วางบิล/ยุค ‘ขวาพิฆาตซ้าย’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ยุค ‘ขวาพิฆาตซ้าย’

หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังสถานการณ์ “14 ตุลา 16” ผ่านมาได้เพียงปีเดียว ระหว่างปี 2517-ปี 2519 การนำเสนอข่าวและความคิดเห็นทางการเมืองเข้มข้น วิถีการเมืองและนักการเมืองมีวี่แววแบ่งออกเป็นสองพวกสามฝ่าย
พวกหนึ่งคือกลุ่มการเมืองใหม่ พยายามแสดงความคิดเห็นผลักดันให้วิถีการเมืองดำเนินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง
ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายอนุรักษนิยมเดิมที่มีความพยายามหมุนตามวิถีการเมืองที่มีแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมจ๋าที่เรียกกันว่า “ฝ่ายขวา”
เมื่อมี “ฝ่ายซ้าย” คือฝ่ายสังคมนิยม มักจะได้รับการเรียกขานว่า สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ขณะนั้นการเป็นคอมมิวนิสต์ผิดกฎหมาย มีพระราชบัญญัติปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์คุ้มกันที่สามารถให้ฝ่ายราชการ หรือฝ่ายมีอำนาจทางการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้บังคับได้

หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติเป็นหนังสือพิมพ์ที่พยายามยืนข้างเสรีประชาธิปไตย ส่งเสริมให้ผู้อ่านเข้าใจถึงระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพียงแต่การนำเสนอข่าวของทั้งสองฝ่ายทำให้ผู้อ่านหรือนักการเมืองบางกลุ่มบางคนเห็นว่าเป็นหนังสือที่ฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่นำเสนอข่าวการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงาน และข่าวการไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นหลัก รวมทั้งความเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาด้วย
นักเขียนส่วนใหญ่เป็นผู้มีแนวทางความคิดเสรีนิยมที่นำเสนอความคิดเห็นในแนวทางต่อต้านเผด็จการซึ่งเป็นขณะเดียวกันเมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคกิจสังคมส่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคลงสมัครในเขตดุสิตที่เคยได้รับเลือกตั้งเมื่อครั้งก่อน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม และมีโอกาสครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเขตกรุงเทพมหานคร ส่ง นายสมัคร สุนทรเวช ประกบในเขตทหาร

ผลการเลือกตั้ง นายสมัครได้รับการเลือกตั้งในเขตนี้ ทำให้หัวหน้าพรรคกิจสังคม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สอบตก
พรรคประชาธิปัตย์จึงรวมตัวกับพรรคชาติไทย และอีกบางพรรคจัดตั้งรัฐบาล
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะจากคอลัมนิสต์ “ปากกาคม” หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ นายสมัคร สุนทรเวช กับ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยมร่วมเป็นรัฐบาลเดียวกัน ทำให้เกิดนโยบายหรือแนวทาง “ขวาพิฆาตซ้าย” ขึ้น

หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ด้วยเชื่อกันว่า นิสิตนักศึกษาโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้รับเงินอุดหนุนและการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงมีการปลุกระดมเกิดขึ้นจากบางฝ่าย เช่น ชมรมวิทยุเสรี มี พันเอกอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้นำวิทยุเสียงยานเกราะ มีผู้สนับสนุนคือ อาจารย์อุทมิศ นาคสวัสดิ์ และนักเขียนหญิงซึ่งมีชื่อเสียงอีกบางคน อาทิ “ทมยันตี”
ขณะนั้น มีการนำคำขวัญ หรือสโลแกนปลุกใจคนไทยว่า “อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก อย่าแยกแผ่นดิน” ขึ้นเป็นอุทาหรณ์ รวมถึงมีการแต่งเพลงในลักษณะปลุกใจให้รักชาติ มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า
“เปรี้ยงๆ ดั่งเสียงฟ้าฟาด โครมๆ วินาศพังสลาย เปรี้ยงๆ แผ่นดินกระดอนมลาย”
ประกอบกับห้วงปี 2517 ฝ่ายคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดราชอาณาจักรลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และที่สุดเวียดนามสามารถขับไล่ทหารอเมริกันออกไปได้ และเวียดนามเข้าช่วยปลดปล่อยลาว กัมพูชา ออกจากการยึดครองของอเมริกันได้ เป็นเหตุให้ประชาชนไทยหวั่นว่าจะเกิด “โดมิโน” เข้ามาล้มประเทศไทยในอันดับต่อไป
ระหว่างนั้น จึงมีข่าวคนไทยอพยพออกไปนอกประเทศ เช่นเดียวกับชาวลาวระดับสูงอพยพข้ามมาฝั่งไทย มีบรรดาคนลาวหลบหนีข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยเช่นเดียวกับชาวเขมรอพยพข้ามพรมแดมมาอาศัยค่ายอพยพ แม้แต่ชาวเวียดนามยังอาศัยเรือเป็นเรือมนุษย์ล่องลอยมาตามทะเลขึ้นฝั่งไทยในหลายจังหวัดชายทะเล

