เสียงจาก #ม็อบ31ตุลา ราษฎรประสงค์ ยกเลิก112 ‘รุ้ง’ กรีดแขน ประท้วง กลุ่มคนเดือนตุลา เคลื่อนไหว/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เสียงจาก #ม็อบ31ตุลา

ราษฎรประสงค์ ยกเลิก112

‘รุ้ง’ กรีดแขน ประท้วง

กลุ่มคนเดือนตุลา เคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรดำเนินต่ออย่างมั่นคง

ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้องเดิม 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพต้องลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 3.ปฏิรูปสถาบัน

เพิ่มเติมเรียกร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา อันหมายถึงการปล่อยตัวแกนนำแนวร่วมผู้ชุมนุม และนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองที่โดนจับกุมคุมขัง ทวงคืนอิสรภาพตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดี

รวมถึงแก้ไข/ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

ในการชุมนุมใหญ่ “ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112” วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ แยกราชประสงค์

แกนนำราษฎรขึ้นเวทีปราศรัยมุ่งไปที่ประเด็นการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 ซึ่งถูกฝ่ายอำนาจใช้เป็นเครื่องมือกำราบฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง และจองจำทางความคิดกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านรัฐบาล

แกนนำราษฎรส่งสัญญาณถึงทุกพรรคการเมืองให้ออกมาแสดงจุดยืนขานรับข้อเรียกร้องดังกล่าว

กิจกรรมครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มเข้าร่วม ประกอบด้วย กลุ่มราษฎร กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่มสลิ่มกลับใจ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี สหภาพคนทำงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ We Volunteer

ทั้งหมดเคลื่อนไหวหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งสัญญาณถึงทุกฝ่ายและทุกพรรคการเมืองให้ฟังเสียงเรียกร้องนี้

จึงน่าจับตาถึงบทบาทการกลับมาของกลุ่มราษฎร ต่อประเด็นกฎหมายมาตรา 112

 

ในการชุมนุม #ม็อบ31ตุลา

นอกจากการตั้งโต๊ะลงชื่อ “ปล่อยเพื่อนเรา” เรียกร้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมและนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ยังมีการเปิดให้ลงชื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อรัฐสภาอีกด้วย

บนเวทีแยกราชประสงค์ คนรุ่นใหม่จากกลุ่มต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาปราศรัยแสดงออกถึงจุดยืนต่อกฎหมายมาตรา 112

ขณะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แนวร่วมกลุ่มราษฎร และจำเลยคดี 112 ขึ้นกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนักกิจกรรมคนอื่นๆ

พร้อมประกาศเดินหน้าล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ให้ครบ 1 ล้านชื่อ

นายสมยศได้อ่านแถลงการณ์ยกเลิกกฎหมาย 112 เขียนโดย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากในเรือนจำ

นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แนวร่วมกลุ่มราษฎรและแกนนำพรรคก้าวล่วง ขึ้นปราศรัยเปรียบเทียบสถานการณ์การใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทย กับซีรีส์เรื่อง Squid Game

พร้อมเรียกร้องไปยังทุกพรรคการเมืองให้เข้ามามีส่วนดำเนินการยกเลิกมาตรา 112 ร่วมกับประชาชนเพื่อผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่รัฐสภาและมีผลเป็นรูปธรรม

โดยขอให้พรรคการเมืองชัดเจนกับประชาชน อย่ากลัวถูกยุบพรรค เพราะหากพรรคมีความชัดเจนไม่ว่าจะถูกยุบอีกกี่ครั้ง ประชาชนก็จะเลือกอยู่ดี

นายอรรถพลอ่านข้อความของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำเช่นกัน เนื้อหาเรียกร้องให้ทุกคนออกมาร่วมต่อสู้กับกฎหมายนี้

แต่ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้มาร่วมชุมนุมคือ “รุ้ง” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ปรากฏตัวขึ้นปราศรัยบนเวที เชิญแกนนำร่วมชุมนุมอ่านแถลงการณ์ราษฎร ซึ่งประกอบด้วยข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อ คือ 1.ให้สิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน 2.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112

จากนั้น “รุ้ง” ได้กรีดแขนตัวเองเป็นรูปตัวเลข “112” และรอยขีดฆ่า

อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเป็นการแสดงอารยะขัดขืนต่อกฎหมายนี้

 

การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรดำเนินต่อเนื่องหลังจาก #ม็อบ31ตุลา

เมื่อรุ้ง ปนัสยา พร้อม น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน

จุดประสงค์เพื่อนำรายชื่อประชาชน 28,426 รายชื่อส่งมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อเรียกร้องให้หยุดดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและขอให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำทุกคน

รุ้ง ปนัสยา เผยถึงการเคลื่อนไหวต่อเนื่องหลังการล่ารายชื่อว่า ขอเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขัง ถ้าเราจะสู้กันทางความคิดก็ออกมาสู้กันข้างนอกดีกว่า ขออย่าจับใครไปอีกเลย

ฝากรัฐบาลให้คิดดีๆ เพราะการทำแบบนี้คิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าพวกเขากลัวความจริง กลัวความผิดของตัวเอง กลัวความน่าละอายของตัวเอง จนต้องจับเยาวชนและผู้ออกมาเรียกร้อง

