วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (14)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การดิ้นรนของเสนามาตย์ (ต่อ)

ข้างฝ่ายหลิวเป้ยเมื่อถูกหลี่ว์ปู้ยึดอำนาจแล้ว ก็บ่ายหน้าไปเข้าด้วยกับเฉาเชา และได้รับการต้อนรับจากเฉาเชาเป็นอย่างดี เพราะจนถึงตอนนี้ทั้งสองต่างมีศัตรูร่วมกันคือหลี่ว์ปู้ จากนั้นทั้งสองจึงรวมกำลังกันเข้าโจมตีหลี่ว์ปู้ที่สีว์โจว

ผลคือ ทหารของหลี่ว์ปู้ได้ทิ้งหลี่ว์ปู้หนีไป ส่วนการช่วยเหลือของหยวนซู่ก็ไม่มีมาถึง จนในที่สุดชะตากรรมของหลี่ว์ปู้ก็มาถึงเมื่อลูกน้องสองคนของเขาจัดการประหารตัวเขาโดยคำสั่งของเฉาเชา

จะเห็นได้ว่า แม้หลี่ว์ปู้จะเป็นขุนศึกที่มากความสามารถก็จริง แต่เขาก็ใช้มันไปในทางที่ไม่สมควร นั่นคือ ใช้มันเป็นเครื่องต่อรองกับบุคคลต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเท่านั้น จนเมื่อเห็นว่าหมดประโยชน์ก็พร้อมที่จะทรยศหักหลังได้เสมอ จากนั้นก็บ่ายหน้าไปหาบุคคลอื่นต่อไปในลักษณะเดียวกัน

หลี่ว์ปู้จึงเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ และไม่แปลกที่ในนาทีสุดท้ายของชีวิตเขาจะถูกทอดทิ้งจากทหารในใต้บังคับบัญชา และยังถูกลูกน้องคนสนิทหักหลังสำเร็จโทษในที่สุด

 

สุดท้ายคือ หยวนซู่ โดยหลังจากมุ่งไปครอบครองพื้นที่ทางภาคใต้ใน ค.ศ.193 แล้ว เขาได้ตั้งเมืองขึ้นมาใหม่ซึ่งในปัจจุบันนี้คือมณฑลอานฮุย จากนั้นก็พยายามยึดพื้นที่ทางภาคเหนือของแม่น้ำฮว๋ายมาโดยตลอด

ตราบจน ค.ศ.197 หยวนซู่ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยมีราชวงศ์เป็นของตัวเอง การกระทำครั้งนี้ของเขานับเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของบรรดาขุนศึกในพื้นที่ต่างๆ อย่างมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาที่คิดจะตีจากเขาไป

จากเหตุนี้ เฉาเชาจึงได้ร่วมมือกับซุนเช่อ (ซุนเซ็ก) เข้าตีหยวนซู่อย่างทั่วด้านจนได้รับชัยชนะ ในขณะที่หยวนซู่ตายอย่างน่าอนาถ

หยวนซู่นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของขุนนางที่แม้มีกองกำลังไม่น้อยและมากอิทธิพล แต่ก็ใช้สิ่งที่ตนมีได้ไม่ดีหรือไม่เป็น ทั้งนี้ เราเห็นได้จากกรณีที่ไม่ยอมส่งเสบียงให้ซุนเจียนในขณะที่เป็นฝ่ายรุกต่งจว๋อ จนทำให้ซุนเจียนถอยทัพไม่สามารถเอาชนะต่งจว๋อได้ ครั้นสนับสนุนหลี่ว์ปู้ให้ยึดสีว์โจวได้แล้วก็ไม่สนับสนุนให้ถึงที่สุดจนหลี่ว์ปู้แพ้ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรสนับสนุนตั้งแต่แรก เพราะทำให้สูญเสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ

แต่ก็ด้วยพฤติกรรมที่หวาดระแวงว่าคนอื่นจะได้ดีกว่าตัวเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ซุนเช่อบุตรของซุนเจียนจะไปร่วมมือกับเฉาเชาเข้าตีเป็นเสมือนการเอาคืน หลังจากที่หยวนซู่เคยหยุดส่งเสบียงให้ซุนเจียนในคราวนั้น ทั้งๆ ที่ซุนเช่อเองก็ไม่ได้นิยมชมชอบเฉาเชาเลยด้วยซ้ำ

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งและต่างฝ่ายต่างดิ้นรนต่อสู้กันนั้น เฉาเชาได้ใช้ความสามารถทางการทหารของตนเข้าตีชิงพื้นที่ต่างๆ ได้สำเร็จไปทีละก้าว ซึ่งอาจประมวลให้เห็นภาพรวมได้ ดังนี้

