วิรัตน์ แสงทองคำ/ธนาคารใหญ่ เป็นเช่นใด

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.com

ธนาคารใหญ่ เป็นเช่นใด

 

เวลากล่าวถึงธนาคารไทยพาณิชย์ มักจะเทียบเคียงกับธนาคารกสิกรไทย และอาจจะเลยไปถึงธนาคารกรุงเทพด้วย ในฐานะธนาคารใหญ่ๆ ในสังคมไทย

แม้ว่าที่มาของธนาคารแตกต่างกัน แห่งหนึ่งก่อตั้งมานานกว่ามาก ขณะที่อีกสองแห่งร่องรอยธุรกิจครอบครัวปรากฏอยู่ในนั้น แห่งหนึ่งยังคงอยู่ ส่วนอีกแห่งเพิ่งเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ธนาคารสามแห่งมีเส้นทางบรรจบกันมากขึ้น เมื่อผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มาระยะหนึ่ง หากว่าให้กระชับขึ้นก็สักทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ด้วยทั้งธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์มีผลประกอบการเบียดกัน เพื่อก้าวขึ้นเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของไทยรายใหม่ ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเคยเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีขนาดใหญ่ทิ้งห่างคู่แข่งในไทย กลับถดถอย ลดอันดับลงอย่างน่าใจหาย

ที่สำคัญทั้งสองธนาคารที่ว่าข้างต้นแสดงบทบาทผู้นำธุรกิจในสังคมไทย ด้วยแผนการปรับตัว ปรับโครงสร้าง อย่างคึกคัก ขณะธนาคารอีกแห่งดูเฉื่อยเนือยไปบ้าง

 

เอาระยะใกล้ๆ ว่าด้วยการเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินซึ่งกำลังเป็นกระแสคึกคักระดับโลก

ธนาคารกสิกรไทยเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี 2559-(ปลายเมษายน) เปิดตัวบริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group : KBTG) “วันนี้เราพยายามเดินไปในทิศทางที่เป็นอนาคต โลกของการเงิน อนาคตของวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อคิดหาอะไรที่วันนี้ยังไม่เกิด หาให้ได้ก่อนที่จะอุ้ยอ้ายเกินไปและทำงานไม่ได้” บัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำธนาคารกสิกรไทยในขณะนั้นกล่าวไว้ในงานเปิดตัวครั้งนั้น

ไม่กี่เดือนจากนั้น (กรกฎาคม 2559) ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงข่าวเปิดตัวบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures หรือ DV) ด้วยถ้อยแถลงทิศทางเดียวกัน “ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มความพร้อมด้วยการลงทุนในบริษัท startup ระดับโลก”

ว่าแล้วก็มาถึงแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจที่ฮือฮา กรณีธนาคารไทยาณิชย์แถลง “นำกลยุทธ์ Going Upside Down” หรือ “กลับหัวตีลังกา” มาใช้เมื่อต้นปี 2561 (มกราคม) ตามมาด้วยประกาศแต่งตั้ง 4 ผู้จัดการใหญ่เป็นครั้งแรก (กุมภาพันธ์ 2562) อันที่จริงกรณีหลังนี้ เป็นไปตามโมเดลเดียวกับธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีการแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่หลายคนมาก่อนหน้าราวๆ 5-6 ปีแล้ว

ธนาคารกสิกรไทยมีเรื่องราวฮือฮาอย่างมาก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 เมื่อบัณฑูร ล่ำซำ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการธนาคาร (มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563) ตามมาด้วยถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ บางตอนตั้งใจเน้น “คณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยประกาศแต่งตั้งนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงคนแรกของธนาคาร และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ตระกูลล่ำซำ…”

