

ช่วงนี้จึงเป็นการ “ชิงไหวชิงพริบ” กันอย่างมาก ก่อนจะมีฝ่ายหนึ่งชิงธงนำด้วยการประกาศการรัฐประหารในค่ำคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ดังนั้น บางทีสถานะของรัฐบาลเสนีย์อาจจะหมดสภาพไปตั้งแต่ดึกวันที่ 5 แล้ว เพราะปีกขวาจัดได้เข้ามาเป็นผู้ก่อเหตุ ขณะเดียวกันก็ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างสำหรับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว จึงมีคำถามที่น่าสนใจอย่างมากว่า สถานะของตัวอาจารย์เสนีย์เองในเช้าวันที่ 6 ยังอยู่เป็นปกติหรือไม่ หรืออาจารย์อาจถูกควบคุมตัวแบบอยู่ในบ้าน (house arrest) แล้วหรือไม่ เพราะบทบาทของความเป็นรัฐบาลได้หายไปกับวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น และไม่ปรากฏท่าทีของผู้นำรัฐบาล หรือถ้อยแถลงใดๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

จนอาจอดคิดไม่ได้ว่าสถานะของรัฐบาลในขณะนั้นคืออะไร หรือว่าในความเป็นจริง รัฐบาลถูกกลุ่มปีกขวาในคณะรัฐมนตรีที่ร่วมมือกับกลุ่มขวาจัดยึดอำนาจไปแล้วในทางพฤตินัย

หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์แล้ว จะเห็นชัดว่ารัฐบาลของอาจารย์เสนีย์มีปัญหาเสถียรภาพอย่างมาก โดยเฉพาะผลจากการเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีปีกขวาจัดในพรรคประชาธิปัตย์ที่สร้างแรงกดดันโดยตรงต่อตัวนายกฯ จนในตอนกลางเดือนกันยายน 2519 นั้น อาจารย์เสนีย์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ผลักดันให้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายนนั้น และประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลเดิม ยกเว้นสองรัฐมนตรีคือ สมัคร สุนทรเวช และสมบุญ ศิริธร ซึ่งเป็นกำลังหลักของฝ่ายขวาจัดใน ครม.

ดังนั้น สื่อฝ่ายขวาจัดอย่างสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์นำสองรัฐมนตรีกลับเข้ามา ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้จัดการปลดรัฐมนตรีที่ถูกมองว่าเป็นปีกซ้ายในพรรคออก พร้อมกับจัดการนิสิต-นักศึกษา เพราะมองว่าคนเหล่านี้เป็น “คอมมิวนิสต์”…

กระแสขวาจัดในคืนวันที่ 5 ถึงวันที่ 6 รุนแรงอย่างมาก

 

จากบ้านนายกฯ สู่ห้องขัง!

อย่างไรก็ตาม คงต้องขอย้ำในกรณีนี้ว่า พวกเราไม่ได้มามอบตัว ผมยังยืนยันเสมอว่า กรรมการศูนย์นิสิตฯ ติดต่อเพื่อขอพบกับผู้นำรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการขอให้รัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเดินทางไปบ้านนายกฯ จึงไม่ใช่การไปมอบตัว อย่างที่สื่อขวาจัดหรือข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาหลังจากนั้น มักจะกล่าวว่ากรรมการศูนย์นิสิตฯ หนีเอาตัวรอดด้วยการเข้ามอบตัวกับรัฐบาล!

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้จับกุม เป็นอันว่าจากนี้คือ การนำตัวพวกเราทั้ง 6 คนเข้าห้องขัง… ห้องควบคุมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างพอสมควร และมีเตียงไม้ติดผนังยาวตลอดแนวห้อง พร้อมกับมีไฟสลัวหนึ่งดวง ในบางช่วงของอารมณ์แบบ “โลกสวย” เราคิดว่า การจับกุมพวกเราคือ การลดกระแสขวาจัด แล้วเดี๋ยวรัฐบาลก็คงสั่งปล่อยตัวพวกเรา เพราะไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอะไรในเบื้องต้น

พวกเราเริ่มคุยกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะมองอะไรข้างหน้าไม่ออกเลยว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร

และที่สำคัญในขณะนั้น เราแทบไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วต่อมาสักพักใหญ่ พวกเราจึงถูกตั้งข้อกล่าวหา และบันทึกการจับกุมระบุว่า การจับกุมพวกเราเกิดขึ้นที่ประตูท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่ในความเป็นจริง เราถูกจับที่กองปราบฯ

เมื่อรถตำรวจพาเรามา พอตกบ่าย จึงมีการเบิกตัวพวกเราออกไปบันทึกปากคำในฐานะ “ผู้ต้องหา” และเป็นอีกครั้งที่เราอดกังวลไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์จะสามารถกลับบ้านได้ปลอดภัยหรือไม่

การสอบสวนก็เป็นไปตามกระแสที่ฝ่ายขวาจัดปลุกระดมมาตลอด เจ้าหน้าที่ตำรวจมองด้วยความเชื่อว่า พวกเราเป็นคอมมิวนิสต์

