วาง “ความดี” ลงบ้าง : คำ ผกา

คำ ผกา

มีข่าวเล็กๆ ที่เราจะสนใจก็ได้ ไม่สนใจก็ได้ นั่นคือข่าวที่คนชื่นชมเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งซึ่งถอนสายบัวขอบคุณรถที่จอดให้เธอข้ามถนน

ถ้าสวมวิญญาณมนุษย์ในทุ่งลาเวนเดอร์โลกสวยก็อาจจะเห็นดีตามว่า แหม แม่หนูน้อย ช่างน่ารักจริงๆ เชียว การตระหนักใน “น้ำใจ” เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้อื่นมีให้เราเป็นสิ่งหายากขาดแคลนยิ่งในโลกปัจจุบัน

ฟังดูดีเนอะ และในหลักการเขียน ประโยคข้างต้นก็สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

แต่หากมีใครสักคนเกิดมาถามว่า _ รู้ได้ไงว่าโลกสมัยก่อนคนมีความตระหนักในน้ำใจของผู้อื่นน้อยกว่าปัจจุบัน?

ถามแบบนี้ปุ๊บ ประโยคข้างบนที่ฉันเขียนนั้นก็ผิดในเชิงตรรกะทันที (แต่อะไรที่ผิดในทางตรรกะนี่แหละ มัน make sense ดีนักเชียว)

ทีนี้พอเดินออกมาจากทุ่งลาเวนเดอร์ สิ่งที่เราต้องมีคำถามคือ

หนึ่ง) เด็กคนนั้นข้ามถนนที่ทางม้าลายหรือไม่?

เพราะหากเธอข้ามบนทางม้าลาย รถต้องหยุดให้เธอข้ามตามกฎหมาย การไม่หยุดต่างหากที่แปลกประหลาด และเธอไม่จำเป็นต้องขอบคุณหรือไหว้หรืออะไรเลย เพราะหากใช้มาตรฐานนี้ว่าคือความดี ความอ่อนน้อม ความน่ารัก มันจะอันตรายต่อการจราจรในประเทศไทยมาก

ลองนึกภาพดูว่าถ้ามีคนหยุดถอนสายบัวกันทุกครั้งที่มีรถจอดให้ข้าม รถคงชนกันโครมครามน่าดู

สอง) ถ้าเด็กคนนั้นข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางข้าม เธออาจเป็นผู้ทำผิดกฎจราจรเสียเอง และหากมองจากบริบทของประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน การข้ามถนน ณ จุดที่ไม่ใช่ทางข้าม เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด ไม่มีใครทำ และหากมีคนทำ ก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายหนักมาก และไม่น่าจะมีรถคันไหนยอมหยุดให้ข้ามด้วย มิหนำซ้ำยังจะถูกบีบแตรด่ากันขรม

สาม) หากคิดว่าสองข้อข้างต้นเป็นวิธีคิด วิถีปฏิบัติแบบประเทศโลกที่หนึ่งที่กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่แบบประเทศไทยที่ใช้ “หัวใจ” นำหน้ากฎหมาย (แถวบ้านเรียกว่าตามอำเภอใจ) ก็ชวนให้นึกถึงวิถีแบบเวียดนามคือ รถก็แล่น คนก็ข้าม ไหลไปมาไม่มีใครหยุดให้ใคร ไม่มีใครชนใคร

และแน่นอน หากจะตามอำเภอใจกันให้ถึงที่สุดก็คือ ไหลไปมาหากันอย่างนั้น ไม่ต้องหยุดขอบคุณใคร

มองจากแง่มุมของเหตุผลไปทั้งสามมุมแล้ว ก็ต้องเห็นพ้องต้องกันกับฉันว่า เออ…เด็กไหว้ ถอนสายบัวขอบคุณว่าแปลกแล้วก็ยังไม่แปลกเท่ากับกระแสชื่นชม ยกย่อง แทบจะมอบรางวัลให้ จากมวลหมู่ชาวไทยจำนวนหนึ่ง และการพาดหัวข่าวก็โมเมไปเรียบร้อยแล้วกระแสสังคมชื่นชมเด็กหญิง บลา บลา – อันทำให้มนุษย์อย่างฉันก็ขมวดคิ้วว่า – เฮ้ย ก่อนมึงเขียนคำว่ากระแสสังคมเนี่ยะ มึงถามกู หรือถามใครๆ บ้างแล้วหรือยัง