บัณฑูร ล่ำซำ ถือว่าเป็นนายธนาคารผู้เชี่ยวกรำและมีชื่อเสียง อยู่ในตำแหน่งบริหารเกือบ 3 ทศวรรษ นานกว่าใครๆ ในตระกูลล่ำซำ ซึ่งเป็นตระกูลธุรกิจสืบเนื่องบริหารธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ก่อตั้งเกือบ 8 ทศวรรษ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ค่อนข้างกะทันหันนั้น อาจสะท้อนถึงความมั่นใจในโครงสร้างและทีมบริหารธนาคารกสิกรไทย ซึ่ง 1 ปีผ่านไป ดูเป็นไปเช่นนั้น เมื่อพิจารณาผลประกอบการล่าสุด (ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน)

ส่วนธนาคารกรุงเทพมีตระกูลโสภณพนิช ดำรงตำแหน่งบริหารยาวนานที่สุด และยังคงมีบทบาทจนถึงขณะนี้ แม้ว่าจะมีบางช่วงบางตอนมีมืออาชีพบริหารขัดจังหวะบ้าง

 

มาถึงเรื่องใหญ่แวดวงธนาคารอีกครั้ง เกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ กับแผน “ยานแม่ใหม่” (22 กันยายน 2564) ส่งผลราคาหุ้น SCB พุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของ SCB เพิ่มขึ้นทันทีเป็นกว่า 4 แสนล้านบาท จากเกือบๆ 3 แสนล้านบาท (เมื่อสิ้นปี 2563)

ก่อนหน้านั้น 1 วันมีข่าวสำคัญซึ่งดูเงียบๆ เกี่ยวกับธนาคารกสิกรไทย “กสิกรไทยคว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศไทยปี 2564 จาก Asiamoney” (21 กันยายน 2564)

“โดยพิจารณาคัดเลือกจากความแข็งแกร่งของธุรกิจและผลการดำเนินงานที่เติบโตโดดเด่นในทุกมิติ ความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด-19 นำพาองค์กร พนักงาน และสนับสนุนช่วยเหลือลูกค้าในช่วงเวลาที่ยากลำบากให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”

อันที่จริงเป็นวันเดียวกับมีดีลสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ ดูเหมือนสื่อระดับโลกให้ความสนใจไม่น้อยกว่า “ยานแม่ใหม่”

 

ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือกับเอไอเอส ร่วมทุนจัดตั้ง AISCB เพื่อ “ให้บริการด้านการเงินดิจิตอล” ทั้งนี้เน้นว่า “ครั้งแรกในไทยที่ผู้นำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ Telco และธนาคาร ร่วมทุนกันเพื่อให้บริการทางการเงิน” ทั้งนี้ เชื่อมโยงกับกรณีเอไอเอส ในฐานะผู้นำบริการสื่อสารไร้สาย “มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 43.2 ล้านเลขหมาย (ณ มิถุนายน 2564)

อย่างไรก็ดี สื่อต่างชาติให้ความสนใจเปรียบเทียบกับกรณีธนาคารกสิกรไทยซึ่งเปิดบริการเมื่อปลายปี 2562 ในนาม KASIKORN LINE

“บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KASIKORNVISION Co., Ltd.) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของธนาคารกสิกรไทย และบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย (LINE Financial Asia) เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิตอล…เป้าหมายคือ ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม LINE จำนวน 44 ล้านคนในประเทศไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันทางการเงิน หรือกลุ่มคุ้นเคยกับการใช้สมาร์ตโฟนและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนโลกดิจิตอล…” ว่าอย่างนั้น

ปรากฏการณ์สองธนาคารข้างต้น กับความเคลื่อนไหวอันคึกคัก เหมือนช่วงชิงพื้นที่ในสื่อต่างๆ อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องมากกว่ากรณีธนาคารอื่นใด ด้วยเชื่อในความเชื่อมโยงกับแนวโน้มใหม่ กับ “ลูกค้า” กลุ่มใหญ่ข้างต้นในสังคมไทย

ส่วนธนาคารที่สาม ดูเงียบๆ จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างน่าติดตามอีกแบบเช่นกันก็ย่อมได้ ควรจะนำเสนอในโอกาสต่อไป