ดู ‘บิ๊กตู่’โชว์สกิลแก้เกมวิกฤตน้ำมันแพง ปล่อยการเมืองรุมทึ้ง ระวังพัง!!/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ดู ‘บิ๊กตู่’โชว์สกิลแก้เกมวิกฤตน้ำมันแพง

ปล่อยการเมืองรุมทึ้ง ระวังพัง!!

 

วิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังไม่คลาย คนไทยจำนวนมากยังต้องวิ่งหาวัคซีนเข็มแรกกันอยู่ วิกฤตต่อมาคนไทยหลายจังหวัดเผชิญปัญหาน้ำท่วมมิดหัว แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าไม่หนักเท่าปี 2554 แต่หลายพื้นที่ปริมาณน้ำกลับมากกว่าปีมหาอุทกภัยซะงั้น

ล่าสุดค่าครองชีพกำลังพุ่งพรวดๆ จากอีกวิกฤต นั่นคือ ราคาน้ำมันแพง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงโควิดทุบโลก ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลายสำนักคาดว่ามีโอกาสพุ่งไปถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาขายปลีกหน้าปั๊มช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน หลายชนิดทะลุ 30 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะดีเซล บี7 ที่แม้ไม่ใช่น้ำมันฐานแล้ว แต่ปริมาณผู้ใช้สูงครึ่งต่อครึ่งจากยอดใช้ดีเซลทั้งระบบ กลายเป็นข้ออ้างหลักของธุรกิจในการปรับขึ้นราคาสินค้า ขึ้นค่าเดินทาง ขึ้นค่าขนส่ง ฯลฯ

ขณะที่การดูแลราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนทุกฝ่าย นอกจากจะเชื่องช้าแล้ว ยังปล่อยให้เกมการเมืองเข้ามาล้วงลูกจนน่าอึดอัดใจ

ที่ว่าช้า มาจากการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำมันในกระทรวงพลังงาน ที่มัวโยนงานกันไปมา ไม่มีข้อสรุป จนชาวบ้านเริ่มก่นด่า เฉพาะเดือนกันยายนราคาน้ำมันหน้าปั๊มขยับขึ้นถึง 6 ครั้ง

 

เผือกร้อนข้างต้นทำให้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดพิเศษ วันที่ 4 ตุลาคม เพื่อหาทางออก

ผลประชุม กบง.มีมติคงราคาดีเซล บี10 (น้ำมันพื้นฐาน) และบี7 ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาทเข้าดูแล พร้อมทั้งกำหนดค่าการตลาดดีเซลเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร จากปกติเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร

กบง.ยังมีมติปรับสูตรผสมไบโอดีเซล (บี100) ในน้ำมันดีเซล บี10 (ไบโอดีเซล 10%) และบี7 (ไบโอดีเซล 7%) เหลือบี6 (ไบโอดีเซล 6%) มีผลวันที่ 11-31 ตุลาคม เนื่องจากต้นทุนน้ำมันที่สูงนอกจากเนื้อน้ำมันดิบ อีกส่วนยังมาจากไบโอดีเซลที่แพงทะลุ 40 บาทต่อลิตร

ในการประชุมทราบว่า รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์เจอแรงกดดันจากผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐที่ดูแลปาล์มน้ำมันไม่ยอมให้ลดสัดส่วนไบโอดีเซล เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อฐานเสียงชาวสวนปาล์มภาคใต้ที่กำลังช่วงชิงจากพรรคเก่าแก่พรรคหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยอมให้ลดสัดส่วนเหลือ 6%

มติ กบง. แม้ผู้ใช้ดีเซลจะเริ่มเบาใจ แต่เกิดแรงกระเพื่อมหลากทิศ ทั้งจากผู้ใช้เบนซินที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาเช่นกัน