และเอาเข้าจริงๆ ธรรมชาติการเขียนข่าวของสื่อ พอเห็นอะไรมียอดไลก์ยอดแชร์สักหมื่นก็พร้อมจะเรียกว่า กระแสสังคมกระแสโซเชี่ยลขึ้นมาทันที

แต่เรื่องแบบนี้ บางทีก็เหมือนไก่กับไข่ ที่ท้ายที่สุดเราก็ไม่แน่ใจว่าอะไรเกิดก่อนกัน

พอสื่อบอกว่า สิ่งนี้เป็นกระแสสังคม สังคมก็พากันกระจายเรื่องนี้ต่อๆ ไป เพราะกลัวตกกระแส สุดท้ายไอ้ที่โมเมว่าเป็นกระแสสังคม ก็จะกลายเป็นกระแสสังคมของจริงขึ้นมาทันที

พูดให้เป็นวิชาการหน่อยก็จะบอกว่า สื่อมีส่วนในการมอบลมหายใจให้วาทกรรมหลักในสังคมทำงานอย่างต่อเนื่อง

จนดูเหมือนว่า วาทกรรมนั้นคือ “ความจริง”

แต่สื่อสร้างวาทกรรมจากความว่างเปล่าไม่ได้ สื่อนั้นฉลาดพอที่จะรู้ว่าสังคมนั้นมีหัวเชื้อทางอุดมการณ์ หรือมีความคาดหวัง มีความฝัน มีอุดมคติชุดไหนเป็นหลักอยู่แล้ว สื่อถึงเลือกไฮไลต์ประเด็นหรือเหตุการณ์มาพาดหัวว่า “กระแสสังคมแห่ชื่นชมยกย่อง” ขึ้นมาให้สังคมซื้อไปขยายต่อให้กลายเป็นค่านิยมที่แข็งแรงขึ้นมาจริงๆ

เช่น สื่อรู้ว่าคนไทยลึกๆ มีปมด้อยว่าเราเป็นประเทศเล็กๆ ที่โลกเขาโนสนโนแคร์ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่สื่อพาดหัวว่า

“ดีไซเนอร์ไทยเจ๋งจนนิตยสารโว้กเขียนถึง”

“นักเทนนิสสาวไทยมือวางอันดับห้าร้อยคว้าชัยเหนือมือวางอันดับสี่ของโลกอย่างงดงาม”

“เด็กไทยอัจฉริยะนาซ่าจองตัวทำงาน”

“มหาวิทยาลัยไทยติดหนึ่งในห้ามหาวิทลัยสีเขียวขอโลก”

“คนไทยเก่งในซิลิคอนวัลลีย์”

ฯลฯ

พาดหัวแบบนี้ พาดไปเถอะ คนไทยซื้อ คนไทยชอบ เพราะมันไปตอบโจทย์ความหวัง ความฝันของคนไทยว่า – เมื่อไหร่หนอ โลกจะเห็นตัวตนของเราบ้าง

รู้ทั้งรู้ว่า การมีคนไทยเก่งหนึ่งคน หรือนางสาวไทยเป็นนางงามจักรวาล หรืออย่างสาวไทยพูดภาษาอังกฤษเก่ง มันจะทำให้ประเทศได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ใครๆ อยากจะพูดถึงด้วยความทึ่ง

ตรงกันข้าม เมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ ระดับความเข้มแข็งของประชาธิปไตยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของพลเมืองดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง การกระจายรายได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกด้าน มีการกระจายอำนาจ การคอร์รัปชั่นลดลง ดัชนีเสรีภาพสื่อไต่อันดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้ทั่วโลกต้องหันมามองประเทศไทยด้วยความทึ่ง ด้วยความยกย่อง นับถือ

หรือหากเป็นความสำเร็จเชิงปัจเจกบุคคล ก็จะเป็นความสำเร็จที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตของ “ผู้คน” เช่น การออกแบบสนามฟุตบอลที่ไม่เป็นสี่เหลี่ยมในชุมชนแออัด งานสถาปนิกชุมชน การสร้างชาวบ้านให้เป็นนักสืบโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงจนแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรง เช่น ไข้หวัดนกได้สำเร็จ ลุงขายไก่ย่างพลังงานแสงอาทิตย์