เริ่มจาก ค.ศ.192 เข้าตีกองกำลังของกบฏโพกผ้าเหลือง

พอปี ค.ศ.193 ก็ขับไล่กองกำลังของหยวนซู่ให้พ้นจากทางใต้ของแม่น้ำฮว๋ายไปได้ แม้หยวนซู่จะแข็งขืนและตั้งตนเป็นจักรพรรดิ แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไปไม่รอด ค.ศ.194 เข้าโจมตีเถาเชียน แต่เถาเชียนเสียชีวิตเสียก่อน

ค.ศ.196 หลิวเป้ยไปเข้าด้วย และ ค.ศ.198 สามารถกำจัดหลี่ว์ปู้ได้สำเร็จ

ชัยชนะเหนือกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ ในครั้งนี้ทำให้เฉาเชาสามารถควบคุมพื้นที่ทางตอนใต้ของที่ราบภาคเหนือเอาไว้ได้ เขตอำนาจของเฉาเชาจึงเพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้จะยังมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ต่อต้านเขาอยู่อีกไม่น้อยก็ตาม

 

กลุ่มอำนาจนี้ประกอบด้วยกงซุนตู้ (มรณะ ค.ศ.204) ผู้ครอบครองพื้นที่ทางตอนใต้ของแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน เขาเคยขึ้นต่อต่งจว๋อมาก่อน ครั้นต่งจว๋อตายไป กงซุนตู้ก็ตั้งตนเป็นอิสระโดยครอบครองพื้นที่ดังกล่าวต่อไปจนเสียชีวิต กงซุนคังบุตรชายของเขาก็สืบอำนาจต่อ

ส่วนชายแดนทางภาคเหนือนั้น นับแต่ที่ราชสำนักสูญเสียการควบคุมไปแล้ว ก็เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างชนชาติซย์งหนีว์ (1) กับชนชาติเซียนเปย ในขณะที่เหลียงโจว (มณฑลเหลียง) ก็มีกบฏเกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.184

นอกจากนี้ อี้โจว (มณฑลอี้) ที่อยู่ทางตะวันตกที่ถูกครอบครองโดยหลิวเอียนมาตั้งแต่ ค.ศ.188 นั้น พอถึง ค.ศ.194 บุตรชายของเขาคือ หลิวจาง ก็สืบทอดอำนาจต่อ ส่วนทางเหนือขึ้นไปจากเขตแดนของหลิวจางก็อยู่ในเขตอิทธิพลของจางหลู่ ผู้นำสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่ว ซึ่งยังคงปกครองภายใต้ระบอบเทวาธิปไตยตามความเชื่อของเขา ในขณะที่จิงโจว (มณฑลจิง) ก็ยังคงถูกปกครองโดยหลิวเปี่ยว (ค.ศ.142-208)

และดินแดนด้านใต้แม่น้ำหยางจื่อ (แยงซี) ก็อยู่ในการควบคุมของซุนฉวน (ซุนกวน) บุตรชายของซุนเจียนและน้องชายของซุนเช่อ

 

สถานการณ์ตามที่สรุปมานี้ทำให้เห็นว่า แม้เฉาเชาจะมีกำลังที่กล้าแข็งขึ้นมาก แต่การที่ยังมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองใหญ่น้อยตั้งตนเป็นอิสระ ซ้ำบางกลุ่ม อย่างเช่น หยวนเส้า ก็ยังมีกองกำลังที่เข้มแข็ง การจะรวมบ้านเมืองจีนให้เป็นเอกภาพจึงมิใช่เรื่องง่ายสำหรับเฉาเชา

ทั้งนี้ ยังมินับกลุ่มอำนาจบางกลุ่มที่ก็มีความคิดเช่นเดียวกับเฉาเชาอีกด้วย เพียงแต่อาจมีความมุ่งมั่นน้อยกว่าเท่านั้น

ส่วนเฉาเชาที่มีความมุ่งมั่นมากกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถควบคุมฮั่นเสี้ยนตี้เอาไว้ได้ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง และเพราะเหตุที่มีความมุ่งมั่นมากกว่า เฉาเชาจึงยังคงมีบทบาทในฐานะเป็นผู้กระทำมากกว่ากลุ่มอำนาจอื่น

อย่างไรก็ตาม ตราบจนถึง ค.ศ.200 ดินแดนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่สำคัญก็มีภาพชัดขึ้น โดยหยวนเส้าซึ่งทรงอิทธิพลสูงสุดครอบครองพื้นที่ที่เป็นมณฑลสำคัญสี่มณฑลคือ จี้โจว ชิงโจว โยวโจว และปิ้งโจว ส่วนเฉาเชาซึ่งมีอิทธิพลรองจากหยวนเส้าครอบครองสองมณฑลสำคัญคือ อี้ว์โจวและเอี่ยนโจว

เหตุดังนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่มีมากกว่า เฉาเชาซึ่งเป็นฝ่ายกระทำมากกว่ากลุ่มอื่นจึงย่อมไม่ลดละที่จะรวมจีนเป็นเอกภาพให้ได้ ถึงแม้เจตนารมณ์ในการรวมจีนเป็นเอกภาพของเขาจะไม่น่าไว้วางใจมากนักก็ตาม

 

ยุทธการในยุทธภูมิ

ท่ามกลางการช่วงชิงการนำที่ไม่ผ่อนคลายเบาบางลงแม้แต่น้อย กลุ่มอำนาจต่างๆ หากไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เผชิญหน้าต่อกันก็จะหันมาทำศึกกัน

ซึ่งโดยภาพรวมแล้วก็ยังคงกล่าวได้ว่าบ้านเมืองจีนยังมิได้สงบลงแต่อย่างไร

แต่ภาพรวมนี้ก็แฝงไว้ด้วยภาพของบางกลุ่มอำนาจที่มุ่งให้ตนได้เป็นหนึ่งในแผ่นดิน

ดังนั้น การศึกที่มีอยู่ในเวลานั้นจึงนอกจากจะมีศึกเล็กศึกน้อยที่เป็นมานานหลายปีแล้ว ศึกที่ใหญ่หลวงก็มิได้เกิดขึ้นมากนัก ตราบจนสถานการณ์บีบรัดมาถึงจุดที่เหลือกลุ่มอำนาจที่ทรงอิทธิพลไม่กี่กลุ่มแล้วนั้น การศึกขนาดใหญ่จึงได้ส่งสัญญาณให้รู้ว่าอีกไม่นานมันจะต้องเกิดขึ้น

ในฐานะกลุ่มอำนาจที่ค่อยๆ ทรงอิทธิพลมากขึ้นประกอบกับความมุ่งมั่นที่มีอยู่ หลังจากที่เข้าตีชิงเมืองใหญ่น้อยต่างๆ ทางภาคเหนือได้จนมีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว เฉาเชาจึงคิดอ่านที่จะแย่งชิงพื้นที่ในเขตอิทธิพลของหยวนเส้าขึ้นมา

เวลานั้นหยวนเส้าเองก็ตระหนักดีว่า อำนาจของเฉาเชากำลังเพิ่มพูนขึ้น หากไม่รีบกำจัดเสียแต่ในขณะที่ตนยังมีความได้เปรียบอยู่ การณ์อาจจะสายเกินแก้

เหตุดังนั้น หลังจากที่เฉาเชาประสบความสำเร็จในการตีชิงเมืองใหญ่น้อยมาไว้ในมือประมาณหนึ่งแล้ว หยวนเส้าจึงเริ่มเตรียมการบุกเข้าตีกองกำลังของเฉาเชา

และจุดที่หยวนเส้าคิดเข้าตีก็คือ เมืองสี่ว์ (อำเภอสี่ว์) อันเป็นที่ประทับของฮั่นเสี้ยนตี้ ที่ขณะนั้นกำลังตกเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของเฉาเชา

ค.ศ.200 หยวนเส้าจึงเคลื่อนทัพหมายจะเข้าตีเมืองสี่ว์ ฝ่ายเฉาเชาเมื่อแจ้งข่าวการศึกจึงเคลื่อนทัพไปยังเมืองหลีหยาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอสวิ่นในมณฑลเหอหนาน โดยแบ่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกวานตู้ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองจงมู่ในเหอหนานเช่นกัน

ทัพของสองฝ่ายตั้งเผชิญหน้ากันด้วยกำลังที่ต่างกันจนเทียบกันไม่ได้ กล่าวคือ ทัพของหยวนเส้ามีกำลังพล 100,000 นาย ม้าศึก 10,000 ตัว ในขณะที่ทัพของเฉาเชามีกำลังพลประมาณ 20,000 นาย อีกทั้งยังขัดสนเสบียงและหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าศึกอีกด้วย

จากเหตุนี้ หากทัพของเฉาเชาจะชนะก็จะชนะก็แต่เพียงทางเดียวคือ ต้องมีแผนศึกที่เหนือกว่าเท่านั้น

——————————————————————
(1) คำว่า ซย์ง ในพยางค์แรกของตำว่า ซย์งหนีว์ นี้ตัวโรมันเขียนเป็น Xiongnu การออกเสียงที่ใกล้เคียงที่สุดคือให้ออกว่า ซีโอง เร็วๆ การอ่านออกเสียงให้ใกล้เคียงเช่นนี้จึงค่อนข้างยากสำหรับคนไทย และเมื่อเขียนเป็นอักขระจึงเขียนดังที่ปรากฏอยู่ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจยาก จึงได้ชี้แจงมา ณ ที่นี้