เครื่องเคียงข้างจอ : ว้าวุ่น…วาย / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

ว้าวุ่น…วาย

 

“ว้าวุ่น…วาย” เป็นชื่อหนังสือครับ เป็นเรื่องสั้นชุดที่เป็นภาคต่อและภาคจบของเรื่องสั้นชุดว้าวุ่น ที่เขียนโดย ปินดา โพสยะ

เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น ถือกำเนิดขึ้นวางขายในร้านหนังสือเมื่อปี 2525 โดยรวมเอาแต่ละตอนของเรื่องสั้นชุดนี้ที่เขียนลงในนิตยสาร “เปรียว” มารวมเป็นเล่มให้แฟนนักอ่านได้อ่านกัน

ปินดา โพสยะ ได้นำเรื่องราวของเพื่อนๆ ที่ร่ำเรียนด้วยกันที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งเข้าเป็นนิสิตในปี 2521 มาเล่าเป็นตอนๆ โดยนำบุคลิกแปลกๆ และพฤติกรรมที่แผลงๆ พิลึกๆ ตามประสาเด็กสถาปัตย์มาเขียน บวกกับเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นมาแบบจับแพะชนแกะเพื่อให้เกิดอรรถรสชวนอ่าน

ตอนนั้นตัวละครแต่ละตัวเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “ก้อนขี้หมา” คือไม่ได้มีค่าชวนให้น่าสนใจอันใดเลย โดยตอนที่เขียนนั้นก็เขียนเอาสนุก ไม่ได้นึกว่าจะกลายเป็นเรื่องสั้นในนิตยสารที่มีคนติดตามอ่านมาก จนต้องรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นมา

พิมพ์ต่อเนื่องกันผ่านหลายสำนักพิมพ์ รวมทั้งสำนักพิมพ์มติชนนี่ก็ด้วย และพิมพ์มาจนครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 21 เมื่อปีที่แล้ว

หลายคนบอกว่าที่สอบเข้ามาเรียนที่คณะสถาปัตย์ เพราะได้อ่านหนังสือเรื่องสั้นชุดว้าวุ่นนี้ รู้สึกเป็นชีวิตที่สนุกมาก อยากได้รับบรรยากาศและประสบการณ์อย่างที่อ่านบ้าง

บางคนบอกว่านั่งอ่านบนรถเมล์ เผลอหัวเราะขำออกมาเสียงดังจนคนอื่นต้องมองว่าไอ้นี่บ้า

บางคนเล่าว่า เพื่อนยืมไปอ่าน แล้วไม่ยอมคืน เที่ยวหาซื้อมาเก็บไว้อ่านอีก ก็ถูกยืมแล้วหายไปอีก เสียดายมาก

จาก “ก้อนขี้หมา” ที่ว่า หลายคนเมื่อจบแล้ว ก็ได้เติบโตขึ้นมาทำงานในวงการบันเทิงและกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงเกิดเป็นความสนุกที่ผู้อ่านได้เดาว่า ตัวละครตัวไหนในหนังสือเป็นใครในชีวิตจริง เพราะผู้เขียนเขียนโดยใช้ชื่อปลอม

 

จากเรื่องสั้นชุดว้าวุ่นที่ว่านี้ มีแฟนๆ หนังสือถามมาตลอดว่า เมื่อไหร่จะมีภาคต่อ ด้วยอยากหัวเราะกับตัวละครที่พวกเขาติดใจ

ผู้เขียนเองก็เงื้อง่าว่าจะเขียนก็หลายหน จนเวลาล่วงเลยมา 40 ปี จึงได้ลงมือเขียนภาคต่อได้สำเร็จโดยไม่ได้ลงเป็นตอนๆ ที่ไหน หากรวมเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กให้อ่านกันในชื่อ “ว้าวุ่น…วาย”