อีกกลุ่มมาจากเกษตรกรและธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ค้านส่วนผสมไบโอดีเซล 6% จัดม็อบเล็กๆ ไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล แม้จะอ้างความเดือดร้อน แต่อีกมุมเมื่อส่องราคาปาล์มน้ำมันปัจจุบันดีดขึ้นไปถึง 8-9 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ต่างจากอดีตล้นตลาด ราคาเฉลี่ย 3 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จนรัฐบาลเข้าช่วยเหลือด่วน ทั้งนำปาล์มดิบไปเผาผลิตไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น 10% หรือบี10

อีกกลุ่มคือผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ที่ไม่เห็นด้วยกับค่าการตลาดที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่แบกรับ ทั้งค่าแรง ค่าสต๊อกน้ำมัน ค่าบริหารจัดการ ค่าไฟ รวมทั้งค่าเซอร์วิสประชาชน

และอีกกลุ่มที่เสียงดังแต่ไกล คือกลุ่มรถบรรทุก เรียกร้องราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตร ต้องการให้รัฐลดภาษีสรรพสามิต สัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำรถบรรทุกออกมาขู่วิ่งบนถนนกว่า 1,000 คัน ล่าสุดขู่ฟ่อถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะเดินรถแค่ 40%

 

แรงกระเพื่อมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับนั่งไม่ติด เรียกประชุมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหาข้อยุติ

ในที่ประชุม หลายเสียงจากผู้ดูแลปาล์มน้ำมันยืนยันว่า สัดส่วนไบโอดีเซลต้องกลับไปเริ่มที่บี7 ขณะเดียวกันไม่รับข้อเสนอราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตร โดยแนวทางบริหารราคาน้ำมันให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแล ส่วนภาษีสรรพสามิตจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเป็นรายได้หลักของประเทศเวลานี้ มูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 60% จากภาษีสรรพสามิตทั้งระบบ การจะหารายได้อื่นมาโปะแทนยากแสนเข็ญ เพราะพิษโควิดทำให้การจัดเก็บรายได้หดหาย

คำสั่งการเมืองทำให้วันที่ 20 ตุลาคม กบง.จัดประชุมนัดพิเศษ มีมติยุติการลดสัดส่วนไบโอดีเซล กลับไปใช้สัดส่วนตามเดิม คือ บี7 บี10 และบี20 กำหนดราคาทั้ง 3 ชนิดไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป

พร้อมกำหนดส่วนต่างราคา 3 ชนิดใกล้เคียงกัน คือ บี7 แพงกว่าบี10 อยู่ที่ 15 สตางค์ และบี7 แพงกว่าบี20 อยู่ที่ 25 สตางค์ หวังดูแลทั้งผู้ใช้และผู้ปลูกปาล์ม นอกจากนี้ ยังคงค่าการตลาดดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

ทั้งหมดมีผลวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

 

นอกจากนี้ กบง.ยังเตรียมกู้เงินอีก 2 หมื่นล้านบาทตามกรอบ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าพยุงราคาน้ำมันช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันกองทุนเหลือเงินเพียง 9.2 พันล้านบาท เงินทั้งหมดเพียงพอดูแลน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 87.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตร

ที่น่าสนใจคือ เงินกู้ดังกล่าวจะต้องบรรจุในแผนการก่อหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยมียอดหนี้สาธารณะล่าสุด 9.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57.01% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และรัฐบาลได้ขยายถึง 70% แล้ว

หากสถานการณ์พลิกผัน ราคาโลกพุ่งทะลุ 100 เหรียญ แนวทางทั้งหมดไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตจะตามมาแน่นอน แต่กระทบรายได้ประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น หาก “บิ๊กตู่” กล้าลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลที่แพงหูฉี่ กดราคาเนื้อน้ำมันลง เพื่อบาลานซ์ทั้งผู้ใช้ ชาวสวนปาล์ม คงพลังงานสะอาด จะดีกว่าหรือไม่

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสกิลบริหารการเมืองของท่านจริงๆ!!