ช่วงสงครามเวียดนามที่ทหารอเมริกันพยายามเอาชนะเวียดกงในเวียดนามใต้ให้ได้ รวมไปถึงข่าวการสู้รบชายแดนไทยกัมพูชา ชายแดนไทยลาว นักข่าวชายแดนส่วนหนึ่งเป็นนักข่าวท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเดินทางจากส่วนกลางไปร่วมทำข่าว บางคนไปกินนอนในจังหวัดชายแดนช่วงนั้น
น่าจะนับเป็นครั้งแรกที่นักข่าวไทยมีโอกาสทำข่าวสงคราม เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเขาด้วย ขณะนั้นมานั่งเป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งและบรรณาธิการข่าวร่วมกับเพื่อนอีกหลายคน เช่น สำเริง คำพะอุ ไพบูลย์ วงษ์เทศ ถวัลย์ วงศ์สุภาพ ถ้าจำไม่ผิด มี ไพสันต์ พรหมน้อย ปฏิบัติหน้าที่อีกคนหนึ่ง
นอกนั้นยังมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าข่าวในประเทศอีกบางคน เช่น ถวิล มนัสน้อม พงษ์ศักดิ์ บุญชื่น
หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ หรือเรียกกันอย่างติดปากว่า “ประชาชาติ” เป็นหนังสือพิมพ์ที่เรียก “hard-news” หรือข่าวคุณภาพ จึงมีทั้งโต๊ะข่าวในประเทศ โต๊ะข่าวต่างประเทศ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ โต๊ะข่าวกีฬา และโต๊ะข่าวบันเทิง เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
แต่ประชาชาติมักให้ความสนใจข่าวเหล่านั้นในแง่ของการเมืองเป็นหลัก รวมทั้งข่าวเศรษฐกิจมี รัฐกร อัศดรธีรยุทธ ดูแล
หนังสือพิมพ์ประชาชาติขณะนั้นจัดพิมพ์เป็นสองกรอบ คือกรอบเช้าปิดข่าวช่วงดึก หลังสามสี่ทุ่มไปแล้ว และกรอบบ่ายปิดข่าวก่อนเที่ยง
ช่วงเที่ยงวันนั้น เพิ่งจะปิดข่าวกรอบบ่าย แสงไทย เค้าภูไทย หัวหน้าข่าวกีฬา เดินผ่านเครื่องเทเลกซ์ตีพิมพ์ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ มีสำนักข่าวเอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี เป็นหลัก เมื่อมีข่าวสำคัญ เครื่องจะส่งสัญญาณเตือนเป็นเสียงคล้ายกระดิ่ง
แสงไทยผ่านมาตรงนั้นพอดี จึงหยิบกระดาษสาวข่าวจากต่างประเทศตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษอ่าน ปรากฏเป็นข่าว เหมา เจ๋อ ตุง ถึงแก่อนิจกรรม บรรณาธิการข่าวหน้าหนึ่ง ให้รีบแปลข่าวเหมา จัดแจงเปลี่ยนพาดหัวข่าว แล้วนำข่าวเหมาเสียชีวิตสอดแทรกเข้าไปในเนื้อข่าว
แม้จะต้องเสียเวลาไปอีกสักครึ่งชั่วโมงในการเปลี่ยนข่าว แต่ทำให้ “ประชาชาติ” มีข่าวเดี่ยว “เหมาตาย” ขึ้นเป็นพาดหัวข่าววันนั้น ผู้อ่านกรอบบ่ายในกรุงเทพฯ ได้อ่านก่อนฟังข่าววิทยุ และจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น
สร้างความเชื่อถึอว่า “ประชาชาติ” ข่าวเดี่ยว ข่าวเร็ว ขายดีอีกวันหนึ่ง