การต่อสู้ทางการเมืองเราสู้กันด้วยความคิดและการแสดงออก การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมไม่มีอะไรดี มีแต่ความอัปยศต่อคนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่ามีแนวร่วมกลุ่มราษฎรถูกศาลตัดสินจำคุกอีก 2 ราย

น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำกิจกรรมยื่นจดหมายต่อศาล

โดยมีพฤติกรรมละเมิดอำนาจศาล ชุมนุมก่อม็อบตะโกนใส่ร้ายการทำหน้าที่ของตุลาการและโปรยกระดาษหน้าบันไดศาล

จึงมีคำสั่งว่า น.ส.เบนจามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15, 180 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน

อีกราย นายณัฐชนน ไพโรจน์ ศาลอาญามีคำสั่งคดีละเมิดอำนาจเช่นกันจากเหตุการณ์เดียวกับ น.ส.เบนจา

โดยมีพฤติกรรมร่วมกันกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจเป็นไปตามความต้องการ ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระการพิจารณาพิพากษา

มีคำสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน

 

อีกความเคลื่อนไหวน่าจับตาเป็นของคนเดือนตุลา

กลุ่ม OctDem ร่วมกับ 18 อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา และอดีต 32 คนผู้ถูกติดตามตัวเนื่องจากหลบหนีในคดี 6 ตุลา รวมถึงอดีตกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมนักคิด นักเขียน นักวิชาการ ปัญญาชน ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519

ประกอบด้วย นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์, นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี, นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายพนัส ทัศนียานนท์, นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นายธเนศวร์ เจริญเมือง, นายอนุช อาภาภิรม, นพ.เหวง โตจิราการ, นายสุธรรม แสงประทุม, นายสุรชาติ บำรุงสุข

นายอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ, นายอภินันท์ บัวหภักดี, นายธงชัย วินิจจะกูล, นายวิรัตน์ ศักดิ์จิรภาพงษ์, น.ส.นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์, นายบุญเจริญ ศิริเนาวกุล

นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, นายสวาย อุดมเจริญชัยกิจ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายสิตา การย์เกรียงไกร, น.ส.ประพิมพรรณ สุดชูเกียรติ, นายเข้ม (ชีรชัย) มฤคพิทักษ์, นายสุเทพ สุริยะมงคล, น.ส.อรวรรณ นารากูล, นายพลากร จิรโสภณ

นายยิ่งเกียรติ เหล่าศรีศักดากุล, น.ส.วาลิกา วิฑูรย์เธียร, นายพรสรวง โพธิ์ทอง, นายมนัส จินตนะดิลกกุล, นายชเล วุทธานันท์, นายรังสรรค์ จันต๊ะ, นายวุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ และนายสว่าง วงศ์วิลาศ

ประกาศขอเชิญเพื่อนเดือนตุลา ร่วมเป็นกำลังใจ พบปะมิตรสหาย ร่วมเป็นนายประกันให้กับเยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ณ ศาลอาญา รัชดาภิเษก

 

วันที่ 3 พฤศจิกายน ศาลอาญานัดไต่สวนถอนประกันตัว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ รวมถึงนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ซึ่ง 2 คนหลังถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว

ทั้ง 4 คนถูกพิจารณาไต่สวนถอนประกันตัวในคดีจัดกิจกรรม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ท้องสนามหลวง ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563

ซึ่งถูกแจ้งข้อหาความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าฯ

อย่างไรก็ตาม วันดังกล่าว ศาลพิจารณาไต่สวนได้แค่ในรายของนายอานนท์ นำภา คนเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เสร็จสิ้น ต้องเลื่อนไปพิจารณาไต่สวนต่อวันรุ่งขึ้น 4 พฤศจิกายน

ส่วนอีก 3 คนที่เหลือ “ไมค์-รุ้ง-แอมมี่” ศาลสั่งเลื่อนพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 18 พฤศจิกายน

ซึ่งยากจะคาดเดาผลพิจารณาไต่สวนว่าจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะรุ้งกับแอมมี่ จะได้รับอิสรภาพต่อไปได้อีกยาวนานเท่าใด

หรือต้องสิ้นสุดอิสรภาพ เดินเข้าสู่เรือนจำคุมขังเช่นเดียวกับแกนนำและแนวร่วมราษฎร ไม่ว่าเพนกวิน ไผ่ เบนจา และเพื่อนๆ อีกหลายคน รวมถึงทนายอานนท์ และไมค์ ซึ่งถูกจองจำอยู่แล้วเช่นกัน

จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร และแนวร่วมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับแรงหนุนเสริมจากนักคิด นักเขียน นักวิชาการ ปัญญาชนคนเดือนตุลา

ล่าสุดกลุ่มราษฎรยังส่งสัญญาณกดดันไปยังพรรคการเมือง จนต้องออกมาประกาศจุดยืนในทางสนับสนุน

ทั้งหมดคือเครื่องบ่งชี้การแก้ไขมาตรา 112 เริ่มเป็นประเด็นแหลมคมมากขึ้นทุกที