เหล่านี้ต่างหากที่โลกเขาทึ่ง

แต่การเป็นประเทศยากจน แต่มีนักเปียโนระดับโลก อย่างมากเขาก็ทึ่งว่า เออ คนนี้เก่ง มีพรสวรรค์ คือชื่นชม “คน” แต่ไม่ได้ชื่นชมประเทศไทย

แต่ก็นั่นแหละ ในเมืองเราไม่สำเร็จอะไรสักอย่างในแง่การพัฒนาประเทศ สังคม คุณภาพชีวิตพลเมือง เราเลยโมเม เอาความสำเร็จเชิงบุคคลของคนไทยคนนั้นคนนี้มาเป็นความสำเร็จของเราไปด้วย

พอมีคนไทยเป็นโปรกอล์ฟระดับโลกก็เอาเชียว – คนไทยเก่ง – เดี๋ยว ไม่ใช่คนไทยเก่งค่ะ นางสาว ก ไก่ ข ไข่ ต่างหากที่เก่ง แต่ถ้ามีข่าวคนไทยไปเอะอะมะเทิ่ง ทำอะไรน่าอายที่ต่างประเทศก็เอาเชียว – อย่าเหมารวมนะ คนไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกคน

นี่คือสิ่งที่สื่อ และนักโฆษณา (ชวนเชื่อ) ทั้งหลายรู้ และจับมา “ขาย” พาดหัวข่าว เขียนข่าวแบบนี้ คนอ่านชอบ คนแชร์เยอะ เพราะมันช่วยเยียวยาปมในใจของคนในสังคมกลุ่มหลัก

ในทางกลับกัน เมื่อสื่อรายงาน “ข้อเท็จจริง” ที่เป็น “ปม” ของเราเช่นกัน เช่น เรื่องอาชญากรรมในเกาะเต่า เรื่องจำนวนโสเภณีในพัทยา เรื่องสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เรื่องการค้ามนุษย์ ฯลฯ สื่อจะโดนโจมตีทันทีว่า

“เรื่องดีๆ ในเมืองไทยมีตั้งเยอะ ไม่รู้จักเขียนถึง ไปเขียนแต่เรื่องแย่ๆ แบบนี้ภาพพจน์ของประเทศชาติก็พังพอดี”

วาทกรรมเรื่อง “ความดี” ที่ทำงานอยู่ในสังคมไทยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมีส่วนหล่อเลี้ยงตรรกะอันบิดเบี้ยวชุดนี้

การออกวิ่งข้ามจังหวัดเพื่อระดมทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลก็ถือเป็นความดี – ใช่ – แต่สื่อและสังคมพึงระวังและตั้งคำถามพร้อมกับตรวจสอบด้วยว่า เหตุใดงบประมาณของรัฐไม่พอเพียงต่อการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

การบริจาคเงินช่วยน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยพิบัติ เป็นเรื่องที่คนในชาติที่มีความเห็นอกเห็นใจกันยินดี และเต็มใจช่วยเหลือตามกำลังความสามารถอยู่แล้ว

แต่เราต้องมั่นใจว่า งบประมาณของรัฐ การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วย ความช่วยเหลือจากประชาชนด้วยกันเองเป็นเพียงส่วนเสริมพิเศษจากหน้าที่ที่รัฐต้องทำอย่างเต็มกำลัง

การเก็บของที่คนอื่นลืมแล้วนำส่งคืน ควรถูกประเมินว่าเป็น “ความรับผิดชอบ” ทางกฎหมายมากกว่าเป็น “ความดี” เชิงศีลธรรม

เพราะมิเช่นนั้น ความวางใจระหว่างคนในสังคมจะขึ้นอยู่กับระดับทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลที่ยากจะประเมิน และการรณรงค์ให้คนเป็น “คนดี” อย่างพร้อมเพรียงกัน มันเป็นเรื่องยากกว่าการใช้ระบบกำกับไม่ให้คนออกนอกลู่นอกทางหรือการที่คนเลือกจะไม่คดไม่โกงไม่เอาทรัพย์คนอื่นมาเป็นของตัว อาจจะเลือกด้วยเหตุผลที่ว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย – นั่นคือประเมินจากผลประโยชน์มากกว่าประเมินจาก “ความดี”