ปินดาได้เขียนไว้ถึงที่มาของชื่อหนังสือนี้ว่า

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ว้าวุ่น…วาย” ก็เพราะแม้ผ่านมา 40 ปีแล้ว แต่ชีวิตและพฤติกรรมของเหล่าตัวละครในว้าวุ่นยังคง “วุ่นวาย” ไม่เบา แม้จะไม่ซน และโลดโผนเหมือนวัยหนุ่ม แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนก็ยังมีเรื่องให้น่าติดตามในหลากอารมณ์ทั้ง ขำขัน ยิ้มหัว ซาบซึ้ง ประทับใจ และเศร้าซึม ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านก็น่าจะอ่านได้อารมณ์ดังว่าด้วย

และที่เป็น “ว้าวุ่น…วาย” ก็เพราะตัวละครบางคนก็ได้วายชีวาไปแล้วตามธรรมชาติของชีวิตมนุษย์

รวมทั้ง “ว้าวุ่น…วาย” ก็เหมือนกับ “ตลาดวาย” ที่ทุกอย่างต้องมีการปิดตัวลง

“ว้าวุ่น…วาย” นี้จึงเป็นดั่งภาคจบ เป็นบทสุดท้ายของชาวว้าวุ่นที่จะถูกพูดถึงผ่านตัวอักษรอย่างเป็นทางการ

 

ชาวว้าวุ่นที่ว่านี้ที่ปรากฏในเรื่องสั้นชุดว้าวุ่นก็มี เอ๊ะ ที่หลับได้ในทุกที่ทุกเวลา นั่งรถเมล์หลับเลยป้าย จนต้องนั่งกลับ แต่ก็หลับจนเลยอีกอยู่ดี

จุ่น คนขี้ลืม ที่ใช้เวลากว่าจะออกจากห้องพักได้ก็หลายสิบนาที เพราะลืมไปแล้วว่าตัวเองลืมอะไร

หยวก ที่ดวงตาเสียหนึ่งข้าง และนั่นทำให้เมื่อเขาไปเกณฑ์ทหาร จึงถูกจับไปนั่งรวมกับ พส. คือ พระสงฆ์อย่างงงๆ ในชีวิต

หยอย หนุ่มขี้ประชด ประชดได้หมดทุกอย่าง แม้แต่พ่อตนเอง “พ่อๆ ขับรถเร็วหน่อยก็ได้ เห็นไหม เด็กขายพวงมาลัยเดินแซงแล้ว”

เท่ง ที่เก่งฉกาจในการเอาตัวรอดชนิดที่คุณจะนึกไม่ถึงเลยเชียว

หนุ่ย ผู้มีใบหน้าใหญ่ เพื่อนๆ ล้อจนเหมือนเป็นปมด้อยไปแบบถาวร

คิด คนปากคัน กับ เลิด คนปากหมา ผู้มีทักษะในการใช้วาจาเพื่อเชือดเฉือนคนให้รู้สึกเจ็บๆ คันๆ ไปพร้อมๆ กับรู้สึกงงๆ ในที

และตัวละครอื่นอีกมาก ที่มีตัวตนจริง มีนิสัยแปลกๆ จริง

เคยมีผู้ถามปินดาว่า ที่เขียนนี่เรื่องจริงทั้งหมดเลยรึเปล่า ปินดาตอบว่า “ทั้งจริงและไม่จริง แต่มีเรื่องจริงมากกว่าเรื่องไม่จริงอยู่โข”

อันเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พวกว้าวุ่นนี้เป็นประเภทแปลกแต่จริงโดยแท้

 

ในเรื่องสั้นชุด “ว้าวุ่น…วาย” นี้ ได้เล่าต่อจากเล่มแรกว่า แต่ละตัวละครเมื่อจบการศึกษากันแล้ว ได้ดำเนินชีวิตอย่างไร ใครทำอะไร ต้องผจญกับเรื่องใดบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือนิสัยดั้งเดิม หรือสันดานของพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนเลย

คิดดูว่าเมื่อนิสัยแปลกๆ นี้ ต้องไปทำงานร่วมกับผู้อื่นจะเป็นยังไง เมื่อมีความรักฝ่ายหญิงจะรับได้ไหม เมื่อเติบใหญ่เป็นเจ้านายที่มีลูกน้อง ลูกน้องจะคิดอย่างไร

ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องในสมัยที่พวกเขายังเรียนในรั้วจุฬาฯ ที่ยังไม่เคยเล่าในเล่มแรก มาให้หัวเราะเพิ่มเติมกันด้วย อย่างเช่นเรื่อง “การร่ำการเรียน”

“หยอย” เป็นอีกคนหนึ่งที่มีปัญหากับการเข้าเรียนชั้นนี้ เพราะเรียนตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง ซึ่งเช้ามากสำหรับเขา

หยอยมาสายเสมอ และอาจารย์ก็ถามเหตุผลที่มาสาย

“ผมต้องล้างมุ้งลวดครับ” หยอยตอบ พร้อมกับเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ ตามมา

“เธอล้างมุ้งลวดทุกวันเลยเหรอ” อาจารย์ถามกลับ

“เปล่าครับ ผมล้างเฉพาะวันจันทร์ที่ตรงกับชั่วโมงอาจารย์พอดีครับ” ต่อจากนั้นหากใครมาสายก็จะใช้เหตุผล “ล้างมุ้งลวด” ของหยอยเสมอ

หรือในตอนที่ชื่อ “ไลน์สีแดง” เขียนถึงเรื่องการสื่อสารของพวกว้าวุ่นไว้ว่า

สมัยก่อนยังไม่มีมือถือ การจะติดต่อถึงตัวกันอย่างเก่งคือโทร.ไปหาที่บ้าน ถ้าที่บ้านมีโทรศัพท์ด้วยนะ บางคนอาศัยหอพักก็จะติดต่อยากไปอีก

หนทางที่สะดวกคือ ใครมีอะไรอยากบอกกัน สื่อสารกัน ก็จะเขียนแปะไว้ตรงเสาสีแดงนี้ เมื่อใครมาถึงคณะ เหวี่ยงกระเป๋าลงบนโต๊ะแล้ว ก็จะเหลือบดูกระดาษบนเสาที่แปะไว้ว่ามีข้อความอะไรถึงตนไหม

“เอ๊ะ มาถึงแล้วรอก่อน กูไปซื้อของร้านตงเอียง เดี๋ยวมา ลงชื่อ อ้น”

“หยวก ฝากกีตาร์ไว้ในห้องกรรมการนิสิต ไปเอาเอง ลงชื่อ หยอย”

“ใครเห็นไม้ทีของจิ๋มบ้าง บอกด้วย” แล้วก็มีคนนึกสนุกพากันแปะข้อความต่อ

“ไม่เห็นไม้ทีของจิ๋มเลย เห็นแต่ไม้อย่างอื่นของจิ๋ม”

“ขอโทษที ไม่เห็น” ซึ่งไม่ต้องบอกก็ได้ ว่าไหม?

“ใครเห็นบอกจิ๋มที” อันนี้เหมือนจะช่วย แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไร

จะว่าไปก็เหมือนการสื่อสารทางไลน์สมัยนี้นะครับ คือ พอมีคนเริ่มเรื่องหนึ่งขึ้นมา ก็จะมีคนส่งข้อความต่อๆ กันไปตามความเห็นของตัวเอง

 

นี่เป็นออเดิร์ฟที่นำมาให้ชิมเล่นๆ หากอยากอ่านเรื่องเต็มๆ สนุกๆ ตอนนี้เปิดให้มีการสั่งซื้อล่วงหน้าได้ในราคาพิเศษ มีกำหนดถึง 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งมีให้สั่งได้ทั้งเล่มใหม่ คือ “เรื่องสั้นชุด ว้าวุ่น…วาย” และเล่มแรก “เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 21

หากใครเป็นคนรักเพื่อนรักฝูง ลองหามาอ่านกันดูนะครับ แล้วจะมีความสุขกับเรื่องราวที่ผู้อ่านอาจจะเคยเป็น หรือเคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ก็ยังอ่านเอาสนุกกับพวกขี้หมากลุ่มนี้ได้แน่นอน

สั่งซื้อหรือถามรายละเอียดได้ทาง line : @pinda

ถ้าสนใจอย่ารอช้านะครับ กับ “เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น…วาย” บทสุดท้ายของจักรวาลว้าวุ่น