ก่อสร้างและที่ดิน/ นาย ต./มีแต่โอกาสของยักษ์ใหญ่

ก่อสร้างและที่ดิน/นาย ต.

มีแต่โอกาสของยักษ์ใหญ่

 

ตลาดอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้าน คอนโดฯ ยิ่งนับวันบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ยิ่งต้องหันมาทำโครงการเพื่อขายให้กับผู้มีรายได้สูงระดับราคา 10 ล้านบาท 20 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น

ดูจากผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ จะเห็นได้ชัดเจน บริษัทใดมีแบรนด์โครงการตลาดบนโดยเฉพาะแนวราบ ยอดขาย ยอดรายได้ และกำไร 2 ปีที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 มานี้ ไม่ได้ลดลงเลย

ตรงกันข้ามกับบริษัทอสังหาฯ ที่ทำโครงการขายคนชั้นกลางระดับราคา 2-4 ล้านบาท แม้จะเป็นตลาดใหญ่ แต่คนกลุ่มนี้มีหนี้สินครัวเรือนสูง ถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง แม้จะมีความต้องการ แต่ 30-50% กู้แบงก์ไม่ผ่านการอนุมัติ ซึ่งก็เท่ากับขายไม่ได้นั่นเอง

ต้องนำมาขายใหม่ ทุนจมไปกับค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง หมดไปกับค่าตลาด และยังต้องทำตลาดใหม่เพื่อขายอีกรอบสองรอบ

ไม่ใช่เพียงฝั่งของผู้ซื้อที่ตลาดบนกำลังซื้อดี มีโอกาสสูงกว่าตลาดกลางและตลาดล่าง

ในบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาฯ รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาฯ ปัจจุบันนี้ รายกลางรายเล็กดิ้นรนเพื่อเอาธุรกิจให้รอด ขณะที่รายใหญ่เลือก “ช้อปปิ้ง” อสังหาฯ ร้อนๆ ราคาไม่แพง

ยักษ์ใหญ่กับรายย่อย ข้อได้เปรียบเสียเปรียบนับวันยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาเงินทุน อัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนทางการเงินต่างกันลิบลิ่ว

มองกว้างออกไปยังธุรกิจอื่นๆ ในประเทศก็ไม่ต่างกัน

 

10 กว่าปีมานี้ ธุรกิจกลุ่มใหญ่ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายกิจการ จากการเทกโอเวอร์กิจการด้วยเงินกู้ถูกๆ จากระดับสถาบันการเงินในประเทศ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ต้องดิ้นรนหนีตายจากการเข้ามาครอบครองตลาดของยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ดิ้นรนหนีตายจากการ disruption ทางเทคโนโลยี

การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิตอลที่หลายประเทศในโลกเปิดทางให้เกิดเศรษฐีใหม่ แต่ในไทยดูจากกระบวนการ “แปลงร่าง” แตกย่อยธุรกิจเพื่อทรานส์ฟอร์มตัวเองของกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ การจับมือกันของยักษ์ใหญ่ต่างสาขาธุรกิจ ทำให้โอกาสใหม่ๆ เหล่านั้นตกเป็นของรายใหญ่ไปแทบทั้งหมด

แม้แต่การปลดล็อกกัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในประเทศ โอกาสก็ไม่ได้กระจายไปสู่มือคนส่วนใหญ่ กฎกติกาที่ออกมาควบคุมการปฏิบัติ ก็ชัดเจนว่า โอกาสเป็นของรายใหญ่และผู้มีอำนาจเท่านั้น

หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยอาจมีกลุ่มธุรกิจใหญ่ไม่กี่กลุ่มที่ครอบครองธุรกิจเกินครึ่ง เหมือนสมัยก่อนสงครามโลกที่ญี่ปุ่นมีกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่เรียกว่า “ไซบัตสึ” หรือในเกาหลีใต้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน เรียกว่า “แชโบล”

การเมืองที่ผูกขาดหรือเผด็จการ มักเกื้อหนุนให้เกิดโครงสร้างเศรษฐกิจแบบที่ว่านี้ ขณะเดียวกันโครงสร้างเศรษฐกิจแบบที่มีกลุ่มธุรกิจใหญ่ผูกขาดไม่กี่กลุ่มก็เสริมให้เกิดการเมืองแบบผูกขาดด้วยเช่นกัน เป็นของคู่กัน

ในญี่ปุ่น “ไซบัตสึ” ถูกสลายโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

ในเกาหลีใต้เผด็จการทหารคนสุดท้าย “ชุนดูฮวาน” ถูกประชาชนโค่นล้ม “แชโบล” ก็ถูกจำกัด

ประเทศเหล่านี้จึงเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อมา

เมื่อคนส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้น มีกำลังซื้อดีขึ้นเท่านั้น ประเทศโดยรวมจึงจะมั่งคั่งได้