เช่น การลืมของไว้ในแท็กซี่ของแกร็บหรืออูเบอร์ มีโอกาสได้คืนมากกว่าแท็กซี่ปกติ ไม่ใช่เพราะแท็กซี่ปกติมีศีลธรรมต่ำกว่า แต่เป็นเพราะระบบที่ได้กำกับมิให้เกิดการสูญหายต่างหาก

เช่น หากเราลืมของไว้ในแท็กซี่ปกติ แท็กซี่อาจจะอยากเอาของมาคืนเรา แต่ไม่รู้ว่าจะตามหาเราได้ที่ไหน หรือรู้ว่ามาส่งเราที่บ้านหรือออฟฟิศ ถ้าแท็กซี่จำได้ แต่บ้านหรือออฟฟิศเราไกลเกินกว่าที่เขาจะเสียเวลาขับรถกลับมาเพื่อเอาของมาคืน

หรือหากมีการติดต่อ จส.ร้อย ติดต่อตำรวจ โรงพัก – เหล่านี้ขั้นตอนที่ทำให้เขาเสียเวลาทำมาหากิน มีต้นทุนที่ต้องจ่าย มีความยุ่งยาก ก็ยิ่งลดโอกาสที่เราจะได้ของคืน ยิ่งหากของนั้นไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ ยิ่งไม่ต้องหวัง

เช่น ฉันเคยลืมไข่พะโล้ไว้ในแท็กซี่ คงไม่มีแท็กซี่คนไหนใจดีพอจะขับรถกลับมาเพื่อคืนไข่พะโล้ของฉันแน่ๆ

แต่ตัวฉันแสนอาลัยในไข่พะโล้นั้น เพราะแม่เพื่อนตั้งใจทำมาก และนานปีถึงจะทำสักครั้ง – ความเสียใจและเสียดายในไข่พะโล้นี้ยังไม่เคยเลือนไปจากใจฉันเลย

ตรงกันข้าม การลืมของไว้ในแกร็บหรืออูเบอร์ ที่เราและคนขับมีข้อมูลของกันและกันอยู่ รวมทั้งมีข้อมูลที่ศูนย์ของบริษัท การติดตามของที่ลืมไว้ในรถจึงสะดวกต่อทั้งผู้โดยสารและคนขับ

ต่อให้ของที่ลืมเป็นแค่ไข่พะโล้ ฉันก็มั่นใจว่าฉันจะได้คืนหากมันไม่บูดเสียก่อน เช่น ฉันอาจจะบอกให้คนขับส่งพะโล้คืนด้วยวินมอเตอร์ไซค์แล้วฉันจ่ายค่าวินเอง

จะเห็นว่า ในกระบวนการนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ “ความดี” เลย แต่เกี่ยวกับระบบที่กำกับความปลอดภัย และท้ายที่สุดกำกับให้ทุกคนต้องเป็นคนดีและคนซื่อสัตย์โดยปริยาย เพราะคนขับแกร็บหรืออูเบอร์ หากขโมยของของลูกค้าไป เขาเสี่ยงที่จะตกงาน หากคำนวณแล้วไม่คุ้มกับการตกงานหรือถูกแจ้งความจับ เขาย่อมนำของส่งคืนเจ้าของ

ในกระบวนการตัดสินใจว่าเอาของลูกค้าไปหรือจะคืน จึงตั้งอยู่บนฐานของการคำนวนผลได้ผลเสียหรือผลประโยชน์ของตัวคนคนนั้น ไม่ได้ประเมินอยู่บนฐานของ “ศีลธรรม” ที่จับต้องได้ยาก มิหนำซ้ำ “วินัย” ที่ถูกกำกับด้วยระบบเช่นนี้ วันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นแรงจูงใจให้ประพฤติตนอยู่ในความสุจริตโดยไม่ต้องให้ใครมาเทศนาเรื่องความดี ความชั่ว

ภาวะ “คลั่งความดี” อย่างไม่มีที่มาที่ไปซึ่ง “สื่อ” มีส่วนตอกย้ำให้ความคลั่งนี้แน่นแฟ้นขึ้นมาอันตรายมาก

เช่น การลงข่าวซ้ำๆ เรื่องเด็กกตัญญู ดูแลปู่ย่าพิการ หรือเด็กกำพร้าอยู่คนเดียวแต่ตั้งใจเรียนน่าชื่นชม ฯลฯ

เหล่านี้ถือเป็นความบิดเบี้ยวในการทำงานของสื่อ เพราะเมื่อเรื่องราวแบบนี้ สื่อต้องตั้งคำถาม อะไรที่ทำให้เด็กต้องดิ้นรนทำมาหากินดูแลปู่ย่าที่พิการ และอยู่ในกระต๊อบสับปะรังเค

ชะตากรรมของผู้คนแบบนี้สะท้อนความล้มเหลวของรัฐอย่างไรบ้าง?