ดังนั้น ระหว่างเอาตัวพวกเราออกจากห้องขังไปห้องสอบสวน จะมีเสียงก่นด่า เสียงข่มขู่ จนเป็นเหมือนเราเดินผ่าน “สามแยกปากหมา” ที่กองปราบฯ

และพวกเราบางคนถูก “ทุบ” โดยเฉพาะในกรณีของอภินันท์ที่ตกเป็นเป้าหมายความเกลียดชังของฝ่ายขวา จึงทำให้เขาถูกกระทำมากกว่าคนอื่น

ในช่วงค่ำของวันที่ 6 พวกเราเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์จากภายนอกด้วยเสียงของวิทยุที่ลอดเข้ามา เป็นเสียงของเพลงปลุกใจ ซึ่งโดยประสบการณ์แล้ว ตอบได้ทันทีว่าสิ่งที่ตามมาหลังการเปิดเพลงเช่นนี้คือ คำประกาศยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร

ซึ่งเราก็คาดคะเนไว้แล้ว ในที่สุดรัฐประหารคงจะเกิดขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นเครื่องมือของการยุติบทบาทของขบวนนิสิต-นักศึกษาเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือของการจัดการความขัดแย้งในหมู่ผู้มีอำนาจ และยังเป็นเครื่องมือของการได้อำนาจมาอย่างรวดเร็วและอย่างสมบูรณ์ด้วย…

แต่ในที่สุด พวกเราหลับลงด้วยความอ่อนเพลียและความเครียด

เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว โอกาสที่รัฐบาลทหารจะปล่อยตัวพวกเราคงเป็นไปได้ยาก แม้เราจะไม่รู้หรอกว่า เป็นรัฐประหารของฝ่ายขวาในปีกของใคร แต่อย่างไรก็คงเป็นรัฐประหารของฝ่ายขวาที่ไม่มีทางชอบพวกเราที่กรรมการศูนย์นิสิตฯ อย่างแน่นอน

อีกทั้งความเกลียดชังที่ถูกปลุกขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และนักศึกษาถูกมองด้วย “แว่นตาขวาจัด” ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขึ้นอยู่กับพวกเขาจะด่าว่า เราเป็น “สมุนจีน” หรือ “สมุนญวน” เท่านั้นเอง ชุดความคิดแบบโลกสวยและปลอบใจตัวเองว่า เขาจับพวกเราไว้สัก 5 วัน หรือ 7 วัน เพื่อลดกระแสขวาจัด แล้วจะปล่อยพวกเรา กลายเป็นความเลื่อนลอยในทันที นับจากนี้คือ การเตรียมตัว-เตรียมใจที่จะติดคุก

ในเวลาต่อมา พวกเราถูกเบิกตัวออกไปทีละคนเพื่อทำทะเบียนประวัติอาชญากรรม ด้วยการถ่ายรูปและพิมพ์ลายนิ้วมือ อันเป็นสัญญาณถึงการเตรียมเอาพวกเราเข้าสู่กระบวนการคุมขังอย่างแท้จริง อันเป็นอีกครั้งที่พวกเราต้องเผชิญกับการด่า การขู่ และการคุกคาม ด้วยความเชื่อว่าพวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ และยังเชื่อว่าพวกเราได้รับการฝึกทางทหารมาแล้ว… พวกเขาเชื่อเช่นนั้นจริงๆ อันเป็นผลของการปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้เกิดทัศนะแบบฝังใจว่า คนหนุ่ม-สาวในยุคนั้น รับแผนคอมมิวนิสต์มาเคลื่อนไหว และการกวาดล้างขบวนนิสิต-นักศึกษาจะยังทำให้ “โดมิโนตัวที่สี่” ไม่ล้มที่กรุงเทพฯ

 

เพิ่มข้อหา!

ความหดหู่เป็นเรื่องปกติในชีวิตของผู้ที่ถูกจับกุม พ่อ-แม่และญาติๆ เริ่มได้รับอนุญาตให้เยี่ยมพวกเรา แต่ก็เห็นชัดว่าไม่มีใครอยากเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่เราเริ่มค่อยๆ รับรู้ว่า เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดที่ธรรมศาสตร์ และมีเพื่อนเราหลายคนเสียชีวิตจากปรากฏการณ์ “ขวาทมิฬ”

ต่อมาจึงมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงข้อหาเดียวเรื่องการหมิ่นองค์รัชทายาท ของใหม่มีจำนวนถึง 9 ข้อหา รวมทั้งหมด 10 ข้อหา

ในด้านหนึ่ง เราอดหัวเราะกับ 10 ข้อหาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะหากคิดถึงโทษของแต่ละข้อหาแล้ว เราจะถูกลงโทษทัณฑ์เป็นเวลานานเพียงใด

แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า จากนี้ไปเราคงถูก “จองจำ” เป็นระยะยาวนานแน่

ความหวังที่จะกลับไปสู่โลกของเสรีภาพกลายเป็นเพียง “ลูกโป่ง” ที่ลอยเคว้งคว้างหายไปในอากาศอีกครั้ง!