และเมื่อตั้งคำถามเช่นนี้ต้องพยายามหาคำตอบให้ถึงที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราพากันชื่นชมความกตัญญู

จากนั้นข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เพิ่งรู้เรื่องนี้จากสื่อ ก็ใส่ชุดสีกากี ชุดผ้าไหม เอากระเช้า เงินบริจาค ของขวัญ ปลากระป๋อง ชุดนักเรียน เครื่องเขียนต่างๆ นานามามอบเป็นรางวัลให้เด็กกตัญญู

เผลอๆ ผู้ว่าฯ ก็มา นายอำเภอก็มา มีการถ่ายรูปออกสื่อ คนเสพสื่อดีใจที่เด็กไทยมีความกตัญญู – จบข่าว

อีกครึ่งปีก็มีข่าวเด็กกตัญญูแบบเดียวกันนี้โผล่มาให้เราเห็นอีก

แทนการกรี๊ดกร๊าดเรื่องความกตัญญู เราต้องตั้งคำถามว่าการดูแลคุณภาพชีวิตพลเมืองของรัฐอันเป็นหน้าที่ของรัฐ มีปัญหา ในฐานะพลเมือง ทุกคนพึงได้รับการดูแลจากรัฐให้มีคุณภาพชีวิตในระดับพื้นฐาน คนป่วยไม่ว่าจะยากดีมีจนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เด็กต้องได้ไปโรงเรียน มีอาหารกิน

รัฐดูแลพลเมืองผู้ประสบปัญหาในชีวิตเหล่านี้อย่างไร? เป็นคำถามที่น่าสนใจกว่าเรื่อง “น้ำใจที่หลั่งไหลมา” หรือ “ความกตัญญู”

อาจจะมีคนเถียงว่า คนเหล่านี้ทำตัวเอง คนแก่ไม่รู้จักเก็บออม พ่อแม่เด็กไร้ความรับผิดชอบ หรือเราอาจจะบอกว่า คนเหล่านี้ขี้เกียจ ไม่รู้จักวางแผนชีวิต พ่อแม่เด็กเป็นสวะสังคม ติดยา เลี้ยงลูกไม่ได้ – ทำไมรัฐต้องไปดูแลคนที่ไม่รู้จักดูแลตัวเอง

เหตุผลเช่นนี้วนกลับไปที่วาทกรรม “ความดี” และ “คนดี” อีก

ในกรอบคิดของรัฐสมัยใหม่ รัฐซึ่งมีหน้าที่บริหารภาษีของประชาชน มีหน้าที่บริการพลเมืองทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะนี่คือรัฐสมัยใหม่ ไม่ใช่รัฐโบราณที่จักรวาลหมุนรอบนรกกับสวรรค์

ดังนั้น รัฐเลือกไม่ได้ว่า คนกินเหล้า ตับแข็ง ฉันไม่รักษา

คนนี้ติดยา ทำตัวเอง แก่ไปนอนข้างถนน ก็ดีแล้ว

คนนี้เป็นอาชญากร อยู่ในคุกทรมานๆ ก็ถูกต้องแล้ว

ไม่ใช่!

คนไทยต้องเดินออกมาจากความดี แล้วหันมาตามหาหลักนิติรัฐ นิติธรรมในกรอบคิดของรัฐสมัยใหม่ที่ไม่โคจรรอบวัดรอบโบสถ์ สวรรค์กับนรก แต่เชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และภายใต้การบริหารจัดการภาษีนั้น มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วต้องได้รับการดูแลและไม่มีใครพึงถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นใคร จะดีหรือจะเลว

วาง “ความดี” ลงบ้าง เพื่อมีพื้นที่สำหรับเหตุผลบนหลักการของสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในรัฐโมเดิร์น